ลุ้นธปท. ต่อ'พักหนี้' หลังสิ้นมิ.ย. 64 ช่วยเอสเอ็มอี
ธปท.รับถกแบงก์ต่อเนื่อง เพื่อพิจารณาต่ออายุมาตการ “พักหนี้”เอสเอ็มอีที่จะหมดอายุ สิ้นมิ.ย.นี้ คาดชัดเจนก่อนไตรมาส2ปีนี้ เชื่อมาตรการพักทรัพย์ -สินเชื่อฟื้นฟู มีส่วนช่วยให้หนี้เสียลด ด้านเอสซีบียังเร่งเดินหน้าช่วยเหลือลูกหนี้เต็มที่
นางสาว สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย ธปท. กล่าวว่า สำหรับการต่ออายุมาตรการพักหนี้ให้กับธุรกิจเอสเอ็มอี ที่จะครบกำหนดในมิ.ย.นี้ ธปท.ยังอยู่ระหว่างการพิจารณา และมีการหารือกับธนาคารต่างๆอย่างต่อเนื่อง ถึงสถานการณ์ลูกหนี้ที่เข้าสู่มาตรการว่า มีการออกจากมาตรการมากน้อยแค่ไหน และกลุ่มไหนที่จำเป็นต้องช่วยเหลือต่อหรือไม่
ดังนั้นเชื่อว่า การหาข้อสรุปว่าจะมีการต่อมาตรการพักหนี้ต่อหรือไม่ น่าจะสรุปชัดเจนได้ก่อน จบไตรมาสปีนี้แน่นอนอีกทั้งสิ่งที่ต้องประเมินดู คือประสิทธิผลของ 2มาตรการที่ธปท.เพิ่งออกไป ทั้งสินเชื่อฟื้นฟู สำหรับผู้ประกอบธุรกิจ วงเงิน 250,000 ล้านบาท และพักทรัพย์ พักหนี้วงเงิน 1แสนล้านบาท เพราะเชื่อว่า สองมาตรการนี้ จะมีส่วนช่วยภาคธุรกิจได้ค่อนข้างมาก อย่างน้อยหากมีสภาพคล่อง หรือสามารถเข้าพักทรัพย์ได้ ก็จะช่วยไม่ให้หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือเอ็นพีแอลกลับมารวดเร็ว
“วันนี้เรายังอยู่ระหว่างการพิจารณา ว่าจะต่อไม่ต่อ และดูถึงสภาพลูกหนี้ว่าเป็นอย่างไร ต้องการช่วยเหลือต่อหรือไม่ แต่เราเชื่อว่าระยะข้างหน้า จะไม่มีกรณีที่จะเห็น เอ็นพีแอลขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะแบงก์วันนี้ก็กำลังเร่งช่วยเหลือลูกค้าตามมาตรการต่างๆและ การปรับโครงสร้างหนี้อยู่แล้ว”
นายมาณพ เสงี่ยมบุตร รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานการเงิน หรือ CFO ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า แนวนโยบายของธนาคารปีนี้ คือยังเดินหน้าในการให้ความช่วยเหลือลูกค้าต่อเนื่องเป็นหลัก ผ่านมาตรการต่างๆที่สามารถทำได้ เพราะหากลูกค้ากลับมาฟื้นตัว ก็จะเป็นผลดีกับธนาคารในระยะข้างหน้า
ส่วนการต่อมาตรการพักหนี้สำหรับเอสเอ็มอี ที่จะสิ้นสุดในมิ.ย. 2563 ต้องแล้วแต่นโยบายของธปท. เพราะที่ผ่านมา การต่ออายุมาตรการต่างๆ ก็มาจากการวางนโยบายของธปท.เพื่อลดผลกระทบจากโควิด-19 รอบสอง ดังนั้นเหล่านี้ก็ต้องพิจารณาตามความเหมาะสมต่อไป
รวมถึง ติดตามผลกระทบที่มาจาก โควิด-19 ระลอก3ด้วย ว่ามีผลกระทบมากน้อยแค่ไหน เพราะวันนี้ภาพผลกระทบยังไม่สามารถประเมินได้ชัดเจน ทั้งนี้สำหรับคนที่เข้าสู่มาตรการช่วยเหลือของธนาคารที่ผ่านมา ก็พบว่า ส่วนใหญ่ ยังอยู่ในกลุ่มเอสเอ็มอีเป็นหลัก
“วันนี้ยังเร็วเกินที่จะมองผลกระทบจากโควิดรอบ 3 ว่ามีมากน้อยแค่ไหน แต่เป้าหมายของธนาคารปีนี้ หลักๆก็ยังเน้นการช่วยเหลือลูกค้าเป็นหลัก เพราะเชื่อว่า หากลูกค้าฟื้นตัวกลับมาแข็งแรงได้ ก็จะเป็นผลดีกับธนาคารด้วย"
นายยูจิ ฟุคาดะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไอร่า แอนด์ ไอฟุล จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการบัตรกดเงินสด “เอมันนี่” (A money) กล่าวว่า ในส่วนการช่วยเหลือลูกค้าของบริษัท โดยเฉพาะรายย่อย พบว่า ปัจจุบันมีลูกค้าราว 70-80% ที่กลับมาชำระหนี้ได้ตามปกติแล้ว หลังจากเข้ามาตรการในช่วงที่ผ่านมา
ขณะเดียวกัน เพื่อลดผลกระทบลูกค้ารายย่อยของบริษัท บริษัทอยู่ระหว่างการพิจารณาเพื่อต่ออายุมาตรการ ที่ลดการผ่อนชำระขั้นต่ำเหลือ 2.5% ที่จะหมดมาตรการสิ้นมิ.ย. เพิ่มเติม โดยจะขยายระยะเวลาเป็นปลายปีนี้ เพื่อลดผลกระทบสำหรับลูกหนี้ที่ยังไม่กลับมาฟื้นตัวและยังไม่กลับมาชำระหนี้ปกติได้