พลิกแนวรบ 'ม็อบ 3 นิ้ว' ทางเลือก 3 ยุทธวิธี
การเคลื่อนไหวของ “ม็อบ” อยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อในทิศทางชุมนุมตลอดปี 2564 จะก้าวไปถึงข้อเรียกร้องได้แค่ไหน
เหตุการณ์ชุมนุมเมื่อวันที่ 20 มี.ค.ที่ผ่านมา ที่บริเวณสนามหลวงต่อเนื่องไปถึงสี่แยกคอกวัว ไม่เกินความคาดหมายที่ทุกฝ่ายประเมินถึงการเผชิญหน้าของกลุ่มมวลชนและตำรวจ ที่ยกระดับความรุนแรงขึ้นตั้งแต่ต้นปี 2564
เมื่อสถานการณ์แกนนำมวลชนแต่ละกลุ่ม มีคดีความรายล้อม และอยู่ระหว่างฝากขัง รอการพิจารณาคดีจากศาล จึงเป็นที่มาของการปรับแผนของกลุ่ม “เยาวชนปลดแอก” ในนาม “Redem”
ครั้งแรกในการชุมนุมที่หน้ากรมทหารราบที่ 1 ต่อเนื่องมาถึงการเคลื่อนขบวนจาก 5 แยกลาดพร้าวไปศาลอาญารัชดา ล่าสุดที่สนามหลวงและถนนราชดำเนินต่อการปรับทัพ “ม็อบ” ใช้ยุทธวิธี “ไร้แกนนำ” เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกจับกุม
แต่จากเหตุปะทะที่หน้ากรมทหารราบที่ 1 จนถึงสนามหลวง การเคลื่อนไหวภายในม็อบกำลังคุกรุ่นไปด้วยข้อเถียงโดยเฉพาะการพูดคุยในกลุ่ม "เทเลแกรม" ที่ชื่อว่า "REDEM : DISCUSSION" มีข้อเสนอหลากหลายต่อทิศทางการชุมนุมในวันที่ไม่มีแกนนำ โดยแบ่งความเห็นเป็น 3 กลุ่มหลัก ดังนี้
“กลุ่ม 1” ต้องการเผชิญหน้า เพื่อยกระดับการชุมนุมให้เข้มข้นกว่าปี 2563 โดยในกลุ่มนี้เห็นว่าการเคลื่อนไหวที่ผ่านมา ไม่สามารถกดดันอำนาจรัฐให้ดำเนินการตามข้อเรียกร้องได้จริง หากยังยึดแนวทางเดิมต่อไป จะเสียแนวร่วมมวลชนที่เริ่มหมดพลังการเคลื่อนไหว
“กลุ่ม 2” ต้องการยึดแนวทางสันติวิธี ซึ่งเป็นจุดยืนเช่นเดียวกับ “แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม” เคยประกาศไว้ เพื่อใช้แนวทางนี้เคลื่อนไหวสร้างต้นทุนและความชอบธรรมมากกว่ายกระดับการชุมนุม เพราะหากการชุมนุมใช้แนวทางรุนแรงจะเข้าทางเจ้าหน้าที่รัฐ อ้าง “ความชอบธรรม” ในการสลายการชุมนุม
“กลุ่ม 3” ต้องการใช้สัญลักษณ์ข้อเรียกร้องในขับเคลื่อน จากการชุมนุมบนถนนขยายไปในโลกออนไลน์ โดยใช้ “สัญลักษณ์” ของการคุมขังแกนนำมวลชน ตั้งแต่ใบหน้าแกนนำ คำปราศรัยบนเวทีมาเปิดในพื้นที่ชุมนุม รวมถึงข้อเรียกร้องทางสถาบันมาเป็นทิศทางหลักเพื่อขยายแนวร่วมในระหว่างการเว้นวรรคชุมนุมในแต่ละครั้ง
นอกจากนี้ ในบทสนทนาของห้องแชท ยังมีการแยกไปตั้งห้องเพิ่มเติมใช้ชื่อว่า “Idea ออกม็อบ” เพื่อเป็นเวทีกลางรับไอเดียทำกิจกรรมในม็อบ ที่สำคัญในบทสทนายังมีข้อเสนอการเคลื่อนไหวเพื่อปรับยุทธวิธีใหม่ทั้งหมด ใน 3 ระยะ คือ
