ชุมชนป่าภูถ้ำ ภูกระแต พลิกผืนดินแล้ง สู่ทางรอดชุมชน
แม้ จ.ขอนแก่น จะเป็นประตูสู่อีสาน ที่มีพื้นที่เป็นอันดับที่ 15 ของประเทศ ด้วยขนาด 6.8 ล้านไร่ เป็นศูนย์กลางแห่งการศึกษา เทคโนโลยี การคมนาคม แต่ถึงอย่างนั้น กว่า 26 อำเภอ ยังประสบปัญหาภัยแล้ง โดยเฉพาะชุมชนป่าภูถ้ำ ภูกระแต อ.แวงน้อย
ชุมชนป่าภูถ้ำ ภูกระแต อ.แวงน้อย จ.ขอนแก่น ถูกเรียกว่าเป็นพื้นที่แห้งแล้งซ้ำซาก จากการประสบปัญหาน้ำแล้ง น้ำหลากมากกว่า 40 ปี แล้ง 4 ปี ฝนดี 2 ปี พื้นที่เป็นที่ราบและที่ดอนลอนคลื่น แหล่งน้ำไม่เชื่อมต่อกัน ตื้นเขิน มีวัชพืชหนาแน่น กักเก็บน้ำได้น้อย ทำให้แต่เดิมชุมชนใช้น้ำจากการสูบ ทำให้สิ้นเปลืองพลังงาน
ชาวบ้านส่วนใหญ่ทำอาชีพเกษตรกร มีการปลูกพืชเชิงเดี่ยว แม้ในชุมชนจะมีบ่อน้ำเดิมแต่ไม่สามารถกักเก็บน้ำได้เพียงพอต่อการใช้งาน 4 ปี น้ำฝนที่ตกลงมาไม่มีพื้นที่จัดเก็บและไหลทิ้งอย่างน่าเสียดาย ชาวบ้านส่วนใหญ่จึงต้องเดินทางไปทำงานต่างจังหวัด เพื่อให้มีรายได้จุนเจือครอบครัว โอกาสที่ครอบครัวจะอยู่พร้อมหน้าเฉพาะช่วงเทศกาลเท่านั้น
“พิชาญ ทิพวงษ์” ประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำชุมชนป่าภูถ้ำ ภูกระแต เล่าว่า ในช่วงแล้งที่สุด คนในหมู่บ้านกว่า 300 คน ต้องยืนต่อคิวอาบน้ำในบ่อน้ำบ่อเดียวกัน ส่วนน้ำดื่มต้องตื่นตั้งแต่ตี 2 ตี 3 ไปตักน้ำในบ่อน้ำตื้นใกล้ป่าภูถ้ำ การอพยพไปรับจ้างต่างจังหวัด ไปกรุงเทพฯ จะเป็นทางออกที่ดีที่สุด แต่ผมไปอยู่กรุงเทพฯ 28 วัน มันไม่ใช่สวรรค์เป็นนรก เราเป็นเหมือนเขียดที่คลุกดินทรายกำลังจะดิ้นตาย สิ่งที่เราไปเห็นทำให้รู้ว่าบ้านเราเป็นสวรรค์
เมื่อเมืองใหญ่ไม่ใช่ทางรอด “พิชาญ” จึงกลับสู่ชุมชนภูถ้ำ ภูกระแต ลุกขึ้นมาแก้ปัญหาน้ำด้วยตัวเอง ในปี 2541ปลุกพลังชาวบ้านในชุมชน 15 หมู่บ้าน ร่วมกันสู้รู้จักพึ่งพาตัวเอง ดูแลผืนป่าต้นน้ำผืนสุดท้ายที่เหลืออยู่ 2,800 ไร่ จาก 5,000 ไร่ แทนการรอความช่วยเหลือจากหน่วยงานต่าง ๆ กระทั่งปี 2546 เกิดกลุ่มอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าป่าภูถ้ำ ภูกระแต แบ่งพื้นที่ในการลาดตระเวนดูแลป่า จัดทำฝาย 20 ฝาย และทำที่เก็บน้ำ จนป่าไม้เริ่มกลับมาอุดมสมบูรณ์
จุดเปลี่ยนสำคัญจากการส่ง “โครงการจัดการน้ำชุมชนของภูถ้ำ ภูกระแต” เข้าประกวด ในปี 2554 ซึ่งได้รับคัดเลือกจากสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) หรือ สสน. ให้เป็น “ชุมชนจัดการน้ำดีเด่น” ทำให้มีโอกาสเข้าอบรมเรียนรู้เรื่องการจัดการน้ำจากมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และ สสน. รวมทั้งเอสซีจี เข้ามาทำงานร่วมกับชาวบ้าน และปรับวิธีคิดและเปิดมุมมองใหม่ให้ชาวบ้านในชุมชนมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา พร้อมกับ “โครงการเอสซีจี ร้อยใจ 108 ชุมชนรอดภัยแล้ง” เข้ามาทำงานร่วมกับชุมชน สนับสนุนการเชื่อมน้ำขุดคลองเข้าพื้นที่ ขุดแก้มลิงให้เป็นแหล่งน้ำประจำไร่นา
