กทม. นำร่องโมเดล ใช้ยา 'ฟาวิพิราเวียร์' ในผู้ป่วยสีเขียว ไวรัสสูง
จากผู้ป่วยโควิดจำนวนมาก โดยเฉพาะในพื้นที่ กทม. ทำให้ต้องเพิ่มจำนวนเตียง รพ.สนาม และใน Hospitel รวมถึงจะมีการนำยา “ฟาวิพิราเวียร์” ยาต้านโควิด-19 แก่ผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 กลุ่มสีเขียวรายใหม่ ที่มีปริมาณไวรัสสูง ตามดุลยพินิจของแพทย์
ปัจจุบันปริมาณยา "ฟาวิพิราเวียร์" มี 1.6 ล้านเม็ด ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้มีการแจกจ่ายไปยังรพ. ทั้งในกรุงเทพมหานคร และภูมิภาคทุกเขตสุขภาพ มากกว่า 20 โรงพยาบาลทั่วประเทศ ซึ่ง ตั้งแต่วันที่ 26-30 เม.ย. 2564 มีการกระจายยาไปยังทุกจังหวัดที่มีผู้ป่วยทุกเขตสุขภาพแล้ว 765,600 เม็ด รวมทั้งมีการวางแผนจัดส่งยาฉุกเฉิน โดยองค์การเภสัชกรรม ผ่านทางสายการบินพาณิชย์ และรถโดยสารในจังหวัดที่ไม่มีสนามบินไว้ด้วย และจะสั่งจากญี่ปุ่นอีก 2 ล้านเม็ดภายในวันที่ 12 พ.ค.นี้
การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในระลอกนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้บริหารจัดการยา "ฟาวิพิราเวียร์" (Favipiravir) มีระบบบริหารจัดการจากส่วนกลาง ซึ่งเป็นหน่วยสำรองยาระดับประเทศ และกระจายยาไปโรงพยาบาลในทุกจังหวัดที่รับผู้ป่วย พร้อมทั้งสำรองในโรงพยาบาลแม่ข่ายทั้งในกรุงเทพมหานครและภูมิภาคทุกเขตสุขภาพ เช่น ในกรุงเทพมหานคร โรงพยาบาลราชวิถี โรงพยาบาลในสังกัดมหาวิทยาลัย สังกัดกรุงเทพมหานครเป็นแม่ข่าย กระจายยาให้ทั้งภาครัฐและเอกชนทุกสังกัด
ซึ่ง รพ.ที่ได้รับการจัดสรรแล้ว ได้แก่ โรงพยาบาลราชวิถี 190,500 เม็ด โรงพยาบาลนครพิงค์ 48,000 เม็ด โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า 78,200 เม็ด โรงพยาบาลชลบุรี 70,000 เม็ด โรงพยาบาลหาดใหญ่ 18,500 เม็ด โรงเรียนแพทย์ แห่งละ 4,000 – 6,000 เม็ด และโรงพยาบาลภาคเอกชนกว่าแสนเม็ด รวมทั้งมีการวางแผนจัดส่งยาฉุกเฉิน โดยองค์การเภสัชกรรม ผ่านทางสายการบินพาณิชย์ และรถโดยสารในจังหวัดที่ไม่มีสนามบินไว้ด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
- จ่าย “ฟาวิพิราเวียร์” ผู้ป่วยรายใหม่
ในส่วนของพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งมีผู้ป่วยจำนวนมาก “พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง” ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้เพิ่มจำนวนเตียงในรพ.สนาม และประสานกับโรงแรมเพิ่มเตียงใน Hospitel อย่างละ 1 แห่ง รวมถึงจะมีการนำยา “ฟาวิพิราเวียร์” ยาต้านโควิด-19 แก่ผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 กลุ่มสีเขียวรายใหม่ ที่มีปริมาณไวรัสสูง ที่เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลสนาม ตามดุลยพินิจของแพทย์ เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยโควิดเขียวติดเชื้อลุกลาม หรือ มีอาการรุนแรงขึ้น ซึ่งเชื่อว่ากลุ่มคนเหล่านี้หากได้รับยาตั้งแต่แรกได้และรักษาต่อเนื่องเป็นระยะเวล า5-10 วัน จะช่วยรักษาไม่ให้กลายเป็นผู้ป่วยระดับสีเหลืองหรือสีแดงในอนาคตได้ แต่สิ่งกลุ่มผู้ป่วยสีเขียวนี้ต้องให้ความยินยอมในการรักษาด้วย
