เกษตรเอกซเรย์สารตกค้างผัก ผลไม้ ตรวจเพิ่มกลุ่มพืชเสี่ยงนอกระบบ GAP
กรมวิชาการเกษตร ลุยตรวจสารตกค้างผัก ผลไม้ สร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภค ปรับแผนปี 64 ตรวจเพิ่มครอบคลุมผัก ผลไม้ ไม่เข้ามาตรฐาน GAP และกลุ่ม PGS รวมกว่า 900 ตัวอย่างทั่วประเทศ พบปลอดภัยตามมาตรฐานกระทรวงสาธารณสุขเกินครึ่ง
ส่วนผลผลิตไม่ผ่านรุดแจ้งเตือนแหล่งจำหน่าย จี้หน่วยงานในพื้นที่เร่งตรวจสอบ หากพบไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานพักใช้ใบรับรอง พร้อมส่งสารวัตรเกษตรบุกร้านค้าหากพบลักลอบขายสารต้องห้ามจับดำเนินคดีทันที
นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่าในปี 2564 นี้กรมวิชาการเกษตรได้สุ่มตรวจติดตามเฝ้าระวังสารตกค้างในผักและผลไม้ที่ได้รับการรับรองตามมาตรฐาน GAP จากแปลงและแหล่งจำหน่าย ซึ่งเป็นโครงการตรวจติดตามที่ทำต่อเนื่องทุกปี โดยเน้นสุ่มตรวจชนิดผักและผลไม้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่มีการแจ้งเตือนตรวจพบสารตกค้างบ่อยครั้ง เช่น พริก ถั่วฝักยาว แตงกวา มะเขือเทศ คะน้า ผักกาดขาว ส้ม และฝรั่ง
โดยในปีนี้กรมวิชาการเกษตรได้ปรับแผนขยายขอบข่ายสุ่มตรวจติดตามเฝ้าระวังสารตกค้างในผักผลไม้ครอบคลุมไปถึงผลผลิตที่ไม่ได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP และสินค้าที่ได้รับการรับรองแบบมีส่วนร่วม (PGS) รวมทั้งยังสุ่มตรวจผักและผลไม้ที่อาจมีการลักลอบใช้วัตถุอันตรายที่ห้ามใช้แล้วในประเทศด้วย
จากการดำเนินการสุ่มเก็บตัวอย่างพืชที่ได้รับการรับรอง GAP จำนวน 706 ตัวอย่าง ผลการวิเคราะห์สารตกค้างพบเป็นไปตามมาตรฐาน 608 ตัวอย่าง สุ่มเก็บตัวอย่างพืชที่ไม่ได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP จากศูนย์กระจายสินค้า ตลาดค้าส่ง ตลาดค้าปลีก และห้างสรรพสินค้า จำนวน 202 ตัวอย่าง ผลการวิเคราะห์พบตัวอย่างพืชที่ผ่านเกณฑ์เป็นไปตามมาตรฐานกระทรวงสาธารณสุข จำนวน 137 ตัวอย่าง ไม่ผ่านเกณฑ์ จำนวน 73 ตัวอย่าง ได้แก่ พริก ผักชี คะน้า กวางตุ้ง โหระพา แมงลัก ใบบัวบก มะเขือเทศ ขึ้นฉ่าย ต้นหอม ถั่วฝักยาว ถั่วหวาน ถั่วแขก หัวไชเท้า มะระ ส้ม แก้วมังกร ฝรั่ง กล้วย และพุทรา รวมทั้งพบสารตกค้างคลอร์ไพริฟอสซึ่งเป็นสารที่ประเทศไทยห้ามใช้แล้ว จำนวน 14 ตัวอย่าง ได้แก่ ส้ม (3 ตัวอย่าง) พริก (2 ตัวอย่าง) มะม่วง มะเขือเทศ ผักชีฝรั่ง ใบบัวบก โหระพา แมงลัก หัวไชเท้า ฝรั่ง และพุทรา
สุ่มเก็บตัวอย่างพืชในกลุ่มที่ได้รับการรับรองแบบมีส่วนร่วม ( PGS) จำนวน 38 ตัวอย่าง พบผ่านเกณฑ์เป็นไปตามมาตรฐาน จำนวน 33 ตัวอย่าง ไม่ผ่านเกณฑ์จำนวน 5 ตัวอย่าง ได้แก่ พริก โหระพา ขึ้นฉ่าย วอเตอร์เครส และแตงร้าน รวมทั้งพบสารตกค้างคลอร์ไพริฟอสจำนวน 2 ตัวอย่าง ได้แก่ วอเตอร์เครส และแตงร้าน
“หากคิดเป็นเปอร์เซ็นต์จะพบว่าผักและผลไม้ที่ได้รับการรับรอง GAP ผ่านตามเกณฑ์มาตรฐาน 86 เปอร์เซ็นต์ ส่วนสินค้าที่ไม่ได้รับการรับรอง GAP ผ่านเกณฑ์มาตรฐานกระทรวงสาธารณสุข 67 เปอร์เซ็นต์ และสินค้าที่ได้รับการรับรองแบบมีส่วนร่วม(PGS) ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน 86 เปอร์เซ็นต์ “
ในส่วนของพืชที่พบไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน กรมวิชาการเกษตรได้แจ้งข้อมูลการตรวจพบให้แหล่งจำหน่ายได้ทราบ เพื่อทำการตรวจสอบและฝ้าระวังความปลอดภัยของสินค้าร่วมกัน ซึ่งในส่วนของผลผลิตที่ได้รับการรับรอง GAP ได้แจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ของกรมวิชาการเกษตรเข้าทวนสอบย้อนกลับ เพื่อหาสาเหตุและดำเนินการแก้ไขอย่างเร่งด่วน หากพบเกษตรกรไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจะมีหนังสือแจ้งเตือนให้ทำการแก้ไขภายในกำหนด หากไม่แก้ไขจะสั่งพักใช้ใบรับรอง
กรณีที่เกษตรกรใช้วัตถุอันตรายที่ห้ามใช้ในประเทศจะแจ้งเตือนและให้ปรับปรุงระบบการผลิต หากแนวทางปรับปรุงแก้ไขไม่ได้ผลและตรวจพบปัญหาซ้ำจะพักใช้ใบรับรองแหล่งผลิตพืช
รวมทั้งได้สั่งการให้สารวัตรเกษตรเข้าไปตรวจสอบร้านจำหน่ายสารเคมีในพื้นที่ที่มีการตรวจพบตัวอย่างสินค้าพืชที่พบสารตกค้างที่ห้ามใช้แล้วเพื่อดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป ทั้งนี้กรมวิชาการเกษตรยังมีแผนที่จะบูรณาการปฏิบัติงานตรวจ ติดตาม และเฝ้าระวัง สารตกค้างในผักและผลไม้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ในเร็วๆ นี้ต่อไปด้วย