จากเคส 'มิล่า Kamikaze' เฝ้าระวังความรุนแรงในบ้านยุค 'โควิด-19'
ชวนเฝ้าระวังการใช้ "ความรุนแรงในครอบครัว" ในยุค "โควิด-19" จากกรณี "มิล่า Kamikaze" สะท้อนปัญหาสังคมไทย ที่ในบางเคสผู้กระทำและผู้ถูกกระทำเป็นคนในครอบครัวเดียวกัน ถือเป็นความสุ่มเสี่ยงที่เปราะบางและไม่ควรมองข้าม
ประเด็น "ความรุนแรงในครอบครัว" ถูกพูดถึงในสังคมไทยอีกครั้ง จากกรณีอดีตศิลปิน "มิล่า Kamikaze" ที่ออกมาเปิดเผยความจริงว่า เธอเคยถูกน้องชายแท้ๆ ทำร้ายร่างกายเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา เคสนี้สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาความรุนแรงในครอบครัวของไทย ซึ่งนับวันก็พบว่ามากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในช่วง "โควิด-19" หลายคนต้องหยุดอยู่บ้านมากขึ้น ก็ยิ่งต้องช่วยกันเฝ้าระวัง
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ชวนมาดูรายละเอียดเรื่องนี้กัน เพื่อเตือนให้ทุกคนตระหนักและเฝ้าระวังไม่ให้เกิดความรุนแรงในครอบครัว
- ผลสำรวจเผย "ความรุนแรงในครอบครัว" มีมากขึ้น
มีผลสำรวจจาก คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล รายงานถึงความชุกของความรุนแรงต่อผู้หญิงและบุคคลในครอบครัว ปี 2563 ระบุว่า ประเทศไทยพบความรุนแรงในครอบครัวด้านจิตใจสูงสุดร้อยละ 41.2 รองลงมาคือ ทางร่างกาย ร้อยละ 4.3 และทางเพศ ร้อยละ 2.3
ขณะที่ศูนย์ปฏิบัติการสถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัว รายงานว่าตั้งแต่ปี 2559 -2563 พบว่าความรุนแรงในครอบครัวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นคิดเป็น 1,400 ราย/ปี หรือเฉลี่ย 4 ราย/วัน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
- "โควิด-19" ปัจจัยเพิ่มความรุนแรงในครอบครัว?!
นอกจากนี้ยังมีข้อมูลจาก มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ระบุว่า การระบาดของโควิด-19 สิ่งที่เห็นได้ชัด คือ พบความรุนแรงในครอบครัวมากขึ้น
โดยส่วนใหญ่มาจากสภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวยากจนทำให้ประชาชนบางส่วนได้รับผลกระทบในครอบครัว เช่น ขาดรายได้ ไม่มีงานทำ และเกิดความเครียดสะสม โดยปี 2563 มีประชาชนมาขอความช่วยเหลือเรื่องความรุนแรงในครอบครัวกับมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เพิ่มขึ้นกว่า 20% แบ่งเป็น
1. ปรึกษาด้านกฎหมายเพื่อไปแจ้งความดำเนินคดีหลังถูกคนในครอบครัวทำร้ายร่างกายด้วยตัวเอง
2. ร้องทุกข์ขอความช่วยเหลือให้ทางมูลนิธิฯ พาไปแจ้งความดำเนินคดี
- แก้เครียดด้วยเหล้า ยิ่งเพิ่มความรุนแรงในบ้าน
มูลนิธิหญิงชายก้าวไกลระบุอีกว่า อีกหนึ่งปัญหาความรุนแรงที่พบได้บ่อย ก็คือ เมื่อมีคนในบ้านบางคนเลือกระบายความเครียดด้วยการไปปาร์ตี้ ดื่มแอลกอฮอล์ โดยหวังจะช่วยแก้เครียด
แต่การเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับอบายมุขเหล่านี้ไม่ได้ช่วยแก้เครียดได้จริง แต่ในทางกลับกัน อาจสร้างความร้าวฉานและความรุนแรงในครอบครัวได้มากขึ้นกว่าเดิม
- เช็ควิธีลดความรุนแรงในบ้าน(ผู้กระทำ) และวิธีเอาตัวรอด(ผู้ถูกกระทำ)
1. ลด ละ เลิกปาร์ตี้ สังสรรค์ ดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่แออัด ป้องกันความเสี่ยงติดเชื้อ "โควิด-19" และลดความเครียดจากสถานการณ์โรคระบาด
2. ลดอบายมุข ลดความเสี่ยงการมึนเมาและขาดความยับยั้งใจ ก็จะช่วยลดจำนวนผู้กระทำความรุนแรง
3. ทำกิจกรรมร่วมกับครอบครัวที่บ้าน สร้างความสัมพันธ์ร่วมกันในวันหยุดยาว ป้องกันปัญหาความรุนแรงในครอบครัว
4. ผู้ที่เสี่ยงจะเป็นเหยื่อ ให้พยายามมองหาคนใกล้ตัว เพื่อน ญาติ หรือใครก็ตามที่พร้อมช่วยเหลือได้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน
5. สร้าง "โค้ดลับ" กับคนที่ไว้ใจ คำที่สื่อสารแล้วเข้าใจว่ากำลังเกิดอะไรขึ้น และกำลังขอความช่วยเหลือ
6. หาข้อมูลหรือเบอร์โทรศัพท์ของหน่วยงานใกล้บ้านที่พร้อมช่วยเหลือ เช่น สถานีตำรวจ โรงพยาบาล ศูนย์ช่วยเหลือต่างๆ
- เมื่อบ้านไม่ปลอดภัย โทรขอความช่วยเหลือที่ไหน?
เมื่อมองเห็นสัญญาณไม่ปลอดภัยภายในบ้าน หรือส่อแววว่าจะเกิดความรุนแรงในครอบครัว คุณสามารถโทรศัพท์ติดต่อขอความช่วยเหลือได้จากหลายๆ หน่วยงาน ดังนี้
1. ศูนย์ช่วยเหลือสังคม กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ โทร. 1300
2. มูลนิธิเพื่อนหญิง โทร. 02-513-2780, 02-513-1001
3. มูลนิธิปวีณาเพื่อเด็กและสตรี โทร. 1134 หรือ 02-521-9231-2
4. ศูนย์ช่วยเหลือเร่งด่วน 24 ชั่วโมง กรมประชาสงเคราะห์ โทร. 1507, 1578
5. มูลนิธิผู้หญิง (ช่วยเหลือแก่ผู้หญิงที่โดนทำร้ายร่างกาย) โทร. 02-433-5149, 02-435-1246
6. โครงการพัฒนาเครือข่ายผู้หญิงในชุมชนแออัด โทร. 02-731-5218
-------------------------
อ้างอิง : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), domesticviolencecenter.org
ที่มาภาพ : milapanpinij