1.วางเป้าหมายระยะสั้นแต่ปฏิบัติเห็นผลจริง โดยยืนยันใน “เพดาน 3 ข้อเรียกร้อง" ซึ่งจะใช้เวลายาวนาน จึงต้องปรับแผนเพื่อสร้าง “เป้าหมายระยะสั้น” อาทิ กดดันให้ปล่อยแกนนำในเรือนจำ เพื่อให้มวลชนเห็นถึงเป้าที่มีโอกาสเป็นไปได้
2.กรณีข้อเรียกร้องระยะสั้นไม่เป็นผล ต้องพร้อมยกระดับการชุมนุมให้ชัดเจน อาทิ การเรียกร้องปล่อยตัวมวลชนที่ถูกจับในวันชุมนุมเมื่อ 10 ก.พ. ที่ สน.ปทุมวัน ต้องขยับระดับข้อเรียกร้อง แต่อยู่ในแนวทาง “สันติวิธี” และพร้อมเคลื่อนไหวกดดันภาครัฐให้มากกว่าเดิม
3.ไม่นัดหมายชุมนุมล่วงหน้าให้นานเกินไป เนื่องจากตำรวจจะเตรียมตัวได้ทัน โดยให้แจ้งเพียงว่าเตรียมชุมนุม แล้วเตรียมแจ้ง “สถานที่” ก่อนถึงเวลาจริงไม่เกิน 2 ชั่วโมง โดยเน้นพิกัดในเมืองหรือตามแนวรถไฟฟ้าให้ง่ายต่อม็อบที่มาร่วมชุมนุม และมีทางหนีทีไล่ กรณีถูกสลายการชุมนุม
ขณะที่อีกด้าน ได้เห็นความชัดเจนต่อการปรับ “รูปขบวนใหม่” ในการเคลื่อนไหวเมื่อ 24 มี.ค.โดย “แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม” เป็นเจ้าภาพนัดชุมนุมที่สี่แยกราชประสงค์อีกครั้ง ซึ่งเป็นครั้งที่ 5 ตั้งแต่มีการชุมนุมที่นี่ในครั้งแรกเมื่อ 15 ต.ค.2563 โดยกลุ่มเยาวชนปลดแอก
การกลับมาใช้พื้นที่ราชประสงค์ครั้งนี้ นอกเหนือจากความสะดวกในการเดินทางของมวลชนแล้ว ยังได้ปัดฝุ่นกลับมาใช้รูปแบบ "เวทีปราศรัย" อีกครั้ง โดยมีแกนนำและการ์ดดูแลมวลชนตลอดแนวถนนราชดำริ ซึ่งเน้นกิจกรรมแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ โดยไม่เคลื่อนขบวนไปเผชิญหน้ากับแนวตำรวจที่อยู่รอบพื้นที่ราชประสงค์
ที่สำคัญในม็อบมีการแจกใบปลิวรณรงค์การเคลื่อนไหวแนวทาง “สันติวิธี” หัวข้อ “ทำไม? ต้องสันติวิธีมากกว่าความรุนแรง” ซึ่งเป็นแนวทางเดิมที่กลุ่ม “แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม” ใช้เคลื่อนไหวมาตลอดปี 2563 ในช่วงที่ พริษฐ์ ชิวารักษ์ ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล และอานนท์ นำภา เป็นแกนหลักขับเคลื่อนข้อเรียกร้องโดยยึดแนวทางสันติวิธี เนื่องจากเชื่อว่าจะ “ชอบธรรม” มากกว่ายกระดับการชุมนุมที่เสี่ยงความรุนแรงเหมือนที่ผ่านมา
เมื่อขณะนี้แกนนำแนวร่วมธรรมศาสตร์ ประเมินสถานการณ์หากยกระดับการชุมนุมเหมือนเช่นเดิม จะเสี่ยงต่อการเสียแนวร่วม และเข้าทางกับการปราบปรามจากเจ้าหน้าที่ จึงเป็นช่วงรับไม้ต่อจาก “Redem” มาปรับยุทธวิธีเคลื่อนไหว ประคองมวลชนในช่วงที่แกนนำยังรอการประกันตัวออกมาควบคุมการชุมนุมอีกครั้ง
การเคลื่อนไหวของ “ม็อบ” ขณะนี้จึงอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อทิศทางการชุมนุมตลอดปี 2564 จะก้าวไปถึงข้อเรียกร้องได้แค่ไหน เมื่อฝ่ายความมั่นคงก็พร้อมกระชับทุกพื้นที่การชุมนุมได้ทุกเมื่อ.