ความเชื่อมั่นนักธุรกิจต่างชาติ ชี้เศรษฐกิจไทย“ยังแย่ลง”
เศรษฐกิจของไทยมีองค์ประกอบหนึ่งที่ไม่อาจมองข้ามคือการธุรกิจของนักลงทุนจากต่างประเทศ เกิดเป็นการรวมตัวกันของกลุ่มนักธุรกิจต่างชาติในนามของ“หอการค้าต่างประเทศประจำประเทศไทย”ซึ่งมีจานวนทั้งสิ้น 40 ประเทศ มีจำนวนสมาชิกรวม 8,470 สถานประกอบการ
ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า สถาบันยุทธศาสตร์การค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของหอการค้าต่างประเทศจำนวน 119 รายจำนวน 30 ประเทศ ระหว่างเดือนม.ค.ถึงก.พ. 2564 แบ่งเป็นทวีปยุโรป53.04 % เอเชีย 33.91% แอฟริกา 7.83 % /ทวีปออสเตรเลีย และหมู่เกาะแปซิฟิก 3.48 %และทวีปอเมริกาเหนือ 1.74 % พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นนักธุรกิจต่างประเทศ (FOREIGN BUSINESS CONFIDENCE INDEX :FBCI) ไตรมาส 4 ปี 2563 อยู่ที่ระดับ 29.8 ซึ่งต่ำกว่า 50 แสดงให้เห็นว่า ความเชื่อมั่นด้านเศรษฐกิจและธุรกิจยังอยู่ระดับต่ำทั้งเรื่องของภาวะเศรษฐกิจไทย กำลังซื้อในประเทศ การท่องเที่ยว ภาคอุตสาหกรรม การค้า บริการ ยังแย่ลง โดยเฉพาะการลงทุนในประเทศหรือ FDI แย่ลงถึงระดับ 83
โดยมองว่า สถานการณ์เศรษฐกิจไทยในอีก 6 เดือนข้างหน้าก็ยังไม่ดี แต่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นในไตรมาส 3 ซึ่งปัญหาที่ต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน คือ ปัญหาการว่างงานจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ส่งผลต่ออำนาจซื้อ การเข้าถึงแหล่งเงินทุน เสถียรภาพทางการเมือง ภาคธุรกิจท่องเที่ยวและการปิดประเทศทำให้นักท่องเที่ยวไม่สามารถเดินทางเข้ามาได้ กฎระเบียบที่ซับซ้อนในการดำเนินธุรกิจ
ขณะที่สถานการณ์ด้านธุรกิจนั้นทางหอการค้าต่างประเทศเห็นว่า รายได้รวมธุรกิจ ราคาสินค้า บริการ คำสั่งซื้อ ผลกำไรค่าใช้จ่าย สภาพคล่องของธุรกิจ การเข้าถึงแหล่งเงินทุน ภาระหนี้สินยังอยู่ในสภาพแย่ และสถานการณ์แบบนี้ยังคงนิ่งไม่เปลี่ยนแปลงไปอีก 6 เดือน ซึ่งสิ่งที่เป็นปัญหาทางธุรกิจที่สมาชิกหอการค้าต่างประเทศมองคือ กำลังซื้อที่หดตัว ทำให้ยอดขายชะลอตัวลงทั้งในและต่างประเทศ รายรับหดตัวต่อเนื่อง ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น การเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ยากขึ้นเป็นต้น
อย่างไรก็ตาม หอการค้าต่างประเทศต้องการให้รัฐบาลสนับสนุนและแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมไทย คือ มีมาตรากรช่วยเหลือด้านการเงินให้กับภาคธุรกิจและเอสเอ็มอีไทยโดยรวม รวมทั้งธุรกิจที่เป็นคู่ค้า มาตรการช่วยเหลือแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แก้ไขกฎระเบียบซับซ้อนในการเข้ามาลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ เปิดประเทศเพื่อดึงดูดนักลงทุนและนักท่องเที่ยว สร้างความเชื่อมั่นในเสถียรภาพการเมืองและการดำเนินการที่มีประสิทธิภาพ การพัฒนาวัคซีนเพื่อนำมาฉีดให้กับประชาชน หาแหล่งเงินดอกเบี้ยต่ำเพื่อธุรกิจไทยและต่างประเทศ การผ่อนปรนมาตรการโควิด-19 เพื่อการดำเนินกิจการที่คล่องตัวมากขึ้น เพิ่มกำลังซื้อให้กับประชาชน
“การสำรวจความคิดเห็นของสมาชิกหอการค้าต่างประเทศนี้อยู่ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอก 2 ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นของหอการค้าต่างประเทศลดลงถึงระดับแย่ ซึ่งคาดว่าหลังสถานการณ์คลี่คลายและควบคุมการแพร่ระบาดได้ และการมีวัคซีน จะทำให้ไตรมาส 2 เริ่มฟื้นแต่ก็ยังไม่ดีขึ้น จนถึงไตรมาส 3 แต่จะกลับดีขึ้นในไตรมาส 4 “
กลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของหอการค้าต่างประเทศเป็นการสำรวจครั้งแรกเพื่อให้นักลงทุนเกิดความมั่นใจและมีข้อมูลในการตัดสินใจเข้ามาลงทุน โดยจะมีการสำรวจทุกๆไตรมาส ซึ่งจะเห็นว่าผลสำรวจพบว่า นักธุรกิจต่างชาติเข้ามาลงทุนลดลง 15 % สอดคล้องกับตัวเลขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอที่ลดลงเช่นกัน สิ่งที่ที่รัฐบาลต้องทำคือการช่วยเหลือภาคการท่องเที่ยว การปรับกฎระเบียบที่ซับซ้อน
สแตนลี่ย์ คัง ประธานหอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย กล่าวว่า ผลสำรวจที่ออกมาว่านักลงทุนต่างประเทศมองว่าเศรษฐกิจไทยยังแย่ไปไตรมาส 2 เนื่องจากทำการผลสำรวจในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 รอบสองและยังไม่ความชัดเจนเรื่องของวัคซีน ทำให้เกิดความไม่มั่นใจ แต่เมื่อมีวัคซีนและเปิดประเทศ เชื่อว่านักลงทุนจะเข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น ในส่วนของการชุมนุมทางการเมืองนั้นเป็นเรื่องธรรมชาติ หลายประเทศก็มีการชุมนุม ซึ่งก็ขอให้ไม่รุนแรง ส่งผลกระทบต่อการลงทุน และขอให้ทุกฝ่ายใช้การเจรจาอย่างสงบรับฟังทุกฝ่ายเพื่อร่วมกันแก้ปัญหา