ธปท.จ่อคลอด ‘เงินบาทดิจิทัล’ ออกใช้สู่ประชาชนวงจำกัด ไตรมาส2ปี65
ธปท. เดินหน้าพัฒนา สกุลเงินดิจิทัลเชิงรุก ล่าสุดเปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน ถึง 15 มิ.ย. ก่อน ทดลองใช้กับประชาชนในวงจำกัดได้ ไตรมาส 2 ปี 65 หวังเป็นทางเลือกในการใช้จ่าย ทำธุรกรรม ที่สามารถใช้ควบคู่กับเงินบาทได้
นางวชิรา อารมณ์ดี ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวว่า แนวทางการพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลางสำหรับการใช้งานในภาคประชาชน (Retail Central Bank Digital Currency: Retail CBDC) เบื้องต้นธปท.จะเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนทั่วไป หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน เกี่ยวกับหลักคิด และแนวทางการพัฒนา Retail CDBC
ในรายงาน “The Way Forward for Retail Central Bank Digital Currency in Thailand” เพื่อสร้างความเข้าใจและรับฟังความเห็นจากสาธารณชน ตั้งแต่วันนี้จนถึง 15 มิ.ย. เพื่อนำความคิดเห็นต่างๆ มากำหนดแนวทางการพัฒนา Retail CBDC ต่อไป
ขณะที่ระยะถัดไปคือ ก.ค. จะเริ่มนำความเห็นต่างๆ มาพัฒนา Retail CBDC ระดับ Pilot
และคาดว่า ภายในไตรมาส 2 ปี 2565 จะมีการเริ่มทดสอง CBDC หรือ ‘เงินบาทดิจิทัล’ออกใช้สู่ประชาชนในวงจำกัดได้ ทั้งนี้คาดว่าภายใน 3-5 ปีจะเห็นการพัฒนา และเห็น CBCD มาปรับใช้กับรายย่อยที่เป็นรูปธรรม และมากขึ้น
“เรามองว่าเรื่องนี้ เป็นอินฟราซักเจอร์ ที่กระทบต่อทุกคนทั้งระบบ ดังนั้นเราต้องเดินพร้อมกัน ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน จึงต้องมีการสอบถามความเห็นจากทุกภาคส่วน ว่าต้องกังวล ต้องมีอะไรเพิ่มเติม หรือไอเดียใหม่ๆ จากภาคธุรกิจบ้าง เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ เราอยากให้ประชาชน และทุกคนมีส่วนร่วม”
อย่างไรก็ตาม รูปแบบของการ ออกใช้ “เงินดิจิทัล” หรือ CBDC ก็ถือเป็นรูปแบบคล้ายๆกันกับหลายประเทศ ที่มีการพัฒนา ออกใช้สู่ประชาชน โดยเฉพาะจีน ที่มีการออก CBDC แล้วตั้งแต่ปี 2563 และเริ่มนำ เงินดิจิทัล ออกใช้กับประชาชนของจีน ในเมืองเล็กๆ คล้ายรูปแบบการแจกเหรียญ หรือล็อตเตอรี่ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการใช้มากขึ้น
ทั้งนี้ การออก เงินดิจิทัล หรือ CBDC ออกใช้กับประชาชนทั่วไป ยอมรับว่าเป็นเรื่องใหม่ ที่หลายประเทศ หันมาศึกษาเรื่องดังกล่าวมากขึ้น และพบว่าความต้องการของประชาชนมีเพิ่มขึ้น ดังนั้นเชื่อว่าหากทำแล้วมีประสิทธิภาพ ทำแล้วประชาชนสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้ ก็เชื่อว่าเป็นสิ่งที่ดี
ขณะเดียวกัน สิ่งที่ธปท.อยู่ระหว่างการพิจารณาคือ ข้อกฎหมายต่างๆ ว่าการออก เงินดิจิทัล เหล่านี้ สุดท้ายแล้ว จะเกี่ยวข้อกับ พรบ.เงินตรา หรือไม่ ที่ต้องดูเรื่องข้อกฎหมายใช้ชัดเจนก่อน มีการออกใช้ในระยะข้างหน้า
ทั้งนี้ หลักการของ “เงินดิจิทัล” เชื่อว่า จะสามารถใช้ควบคู่กับ “เงินบาท”ได้ และมีสินทรัพย์หนุนหลัง เช่น สินทรัพย์ต่างประเทศ ทองคำ หรือเงินบาทต่างๆ
ขณะเดียวกันความแตกต่างของ “เงินดิจิทัล”กับ การชำระเงินผ่านระบบธนาคารต่างๆ มีข้อต่างกัน เพราะการชำระเงินผ่านระบบพร้อมเพย์ หรือโมบายแบงกิ้ง จำเป็นต้องใช้อินเตอร์เน็ต และมีตัวกลางเป็นแบงก์
ดังนั้นหากมีปัญหาขัดข้องเกี่ยวกับระบบแบงก์ อินเตอร์เน็ตต่างๆก็ไม่สามารถทำธุรกรรมได้ แต่ “เงินดิจิทัล” ที่พัฒนาขึ้นมา จะสามารถใช้ได้ โดยไม่จำเป็นต้องผ่านระบบแบงก์ก็ได้ รวมถึงสามารถเขียนโปรแกรมให้เงิน สามารถไหลไปที่ต่างๆได้ และสามารถนำมาต่อยอดให้เกิดนวัตกรรมต่างๆเพิ่มเติมได้อีกมากในอนาคต
ส่วนความกังวล ว่าจะเป็นช่องทางในการ “ฟอกเงิน”นั้น เชื่อว่า ท้ายที่สุด การขึ้นมาอยู่บนดิจิทัล ต่างๆ น่าจะทำให้ข้อมูลต่างๆมีความชัดเจน และตรวจสอบข้อมูลได้ชัดเจน ดังนั้นก็เชื่อว่าจะสามารถป้องกันเรื่องดังกล่าวได้
อย่างไรก็ตาม Retail CBDC ถือเป็นเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง ซึ่งเปรียบได้กับธนบัตรที่ออกโดยธนาคารกลาง โดย Retail CBDC สามารถนำไปใช้ในการทำธุรกรรมทางการเงินได้ทั้งในแบบออนไลน์ (On-line) และออฟไลน์ (Off-line)
นอกจากนี้ ยังสะดวกต่อการพกพาเคลื่อนย้าย และสามารถนำไปใช้ต่อยอดกับนวัตกรรมทางการเงินอื่น ๆ ในอนาคตได้
ขณะเดียวกัน การพัฒนา Retail CBDC มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อช่วยให้ประชาชนเข้าถึงบริการทางการเงิน
รวมถึงสามารถใช้บริการทางการเงินได้สะดวกและปลอดภัยขึ้น นอกจากนี้ การพัฒนา Retail CBDC ยังมีวัตถุประสงค์เพื่อรองรับบริบทที่เทคโนโลยีจะเข้ามามีบทบาทในภาคการเงินเพิ่มขึ้น
ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนในระบบการเงิน รวมถึงช่วยส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมทางการเงินที่จะทำให้เกิดบริการทางการเงินที่หลากหลายในอนาคต