คนไทยป่วยโรคหลอดเลือดสมองสูง เสียชีวิตเกือบ 5 หมื่น
"รมว.สธ." ลุยพื้นที่ อ.พิมาย ปลื้มความร่วมมือรัฐ-สังคม-ประชาชน สร้างพฤติกรรมที่ดี ป้องกันโรค ลดพิการ เผยไทยมีผู้ป่วยหลอดเลือดสมองสูง เสียชีวิตเกือบ 5 หมื่น
วันที่ 10 มีนาคม 2564 ที่หอประชุมรัฐประชาสมาคาร โรงเรียนพิมายวิทยา อ.พิมาย จ.นครราชสีมา ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายศักดิ์สิทธิ์ สกุลลิขเรศสีมา รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เปิดการอบรมโครงการ “รู้เท่าทัน Stroke โรคหลอดเลือดสมอง”
พร้อมมอบนโยบายการดำเนินงานกระทรวงสาธารณสุข โดยมีผู้เข้าร่วมอบรม เป็นประชาชนทั่วไป และอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) จำนวนกว่า 200 คน จากนั้น จากนั้น ได้ลงพื้นที่เยี่ยมเสริมพลังบุคลากรทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน พร้อมมอบเครื่องเจาะน้ำตาลปลายนิ้วให้กับตัวแทนโรงเรียนเบาหวานวิทยา ที่วัดบ้านดงใหญ่
ดร.สาธิต กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันก่อนโรค โดยเฉพาะโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ซึ่งเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญ ทำให้เกิดความพิการและเสียชีวิตเพิ่มมากขึ้น เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง หรือโรคหลอดเลือดสมอง ส่งผลต่อสุขภาพและชีวิตของประชาชน
จากข้อมูลโดยกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พบว่าในปี2563 ประเทศไทยมีผู้ป่วยด้วยโรคหลอดเลือดสมอง จำนวน 800,749 รายและเสียชีวิตด้วยโรคนี้ จำนวนถึง 41,840 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 5.58 ในการดำเนินงานทุกอำเภอ จะมีคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ บูรณาการการทำงานหน่วยงานในพื้นที่ วิเคราะห์และดำเนินการแก้ไขปัญหา โดยใช้ทรัพยากรร่วมกันในระดับอำเภอ
สำหรับอำเภอพิมาย จ.นครราชสีมา คณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) ได้จัดลำดับโรคหลอดเลือดสมองให้เป็นโรคที่ต้องเร่งแก้ไข เนื่องจากพบแนวโน้มผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองที่เข้ารับการรักษาที่ห้องฉุกเฉินเพิ่มขึ้น จากในปี 2559 มีจำนวน 172 ราย เพิ่มเป็น 189 รายในปี 2563 ซึ่งโรคนี้มีความเกี่ยวข้องกับโรคเบาหวาน และโรคความดันโลหิตสูง จำเป็นต้องสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับประชาชน
โดยใช้กระบวนการ “โรงเรียนเบาหวานวิทยา” 21 แห่งที่กระจายอยู่ในพื้นที่ และร่วมมือกับภาคประชาสังคม จัดกิจกรรมอบรม “รู้เท่าทันโรคหลอดเลือดสมอง” เพื่อให้ชาวพิมาย มีพฤติกรรมสุขภาพที่ดี มีความเข้าใจในการป้องกันโรค ห่างไกลโรคหลอดเลือดสมอง และเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้ทันเวลาในกรณีที่เจ็บป่วยเพื่อป้องกันความพิการและเสียชีวิต โดยโรงพยาบาลพิมาย มีระบบการดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้อย่างต่อเนื่อง
ทั้งการให้ยาสลายลิ่มเลือด และการดูแลรักษาต่อเนื่อง โดยทีมสหวิชาชีพ การฟื้นฟู การทำกายภาพบำบัด จนผู้ป่วยอาการดีขึ้น กลับมาใช้ชีวิตในสังคมได้
“ขอให้ประชาชนหันมาดูแลส่งเสริมสุขภาพ ใช้หลัก3 อ. คือ ออกกำลังกาย อารมณ์ดี อาหารดี และหมั่นตรวจเช็คสุขภาพ เพื่อให้ห่างไกลโรคหลอดเลือดสมอง และโรคติดต่อเรื้อรัง” ดร.สาธิตกล่าว
ทั้งนี้ ผู้ป่วยในอำเภอพิมาย อันดับ 1-2 เป็นผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง มีผู้ป่วยความดันโลหิตสูงประมาณ 13,500 คน เพิ่มขึ้นปีละ 1,000 คน เบาหวาน 6,200 คน เพิ่มปีละ 500 คน เบาหวานมีความรุนแรงขึ้น พชอ.พิมาย จึงมีแนวความคิดเปิดโรงเรียนเบาหวานวิทยา เพื่อแก้ไขปัญหาภาวะน้ำตาลในเลือดสูงในผู้ป่วยเบาหวาน และความดันโลหิตสูง เน้นการให้ความรู้ผู้ป่วยและญาติในการดูแลควบคุมโรคและป้องกันภาวะแทรกซ้อน