4 หุ้นยานยนต์ไฟฟ้าราคาพุ่ง! เด้งรับข่าวใช้ EV เร็วขึ้นอีก 5 ปี
หุ้นยานยนต์ไฟฟ้า ราคาพุ่งแรง EA บวกสูงสุด 6.38% รับกระแสข่าวกระทรวงอุตสาหกรรมปรับเป้าหมายใช้รถยนต์ไฟฟ้า 100% เร็วขึ้นอีก 5 ปี ภายในปี 2578 จากเดิมตั้งเป้าปี 2583 โบรกฯ "เอเซีย พลัส" เชียร์ซื้อ 5 หุ้นเด่นในกลุ่ม
ราคาหุ้นในกลุ่มผู้ผลิตแบตเตอรี่ที่ใช้ในรถยนต์ไฟฟ้า (EV) และผู้ผลิตรถยนต์ EV วันนี้ (25 มี.ค.) ปรับขึ้นยกแผง ได้แก่ บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) ปรับขึ้น 6.38% ทำจุดสูงสุดที่ 62.75 บาทต่อหุ้น บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) บวก 3.70% อยู่ที่ 77.00 บาทต่อหุ้น บมจ.บ้านปู (BANPU) บวก 1.65% อยู่ที่ 12.30 บาทต่อหุ้น และ บมจ.บ้านปู เพาเวอร์ (BPP) บวก 3.68% อยู่ที่ 19.70 บาทต่อหุ้น
ฝ่ายวิจัยบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส (ASPS) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 24 มี.ค.2564 ที่ผ่านมา คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ ได้มีการประชุมและพิจารณา การกำหนดวิสัยทัศน์และเป้าหมายการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า โดยกำหนดเป้าหมายการใช้ Zero Emission Vehicle (ZEV) รถยนต์ที่ปราศจากการปล่อยมลพิษ ซึ่งเป็นยานยนต์ไฟฟ้าจากพลังงานแบตเตอรี่ BEV (Battery Electric Vehicle) และ FCEV (Fuel Cell EV) จำนวน 3 หมื่นคัน ในปี 2565 และจะเพิ่มเป็น 2.25 แสนคัน ในปี 2568 เพิ่มเป็น 4.4 แสนคัน ในปี 2573 และเพิ่มเป็น 1.15 ล้านคัน ในปี 2578 ตามเป้าหมาย
ASPS มองเป็นปัจจัยเชิงบวกต่อกลุ่มผู้ผลิตแบตเตอรี่ประเภทต่างๆ ที่ใช้ในรถยนต์ EV รวมถึงผู้ผลิตรถยนต์ EV ถึงแม้เป้าหมายจะเป็นเป้าหมายในระยะยาวค่อยๆเกิดขึ้นในช่วง 14 ปี ข้างหน้า อาจยังไม่เห็นผลกำไรในในระยะสั้น แต่นั่นหมายถึงการที่ผู้ประกอบการต่างๆ จะต่อยอดฐานกำไรจากธุรกิจแบตเตอรี่และรถยนต์ EV เป็นไปได้ไม่ยากจากการสนับสนุนของภาครัฐ ซึ่งผู้ประกอบการในประเทศไทยที่ผลิตแบตเตอรี่ในปัจจุบันมีจำนวนมาก แต่บริษัทที่จดทะเบียนในตลท.ที่มีภาพการลงทุนในธุรกิจแบตเตอรี่ที่ชัดเจน ได้แก่
EA ถือเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนรายใหญ่ของประเทศ และเป็นผู้นำร่องธุรกิจแบตเตอรี่ในประเทศไทย ปัจจุบันลงทุนในธุรกิจแบตเตอรี่ผ่านบริษัทย่อย Amita Taiwan ( EA ถือหุ้นราว 70.0%) ซึ่งเป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่ประเภท Lithium-ion กำลังการผลิต 400 MWh โดยมีกลุ่มลูกค้าในอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า และรถสาธารณะในประเทศไต้หวัน นอกจากนี้ยังอยู่ระหว่างก่อสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่ในประเทศไทย phase 1 (Amita Taiwan ถือหุ้น 100.0%) ขนาด 1.0 พัน MWh ซึ่งคาดจะแล้วเสร็จ และเริ่มผลิตแบตเตอรี่ cell แรกได้ในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน 2564
โดย EA มีแผนจะนำไปใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ที่คาดจะเริ่มผลิตและส่งมอบให้กับลูกค้าได้ในช่วงกลางปี 2564 รวมถึงในอนาคตยังมีแผนจะนำมาใช้เป็นแบตเตอรี่กักเก็บพลังงานสำหรับโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนในกลุ่มของ EA ด้วย ส่วนในระยะถัดไป มีแผนจะขยายการผลิตไปให้ถึง 4.9 หมื่น MWh หากโรงงาน phase 1 พัฒนาไปได้ด้วยดี และมีกลุ่มลูกค้ารองรับในอนาคต