“ผมมีโอกาสได้เจอกับ ดร.รอยล จิตรดอน ที่ปรึกษา สสน. อาจารย์จึงทิ้งคำถามไว้ว่า หากคิดว่าสิ่งที่มีอยู่ไม่ดีพอ แล้วเราจะมีวิธีแก้ไขอย่างไร จึงทำให้เรากลับมาคิดภายใต้โจทย์ใหญ่ของชุมชน ว่าเราจะหาทางเก็บน้ำ 2 ปีให้ข้ามแล้ง 4 ปีได้อย่างไร” พิชาญ กล่าว
กรอบความคิดและการเรียนรู้เป็นหัวใจสำคัญในการแก้ปัญหา ชาวบ้านร่วมกันศึกษาสภาพพื้นที่ด้วยแผนที่ชุมชน นำเทคโนโลยีสารสนเทศมาประยุกต์ใช้ เช่น เครื่อง GPS แผนที่ภาพถ่ายจากดาวเทียมเพื่อสำรวจสภาพพื้นที่ของตัวเอง สำรวจโครงสร้างแหล่งน้ำ สถานะแหล่งน้ำ ทางน้ำธรรมชาติ และความต้องการใช้น้ำ ทำให้ทราบค่าระดับความสูงต่ำนำไปสู่การพัฒนาโครงสร้างน้ำที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่
หลังจากนั้นร่วมกันจัด “ระบบการบริหารจัดการ” น้ำผ่านเครื่องมือต่าง ๆ เช่น คลองดักน้ำหลาก แก้มลิงกักเก็บน้ำ คือ คลองที่เกิดจากการขุดคลองดักน้ำที่ไหลหลากจากที่สูง คล้ายการทำรางน้ำดักน้ำบนหลังคาบ้าน แล้วลำเลียงน้ำจากสูงไปต่ำเป็นสระน้ำขั้นบันได เพื่อให้น้ำไหลไปรวมกันไว้ในสระแก้มลิง เป็นต้น รวมทั้งใช้ภูมิปัญญาและเทคโนโลยีอื่น ๆ เข้ามาช่วยแก้ปัญหา ชุมชนมีการตั้งกติกาการใช้น้ำร่วมกัน หากน้ำอยู่ในระดับวิกฤติจะลดการใช้น้ำครอบครัวละไม่เกิน 10 ลบ.ม./เดือน เพื่อรักษาปริมาณน้ำ
พอได้มีการวางแผนในการบริหารจัดการน้ำ จึงทำการเก็บน้ำในปี 2559-2560 เพื่อใช้ใน 4 ปี ข้างหน้า (2561-2564) ซึ่งน้ำฝนจะถูกดักไว้ด้วยคลองฟ้าประธานชล ก่อนจะไหลตามคลองไส้ไก่ที่ชาวบ้านบริจาคพื้นที่บางส่วนให้น้ำไหลผ่าน ลงสู่ “หนองผักหวาน” ที่สูงจากน้ำทะเลประมาณ 214 ม.รทก. ซึ่งถือเป็นสระแก้มลิง สามารถเก็บน้ำได้กว่า 80,000 ลบ.ม. สำรองฝนทิ้งช่วงได้กว่า 300 ไร่ เกษตรกรฤดูแล้งใช้น้ำได้กว่า 20 ไร่ และสามารถใช้เพื่ออุปโภคบริโภคจำนวน 90 ครัวเรือน ประชากร 400 คน จากเดิมที่เก็บได้เพียง 25,000 ลบ.ม. เท่านั้น
อีกส่วนจะไหลไปยัง “หนองฝายบ้าน” ซึ่งอยู่ในระดับต่ำ สูงจากน้ำทะเลเพียง 202 ม.รทก. เป็นหนองน้ำภายในหมู่บ้าน ชาวบ้านใช้อุปโภคบริโภค จากเดิมกักเก็บน้ำได้ 20,000 ลบ.ม. แต่มีการใช้น้ำปีละกว่า 9,000 ลบ.ม. สำหรับ 75 ครัวเรือน ในปัจจุบันสามารถเก็บน้ำได้ 90,000 ลบ.ม.
