‘ดีมันนี่’หารือธปท. เล็งใช้สกุลเงินดิจิทัลโอนข้ามประเทศ

‘ดีมันนี่’หารือธปท. เล็งใช้สกุลเงินดิจิทัลโอนข้ามประเทศ

"แบงก์-นอนแบงก์"สนใจให้บริการโอน-รับเงินด้วยสินทรัพย์ดิจิทัล แย้ม เครือซีพี -ปูนซิเมนต์ไทย สนใจใช้บริการ ด้าน "ดีมันนี่” เผยเข้าหารือธปท.แล้ว รอไฟเขียว จากนั้นคาดใช้เวลา 3-6 เดือน เข้าทดสอบในแซนด์บ็อกซ์ ขณะนี้อยู่ระหว่างหาพันธมิตรที่เป็นศูนย์ซื้อขาย -เทคโนโลยี

ด้านแหล่งข่าวบริษัทขนาดใหญ่ในวงการเงิน เปิดเผยว่า ตอนนี้มีทุกสถาบันการเงินทั้งแบงก์และนอนแบงก์ รวมถึงร้านแลกเงินเช่น ซุปเปอร์ริช และดีมันนี่ ให้ความสนใจในการให้บริการโอนเงิน-รับเงินข้ามประเทศด้วยสินทรัพย์ดิจิทัล หรือ digital asset settlement ซึ่งอยู่ระหว่างหารือธปท. เพื่อนำไปให้บริการลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีสาขาหรือเครือข่ายในต่างประเทศ สามารถใช้ในการโอนเงินข้ามประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เช่น เครือซีพี และ เครือปูนซิเมนต์ไทย ขณะที่บริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กให้ความสนใจใช้บริการเช่นกัน

นายอัศวิน พละพงศ์พาณิชย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สวัสดีช้อป จำกัด ในฐานะผู้ให้บริการด้านการเงินระหว่างประเทศทั้งรับโอนเงินและแลกเปลี่ยนเงิน ภายใต้ “ดีมันนี่” ให้สัมภาษณ์ กรุงเทพธุรกิจ ว่า บริษัทอยู่ระหว่างรอธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อนุมัติในการให้บริการ digital asset settlement หลังจากที่ผ่านมาได้เข้าหารือ

ทั้งนี้ หากธปท. อนุญาตแล้วจากนั้นคาดว่า จะใช้เวลา3-6เดือนเข้าทดสอบในแซนด์บ็อกซ์ของธปท. เพื่อทดสอบการใช้บริการและประเมินผลกระทบต่อตลาด คาดว่าจะได้เกิดได้ใน3ปีข้างหน้า

“การรับหรือโอนเงินข้ามประเทศปัจจุบันเราใช้ดอลลาร์ สำหรับการซื้อเพื่อโอนเงินและรับเงินข้ามประเทศ หรือ SWIFT ซึ่งส่วนมากจะวิ่งบนดอลลาร์ ซึ่งเราหารือ ธปท. ในเรื่องการใช้สินทรัพย์ดิจิทัลในการซื้อเพื่อโอนเงินหรือรับเงินเป็นสกุลเงินข้ามประเทศ และจะใช้เทคโนโลยีไหน อยู่ระหว่างนำเสนอ ธปท.”

161645520642

ขณะนี้บริษัทกำลังคัดเลือกเทคโนโลยีมารองรับ และอยู่ระหว่างหาพันธมิตรที่เป็นศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Exchange) ร่วมให้บริการรวมถึงอยู่ระหว่างคัดเลือกสินทรัพย์ดิจิทัลที่ใช้ในการโอน-รับเงิน ซึ่งเบื้องต้นใน 7-10 สกุลเงินดิจิทัล ที่ได้รับรองจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับและตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)อยู่แล้ว โดยอาจคัดเลือกสกุลใดสกุลหนึ่งและพาร์ทเนอร์รายใดรายหนึ่งก่อน ส่วนจะเลือกประเทศใดมาร่วมทดสอบ เพื่อที่จะทำการโอนระหว่างกันก็จะต้องเลือกประเทศที่มีกฎเกณฑ์รองรับ digital asset settlement แล้วเท่านั้น เช่น สหรัฐ สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ ออสเตรเลีย เป็นต้น

สำหรับการพิจารณาเลือกสกุลเงินดิจิทัลก่อนเข้าแซนบ็อกซ์ของธปท. ยังต้องคำนึงถึงด้วยว่า เป็นสกุลเงินที่มีความน่าเชื่อถือมากน้อยแต่ไหน ใครเป็นเจ้าของ,มีสภาพคล่องที่จะรองรับสกุลเงินนั้นเพียงพอหรือไม่, การเคลื่อนไหวของราคาจะกระทบการตลาดการเงินต้นทางอย่างไร เพราะความเคลื่อนไหวของราคามีผลกระทบต่อสถาบันการเงินได้

“เราจะหารือกับบริษัทที่มีใบอนุญาติ เพื่อเชื่อมระหว่าง fiat money หรือเงินตราทั่วไปที่รัฐตราขึ้นเพื่อใช้ชำระหนี้ตามกฎหมาย กับ สินทรัพย์ดิจิทัล และขณะนี้เท่าที่หารือกับธปท.ก็มีความเข้าใจ ให้การสนับสนุน เพียงแต่ยังไม่มีกรณีตัวอย่างเกิดขึ้นในไทย เรามองว่าในสิบสกุลเงินดิจิทัลที่ก.ล.ต.รับรองมีโอกาสที่จะเป็นดิจิทัลแอสเซทเพย์เมนท์ได้ ตอนนี้มีลูกค้าที่สนใจคือ ผู้ประกอบธุรกิจเหมือนกับบริษัท และธุรกิจฟินเทค เช่น เราสนใจใช้ในไทยขณะที่คู่ค้าสนใจใช้ในออสเตรเลีย”

ถ้าหากเทคโนโลยีบริการโอนเงินข้ามประเทศด้วยสินทรัพย์ดิจิทัลเกิดขึ้นได้จริง เราจะสามารถใช้ระบบดังกล่าวในการส่งเงินบาทหรือดอลลาร์ ที่ถูกกว่า เร็วกว่าดิจิทัลเพย์เมท์ปกติ และที่สำคัญในอนาคต มองว่า ระบบนี้จะไว้ใช้รองรับสเตเบิลคอยน์ เช่น ดิจิทัลบาท ดิจิทัลหยวน หรือเงินดิจิทัลของธนาคาร

“ตอนนี้เราอยู่ระหว่างช่วงเปลี่ยนผ่าน เหมือนกับการเปลี่ยนผ่านระหว่างรถยนต์แก๊ส ไปเป็นรถยนต์ไฮบริดจ์ ที่ให้คนเลือกว่าจะเอารถแบบไหน แต่สุดท้ายแล้วเงินเข้าบัญชีปลายทางตามที่ลูกค้าต้องการ นอกจากนี้ตลาดในไทยคาดใช้เวลา3ปี ธุรกรรมนี้จะได้รับความนิยม และยังมีโอกาสโตอีกมาก เพราะตลาดคริปโตเคอเรนซีในไทยเกิดมา10ปี มีสัดส่วนแต่ 1%ของประชากรเท่านั้น”