GPSC ถือเป็นบริษัทลูกของ PTT ซึ่งเป็น flagship ในธุรกิจแบตเตอรี่ ซึ่งล่าสุดได้กำหนดให้ธุรกิจแบตเตอรี่เป็นหนึ่งในกลยุทธ์ New S-Curve ของบริษัท โดยเริ่มต้นจะป็นโครงการนำร่อง (Pilot project) สร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่ต้นแบบ 30.0 MWh ด้วยเทคโนโลยี semi-solid ซึ่งเป็นนวัตกรรมสมัยใหม่ในการผลิตแบตเตอรี่ Lithium- ion ของบริษัท 24M Technologies (GPSC ถือหุ้น 18.0%) ที่ลดความซับซ้อนของกระบวนการผลิต และจะช่วยให้ประหยัดต้นทุนการผลิตลงได้ โดยในเบื้องต้นจะนำมาทดลองใช้ภายในกลุ่ม PTT โดยเน้นในการติดตั้งเพื่อใช้กักเก็บพลังงาน (energy storage) เป็นหลัก และหากมีผลลัพท์ที่ดี จะพัฒนาเป็นผลิตเชิงพาณิชย์ต่อไป โดยโรงงานดังกล่าวคาดจะก่อสร้างแล้วเสร็จในช่วง 2Q64
นอกจากนี้ GPSC ยังได้เข้าถือหุ้น 11.1% ในบริษัท AXXIVA ในประเทศจีน กำลังการผลิตแบตเตอรี่ 1.0 พัน MWh ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้างและคาดจะแล้วเสร็จภายในปี 2564 และสามารถผลิตเชิงภาณิชย์ได้ภายในปี 2565 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำมาใช้กับอุตสาหกรรมกลุ่มยานต์ยนต์ไฟฟ้า โดยมีกลุ่มลูกค้าหลักอยู่ในประเทศจีน ในเบื้องต้น ยังไม่มีรายละเอียดเพิ่มเติมถึงประมาณการรายได้จากโครงการดังกล่าว
BANPU และ BPP เข้าถือหุ้น 50.0% ในบริษัทย่อย BANPU NEXT ที่ลงทุน 47.0% ในบริษัท Durapower Holdings Pte Ltd., ในประเทศจีน ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบ ผลิต และติดตั้งระบบแบตเตอรี่จัดเก็บพลังงานแบบ Lithium-ion เพื่อใช้ทั้งในอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า และระบบกักเก็บพลังงาน ปัจจุบันมีกลุ่มลูกค้าทั้งในประเทศจีนและยุโรป โดยโรงงานดังกล่าวสามารถรองรับการผลิตได้ 1.0 พัน MWh ซึ่งปัจจุบันได้ขยายกำลังการผลิตสู่ 380.0 MWh จากจุดเริ่มต้นที่ 80.0 MWh โดย ทั้ง BANPU และ BPPเริ่มมีการรับรู้กำไรจากธุรกิจนี้ราว 1-2 ล้านบาทต่อปี
BCPG ถือเป็นผู้ประกอบการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนระดับแนวหน้าในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยมีโครงการต้นแบบจากการนำแบตเตอรี่ 1.4 MWh มาใช้สำหรับโครงข่ายไฟฟ้าเพื่อกักเก็บพลังงาน (Energy Storage) ควบคู่กับโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานลมกำลังการผลิตตามสัญญา 9.0 เมกะวัตต์ เพื่อช่วยลดความผันผวนของกระแสไฟฟ้าที่ผลิตจากกังหันลม และสามารถนำพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้มาใช้ในเวลาที่เหมาะสม โดยโครงการดังกล่าวเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้วในเดือนเมษายน 2562
ทั้งนี้ฝ่ายวิจัยแนะนำ GPSC ราคาเหมาะสม 82 บาทต่อหุ้น เนื่องจากราคาหุ้นปัจจุบันยังมีโอกาสปรับขึ้น (upside) จากมูลค่าพื้นฐาน อีกทั้งถึงแม้ในช่วงสั้นธุรกิจแบตเตอรี่จะยังไม่สามารถสร้างกำไรได้อย่างมีนัยฯ เพราะยังอยู่ในจุดเริ่มแรกของการลงทุน แต่ยังมีธุรกิจหลักโรงไฟฟ้าที่สามารถสร้างกำไรได้อย่างมีเสถียรภาพในระยะยาว จึงเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมยามนี้
แต่อย่างไรก็ตามยังสามารถเก็งกำไรช่วงสั้นตามปัจจัยเชิงบวกจากประเด็นข่าวดังกล่าวได้ทั้งกลุ่ม ได้แก่ EA ราคาเหมาะสม 54 บาทต่อหุ้น BANPU 10.50 บาทต่อหุ้น BPP 16 บาทต่อหุ้น และ BCPG 13 บาทต่อหุ้น แต่อาจต้องใช้ความระมัดระวังเนื่องจากธุรกิจแบตแตอรี่ยังไม่สามารถสร้างกำไรที่มีนัยฯต่อกำไรรวมของบริษัทฯในช่วง 1-2 ปี ข้างหน้า อย่างแน่นอน