'แอร์เอเชีย-คาเธ่ย์'ธุรกิจการบินยังระส่ำ
'แอร์เอเชีย-คาเธ่ย์'ธุรกิจการบินยังระส่ำ โดยแอร์ เอเชีย สายการบินต้นทุนต่ำบอกว่าพร้อมที่จะเลย์ออฟพนักงานเพิ่มหากว่าคำสั่งห้ามการเดินทางในประเทศเพราะการระบาดของโรคโควิด-19ในประเทศไม่ยุติลงในเดือนหน้า
สายการบินชั้นนำสองแห่งในเอเชียทั้งแอร์เอเชีย และคาเธ่ย์ แปซิฟิก ยังคงได้รับผลกระทบอย่างมากจากการระบาดของโรคโควิด-19 เริ่มจากแอร์ เอเชีย สายการบินต้นทุนต่ำ ที่บอกว่าพร้อมที่จะเลย์ออฟพนักงานเพิ่มหากว่าคำสั่งห้ามการเดินทางในประเทศเพราะการระบาดของโรคโควิด-19ในประเทศไม่ยุติลงในเดือนหน้า แม้ว่าที่ผ่านมา สายการบินแห่งนี้จะพยายามเร่งขยายธุรกิจที่ไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจสายการบินเพื่อชดเชยกับรายได้การบินที่หดหายไป
แอร์เอเชีย ก่อตั้งโดยโทนี เฟอร์นานเดส เจ้าพ่อนักธุรกิจในท้องถิ่นในฐานะสายการบินต้นทุนต่ำ ได้รับผลกระทบโดยตรงจากมาตรการคุมเข้มด้านการเดินทางเพราะการระบาดของโรคโควิด-19 รายได้จากการให้บริการการบินระหว่างประเทศลดลง รวมทั้งการบินในประเทศก็มีรายได้ลดลงเช่นกันเพราะฉะนั้น การเปิดเส่นทางบินในประเทศใหม่อีกครั้งจึงเป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับสายการบิน
“เราต้องการให้รัฐบาลเปิดให้มีบริการเที่ยวบินในประเทศโดยเร็วที่สุด ผมคิดว่ารัฐสีเขียวจะได้เปิดก่อนและน่าจะเปิดได้ภายในเดือนหน้า” โบ ลิงแอม ประธานแอร์ เอเชีย กรุ๊ป กล่าว
รัฐสีเขียวคือรัฐที่มียอดผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรน่า สายพันธุ์ใหม่เพิ่มในอัตราต่ำกว่ารัฐอื่นๆ อาทิ เมลากา ปาหัง เทเรงกานู ซาบาห์ บุตราจายา และลาบวน แต่รัฐบาลมาเลเซียไม่ได้ระบุว่าจะเปิดการเดินทางในประเทศเมื่อใดแม้ว่าจะถูกกดดันจากกลุ่มล็อบบี้ต่างๆ รวมทั้ง กลุ่มอุตสาหกรรมโรงแรม บริษัทให้บริการด้านการท่องเที่ยว และสายการบินต่างๆ
"ถ้าการห้ามบินภายในประเทศยังคงดำเนินต่อไปจนถึงเดือนพ.ค.บริษัทจำเป็นต้องปลดพนักงานมากขึ้นส่วนใหญ่เป็นนักบินและพนักงานแบ็ก-ออฟฟิศที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการคุมเข้มด้านการเดินทางเพราะการระบาดของโรคโควิด-19
นั่นคือชะตากรรมของสายการบินต้นทุนต่ำชื่อดังของภูมิภาคเอเชีย ส่วนชะตากรรมของสายการบินชั้นนำอีกแห่งแต่เป็นสายการบินให้บริการตามปกติอย่างคาเธ่ย์ แปซิฟิกของฮ่องกงที่รายงานตัวเลขขาดทุนมากสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 2,800 ล้านดอลลาร์เมื่อปีที่แล้ว เพราะผลพวงของการระบาดของโรคโควิด-19 ที่หลายประเทศทั่วโลกห้ามการเดินทางระหว่างประเทศ
“แพทริก ฮีเลย์” ประธานคาเธ่ย์ แปซิฟิก ระบุว่าปี 2563เป็นปีที่ท้าทายที่สุดของประวัติศาสตร์การบินกว่า70ปี โดยในรอบ12เดือนจนถึงวันที่ 31 ธ.ค.สายการบินขาดทุนสุทธิ 21,880 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง (2,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)เทียบกับกำไรสุทธิ 1,690 ล้านดอลลาร์ฮ่องกงในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้านี้ รายได้ของสายการบินลดลง 56% จากปี 2562 อยู่ที่ 46,930 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง
อย่างไรก็ตาม หนึ่งในรายได้หลักของสายการบินคาเธ่ย์ แปซิฟิกในขณะนี้มาจากธุรกิจให้บริการด้านขนส่งสินค้า โดยรายได้ในเซคเมนท์นี้ของกลุ่มบริษัทเพิ่มขึ้น 17% เป็น 27,890 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง สะท้อนถึงความไม่สมดุลของอุปสงค์และอุปทานที่มีสาเหตุมาจากการระบาดของโรคโควิด-19 ส่วนต้นทุนเชื้อเพลิงเมื่อปีที่แล้วลดลง 62% เทียบกับปีก่อนหน้านี้ อยู่ที่ 11,380 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง ขณะที่ราคาน้ำมันค่อนข้างผันผวน แต่สายการบินก็ทำประกันความเสี่ยงด้านราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นเป็น 3,020 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 30เท่าของปี 2562
“แต่แนวโน้มยังคงท้าทาย เนื่องจากทางการฮ่องกงกำหนดมาตรการป้องกันต่างๆในส่วนของห้องนักบินและเคบินของลูกเรือทำให้สายการบินต่องเสียต้นทุนในส่วนนี้ในแต่ละเดือนประมาณ 300-400 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง”ฮีเลย์ กล่าว
ฮีเลย์ กล่าวด้วยว่า แนวโน้มระยะสั้นสายการบินยังต้องเผชิญหน้ากับความท้าทาย แต่ในระยะยาว สายการบินยังคงขีดความสามารถด้านการแข่งขันกับบรรดาสายการบินอื่นได้ โดยปัจจุบันสายการบินคาเธ่ย์เป็นเจ้าของสายการบินต้นทุนต่ำชื่อ เอชเค เอ็กซ์เพรสส์ และบริษัทให้บริการด้านขนส่งสินค้าชื่อ แอร์ ฮ่องกง
อย่างไรก็ตาม ฮีลีย์ เตือนว่า ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่า การระบาดและผลกระทบจะเป็นไปอย่างไรในช่วงหลายเดือนข้างหน้า และคาเธย์ แปซิฟิค คาดการณ์ว่า จำนวนผู้โดยสารจะยังคงอยู่ในระดับครึ่งหนึ่งของเมื่อช่วงก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19 ตลอดทั้งปี 2564
ขณะที่สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานว่า ยอดขาดทุนของคาเธย์ แปซิฟิค สูงกว่าที่คาดหมายเอาไว้ โดยในปี 2563 สายการบินขาดทุน 2,800 ล้านดอลลาร์ และคาดว่าภาวะขาดทุนจะยังคงรุนแรงต่อเนื่อง ในสถานการณ์ที่เกิดการระบาดของโควิด-19 คาเธย์ แปซิฟิค ต้องลดค่าใช้จ่ายด้วยการเลิกกิจการสายการบินคาเธย์ ดรากอน ซึ่งเป็นสายการบินในเครือและเลิกจ้างพนักงาน 8,500 ตำแหน่ง