หนองฝายบ้าน เหลือน้ำเพียง 3,000-4,000 ลบ.ม.
"อย่างไรก็ตาม หนองฝายบ้านซึ่งเป็นบ่อใหญ่ที่สุด แต่ขณะนี้มีน้ำเหลือ 3,000-4,000 ลบ.ม. ซึ่งถือว่าน้อยเมื่อเข้าสู่ปีที่ 4 จากการคำนวนน้ำที่คาดเคลื่อน คำนวนเพียงน้ำสำหรับไว้ใช้ ไม่ได้คำนวนน้ำที่สูญเสียคือน้ำที่ซึมลงใต้ดินหรือเกิดจากการระเหย ดังนั้น น้ำที่สำรองได้ 90,000 ลบ.ม. สามารถใช้ได้เพียง 3 ปีกว่าเท่านั้น แต่ความจริงต้องสำรองมากถึง 120,000 ลบ.ม. เพื่อใช้ได้ 4 ปี จึงต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป” พิชาญ กล่าว
จากการจัดการโครงสร้างน้ำในพื้นที่ ขุดลอกหนองและขุดลอกคลองดักน้ำหลาก และคลองซอยเชื่อมต่อคลองส่งน้ำเดิมในพื้นที่ สามารถบรรเทาปัญหาภัยแล้ง น้ำท่วม ได้กว่า 60 ครัวเรือน พื้นที่เกษตร 200 ไร่ คิดเป็นมูลค่า 1,200,000 บาทต่อปี มีการสำรองน้ำในระบบ ด้วยสระประจำไร่นา ขุดสระแก้มลิง ติดโซล่าร์เซลล์พระราชทาน ลดการใช้พลังงานสิ้นเปลือง
พร้อมกันนี้ ชุมชนยังได้ปรับเปลี่ยนวิถีการเพาะปลูกเกษตรทฤษฎีใหม่ จากปลูกพืชเชิงเดี่ยว สู่การทำเกษตรผสมผสาน ลดรายจ่ายในครัวเรือน 384,000 บาทต่อปี เพิ่มรายได้เฉลี่ย 576,000 – 960,000 บาทต่อปี มีสมาชิกเครือข่ายขยายผลและเครือข่ายที่ขยายผลด้วยตนเองควบคู่กองทุนสระรวม 68 ราย
- เกษตรผสมผสาน สร้างรายได้ครอบครัว
"คำมี ปุ้งโพธิ์" เกษตรกรที่หันมาปลูกพืชผสมผสานพร้อมจัดพื้นที่สำรองน้ำ เล่าว่า จากเดิมเคยไปทำงานที่กรุงเทพฯ 2 รอบ สุดท้ายตัดสินใจกลับมาปลูกพืชที่บ้าน โดยก่อนหน้านี้ ปลูกมันเพียงอย่างเดียว ใช้แหล่งน้ำธรรมชาติตามฤดูกาลบางปีไม่มีฝน เจอน้ำแล้งหนักมาก ต่อมาได้เข้าร่วมโครงการจัดการน้ำชุมชนฯ มีการจัดสรรที่ดินให้เหมาะสมกับพื้นที่ ปลูกพืชผสมผสาน มีการเสริมระบบสำรองน้ำด้วยสระและถังสำรองน้ำ เพื่อกระจายน้ำภายในแปลง ทำให้สามารถลดรายจ่ายในครัวเรือนลงได้ 30,000 บาท/ปี มีรายได้เพิ่มขึ้น 200,000 บาท/ปี โดยรายหลัก คือ “ผักหวาน”
“ตอนแรกปลูกผักหวานให้ลูกหลานกิน พอกินไม่หมดจึงนำไปขาย และหาบุก กระชาย ดอกกระเจียว ฯลฯ มาปลูกเพิ่ม โดยเก็บขายตามหมู่บ้านได้วันละ 300 - 2,000 บาท หากไม่มีคนสั่งผักหวาน ก็บรรจุกล่อง 30 กล่อง กล่องละ 50 บาท ทุกวันนี้ มีเงินใช้ หมุนเวียน มีความสุข ไม่เจ็บป่วย ครอบครัวอยู่ด้วยกันพร้อมหน้า” คำมี กล่าวทิ้งท้าย