‘ศูนย์ 191’ สายด่วน  ‘ช่วย-จับ’ผู้ป่วยโควิด

‘ศูนย์ 191’ สายด่วน  ‘ช่วย-จับ’ผู้ป่วยโควิด

กรณีผู้ป่วยฉุกเฉิน 'ศูนย์ 191' จะประสานงานจัดรถฉุกเฉินมารับตัวผู้ป่วยโดยเร็วที่สุด หลังจากรับแจ้งเหตุ 30 นาที จะมีการโทรกลับไปยังผู้แจ้ง สอบถามสถานะรับตัวผู้ป่วยอีกครั้งว่าได้รับบริการหรือไม่

การตั้งศูนย์รับแจ้งเหตุฉุกเฉินผู้ป่วย ‘โควิด’ หรือ ‘ศูนย์ 191’ ของ ‘บิ๊กปั๊ด’ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.)ไม่เพียงแต่แบ่งเบาภาระสายด่วน 1168, 1669 และ 1330 ของกระทรวงสาธารณสุข เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ติดเชื้อเข้ารับการรักษาตามระบบอย่างทันท่วงทีแล้ว ยังทำหน้าที่สืบหาตัวผู้ป่วยหลบเลี่ยงการรักษาหรือกักตัวอีกด้วย

ถือเป็นนโยบายและข้อห่วงใยของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะ ผอ.ศบค. สั่งการให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติเพิ่มช่องทางการติดต่อสื่อสารให้กับประชาชนเพื่อแจ้งเหตุฉุกเฉินผู้ป่วยโควิดที่นับวันจะเพิ่มมากขึ้น ควบคู่กับการติดตามผู้ป่วยหลบหนีให้มารับการรักษาเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ

จึงเป็นที่มาของการตั้งศูนย์ดังกล่าว จำนวน 1200 คู่สาย มีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 24 ชั่วโมง โดยใช้ระบบ Government Big Data institute (GBDi) ซึ่งเป็นระบบฐานข้อมูลที่กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พัฒนาร่วมกันเป็นตัวกลางรวบรวมข้อมูลผู้ป่วยโควิดทั้งหมด

สำหรับขั้นตอน เมื่อผู้ป่วยโทรมายังศูนย์ 191 เจ้าหน้าที่จะสอบถามข้อมูลผู้แจ้งจากชุดคำถามที่กำหนดโดยกรมควบคุมโรค บันทึกข้อมูลลงระบบ GBDi จากนั้นระบบจะแจ้งไปยังศูนย์ 1668 และ 1669 ของกระทรวงสาธารณสุขทันที

กรณีผู้ป่วยฉุกเฉินศูนย์ 191 จะวิทยุสื่อสารไปยังศูนย์เอราวัณ 1669 เพื่อจัดรถฉุกเฉินมารับตัวผู้ป่วยโดยเร็วที่สุด หลังจากรับแจ้งเหตุ 30 นาที จะมีการโทรกลับไปยังผู้แจ้ง สอบถามสถานะรับตัวผู้ป่วยอีกครั้งว่าได้รับบริการหรือไม่ หากยังไม่ได้รับบริการ ก็จะช่วยประสานงานอย่างใกล้ชิด

ทั้งนี้ ศูนย์ 191 จะทำหน้าที่ประสานงานและสืบหาตัวผู้ป่วยหลบหนี ที่ไม่ยินยอมเข้ารับการรักษา หรือกักตัวตามคำสั่งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ เช่น ปิดโทรศัพท์ หรือ จงใจไม่รับโทรศัพท์ โดยจะเน้นทำความเข้าใจ และเชิญตัวผู้ป่วยเข้ารับการรักษาต่อไป

เราได้มีการทดสอบระบบ GBDi แล้ว สามารถเชื่อมข้อมูลกันได้อย่างดี ส่วนวิทยุสื่อสารจะใช้ระบบดิจิทัล หรือ PS-LTE เนื่องจากมีประสิทธิภาพและความปลอดภัยสูง ซึ่งจะเป็นการรักษาความลับของผู้ป่วยและคุ้มครองสิทธิส่วนบุคคลของผู้ป่วย อีกทั้งยังทราบพิกัดของผู้ใช้งาน และเปิดกล้องวีดีโอเหมือนโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้อีกด้วย” ผบ.ตร. ระบุ

ในขณะเดียวกัน‘พล.ต.อ.สุวัฒน์’ กำชับให้ประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจกับประชาชนสวมหน้ากากอนามัยป้องกันแพร่ระบาด ‘โควิด’
เมื่อออกนอกเคหะสถาน หลังผู้ว่าราชการจังหวัดได้ออกประกาศเพิ่มเติมรวมบังคับใช้จำนวน 70 จังหวัด ตาม พ.ร.บ.ควบคุมโรค เนื่องจากล่าสุดดำเนินคดี สั่งปรับผู้ฝ่าฝืนไปแล้ว 13 ราย

ขณะที่ โรงพยาบาลตำรวจก็เป็นอีกส่วนของสำนักงานตำรวจที่แบ่งเบาภาระโดย พล.ต.ท.โสภณรัช สิงหจารุ แพทย์ใหญ่ เปิดเผยข้อมูลว่า ขณะนี้โรงพยาบาลตำรวจรับรักษาผู้ป่วยติดเชื้อในความดูแลกว่า 500 คน อยู่ในโรงพยาบาลสนามชั่วคราว และหอพักผู้ป่วยในโรงพยาบาลตำรวจ โดยยังต้องรับดูแลในเรื่องของสถานที่กักตัวกลุ่มเสี่ยงอีกจำนวนหนึ่ง
 

โดยได้จัดเกณฑ์​คัดกรองผู้ป่วยผู้ติดเชื้อไว้ 3 กลุ่มสี คือ ผู้ติดเชื้อรุนแรงที่ต้องเข้ารับการรักษา ไอซียู จัดอยู่ในกลุ่มเป็นสีแดง ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการแต่ไม่รุนแรง จัดอยู่ในกลุ่มสีเหลือง และ กลุ่มสุดท้ายเป็น ผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการรุนแรง แต่มีผลตรวจเป็นบวก จัดเป็นกลุ่มสีเขียว โดยให้ส่งต่อไปยังโรงพยาบาลสนาม 

ทั้งนี้ ผบ.ตร.ได้มีคำสั่งตั้งโรงพยาบาลสนามชั่วคราว 2 แห่ง คือ อาคารเอนกประสงค์วิทยาลัยพยาบาลตำรวจ จำนวน 96 เตียง และโรงพยาบาลดารารัศมี จำนวน 20 เตียง เพื่อแบ่งเบาภาระสถานพยาบาล รองรับข้าราชการตำรวจ และ ครอบครัว ติดเชื้อโควิด

ควบคู่กับการจัดตั้ง Hospitel ที่อยู่ระหว่างการประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการขอขึ้นทะเบียน เพื่อดูแลรักษาผู้ติดเชื้อที่สามารถดูแลสุขภาพตนเองได้ มีอาการไม่รุนแรง ที่ไม่จำเป็นต้องอาศัยอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ซับซ้อน แต่ยังอยู่ในระยะการแพร่เชื้อ เพื่อให้โรงพยาบาลตำรวจสามารถรองรับผู้ป่วยหนักได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงเป็นอีกหน่วยงานสำคัญที่เข้าร่วมภารกิจสำคัญครั้งนี้