ทั้งนี้ กทม.จะจัดให้มีระบบการจัดเก็บข้อมูลจากการรักษา รวมทั้งมีมาตรการป้องกันผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นจากการรักษา เพื่อปกป้องผู้ที่เข้าร่วมการรักษาและต้องมีการประเมินผลว่าการดำเนินตามนี้จะมีผลดีต่อการรักษาด้วยยาอย่างไร หรือจะมีผลทำให้เกิดเชื้อดื้อยาในอนาคตหรือไม่ ซึ่งจะเป็นไปภายใต้การควบคุมของแพทย์ มีการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผลมีระบบการติดตามผลและประเมิน ซึ่งราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จะร่วมให้คำแนะนำในการศึกษาติดตามและประเมินผลครั้งนี้ด้วยและหากพบว่าการรักษาตามที่ กทม.กำหนดครั้งนี้เกิดประโยชน์อาจนำไปเพิ่มเติมในคำแนะนำในการดูแลรักษาระดับประเทศต่อไปในอนาคตได้
ปัจจุบันนี้กรุงเทพฯ มีผู้ป่วยสะสมในพื้นที่ 1,478 ราย ในระดับสีเขียว คืออาการเพียงเล็กน้อย กว่า 1,241 ราย ระดับสีเหลือง 199 ราย และระดับสีแดง 38 ราย ที่ยังไม่ได้รับยา ซึ่งจะได้รับยาต่อเมื่อเลื่อนระดับอาการเป็นสีเหลืองและแดง คือมีปอดอักเสบและอาการรุนแรง ขณะนี้ กทม.ได้จัดซื้อมา 50,000 เม็ด และได้รับพระราชทานฯ อีก 50,000 เม็ด รวมเป็น 100,000 เม็ด เริ่มแจกผู้ป่วยที่เข้าสู่ รพ.สนาม คนละ 50 เม็ด (กินประมาณ 5 วัน) ส่วนระยะต่อไป กทม.จะซื้อยาฟาวิพิราเวียร์ผ่านทางมูลนิธิฯ อีก 500,000 เม็ด
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
- หวั่นใช้ ยาฟาวิฯ ใน รพ.สนาม มากไป อาจดื้อยา
ขณะที่ "นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน" โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.)มองว่า การให้ยาฟาวิพิราเวียร์แก่ผู้ป่วยที่เข้า รพ.สนาม จำเป็นต้องมีข้อบ่งชี้ หรือเฉพาะกลุ่มจริงๆ จะทำให้ 1.ประหยัด 2.ผลการรักษาจะดี และ 3.ให้มากเกินไปอาจดื้อยาได้ เนื่องจากไวรัสเหล่านี้แปรเปลี่ยนได้ ดังนั้น ในเชิงการบริหารยาจำเป็นต้องได้รับความเชี่ยวชาญจากแพทย์ก่อน
ทั้งนี้ "ยาฟาวิพิราเวียร์" เป็นยาที่ให้ในผู้ป่วยที่เริ่มมีอาการ ตามแนวทางการรักษาภายใต้การดูแลของแพทย์ ปัจจุบันไทยนำเข้าจากประเทศญี่ปุ่นขณะเดียวกัน รัฐบาลไทยก็มีนโยบายที่จะให้ไทยเป็นฐานการผลิตยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) ในภูมิภาค ขณะนี้ได้ให้องค์การเภสัชกรรมเร่งดำเนินการตามขั้นตอนเพื่อเจรจากับผู้ขอรับสิทธิบัตร เพื่อให้ได้สิทธิผลิตยาชนิดนี้ในประเทศไทยได้เอง เพื่อให้สามารถใช้รักษาผู้ป่วยโควิดและจัดหายาให้เพียงพอต่อความจำเป็นอย่างทันท่วงที พร้อมทั้งพัฒนาตำรับยาขึ้นใหม่จากสารออกฤทธิ์หลักของยาฟาวิพิราเวียร์ที่ไม่มีสิทธิบัตรในประเทศไทย ซึ่งสามารถดำเนินการได้ทันทีโดยไม่ต้องรอผลการพิจารณาคำขอรับสิทธิบัตรในยาฟาวิพิราเวียร์รูปแบบยาเม็ด
“ภญ.ศิริกุล เมธีวีรังสรรค์” รองผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า ขณะนี้ได้ดำเนินการผลิตยา favipiravir 200 mg tablet ในระดับอุตสาหกรรมเรียบร้อยแล้ว ซึ่งยาที่ผลิตได้นี้ ขณะนี้อยู่ระหว่างการนำไปศึกษาชีวสมมูลในอาสาสมัครสุขภาพดี เพื่อศึกษาความเท่าเทียมกันในการรักษาเปรียบเทียบกับยาต้นแบบ ซึ่งมีกำหนดจะแล้วเสร็จและสามารถยื่นข้อมูลขึ้นทะเบียนให้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)ได้ประมาณมิถุนายน - กรกฏาคม 2564 สำหรับการผลิตเพื่อจำหน่ายนั้นจะสามารถดำเนินการได้ภายหลังการได้ทะเบียนตำรับยาจาก อย.
นอกจากนี้ ในระยะยาวองค์การฯ ยังได้ร่วมมือกับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในการวิจัยและพัฒนากระบวนการสังเคราะห์วัตถุดิบยา Favipiravir ในระดับห้องปฏิบัติการ และขยายขนาดการผลิตสู่กึ่งระดับอุตสาหกรรม ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ในการสร้างโรงงานสังเคราะห์วัตถุดิบยา Favipiravir และวัตถุดิบยาจำเป็นอื่น ๆ สำหรับการผลิตวัตถุดิบในระดับอุตสาหกรรม ทั้งนี้เพื่อสร้างความมั่นคงยั่งยืนและการพึ่งพาตนเองด้านยาให้กับประเทศไทย