สศช.ชี้“ส่งออก”เคลื่อนศก.ปี64 ดันการค้าฟื้นดึงลงทุนเพิ่ม

สศช.ชี้“ส่งออก”เคลื่อนศก.ปี64   ดันการค้าฟื้นดึงลงทุนเพิ่ม

การส่งออกในไตรมาสที่ 1/2564 ของไทยใน มีมูลค่า 64,004 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 5.3% กลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ไตรมาส ตามการเพิ่มขึ้นของทั้งปริมาณและราคาสินค้าส่งออก สอดคล้องกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและราคาสินค้าในตลาดโลก

สัญญาณการส่งออกที่ปรับตัวดีขึ้นกำลังเป็นความหวังท่ามกลางวิกฤติโควิดที่ไล่ทุบทำลายเศรษฐกิจไทยในขณะนี้

162169409143

ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวถึงแนวโน้มการส่งออกในปี 2564 ว่าถือว่าเป็นเครื่องยนต์เศรษฐกิจหลักควบคู่ไปกับการลงทุนภาครัฐที่จะช่วยขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจในปีนี้ขยายตัวได้ โดยการส่งออกในปีนี้ได้อานิสงค์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศเศรษฐกิจสำคัญๆที่เริ่มมีการกระจายวัคซีนให้กับประชาชนได้มากขึ้นทำให้เศรษฐกิจกลับมาขับเคลื่อนได้

การฟื้นตัวของภาคการส่งออกทำให้ประเทศไทยซึ่งเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมหลายชนิดมีการส่งออกที่เพิ่มขึ้น โดยภาคการผลิตในอุตสาหกรรมที่ใช้กำลังการผลิตสูง 5 อันดับแรกมีการใช้กำลังการผลิตสูงมากกว่า 80% เช่นการผลิตพลาสติกและยางสังเคราะห์ขั้นต้น99.36%การผลิตชิ้นส่วนและ อุปกรณ์เสริมสำหรับยานยนต์88.90% การผลิตน้ำตาล86.42% การผลิตเยื่อกระดาษ กระดาษ และกระดาษแข็ง83.81% เป็นต้น 

การใช้กำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นในหลายอุตสาหกรรมที่สูงกว่าระดับ 70% จะทำให้เกิดการลงทุนเพิ่มขึ้นของภาคเอกชนในการนำเข้าสินค้าทุน รวมทั้งเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่จำเป็นสะท้อนได้จากการนำเข้าสินค้าทุนและสินค้านำเข้าอื่น ๆ ปรับตัวเพิ่มขึ้นทุกหมวดสินค้าโดยในไตรมาสที่ 1 โดยเฉพาะการนำเข้าสินค้าทุนมีการนำเข้าเพิ่มขึ้นถึง 10.1%

“การขยายตัวของการส่งออกที่เพิ่มขึ้นเป็นสัญญาณที่ชัดเจนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ดีขึ้น ซึ่งประเทศไทยเป็นฐานการส่งออกก็ได้ประโยชน์จากส่วนนี้ ซึ่งในไตรมาสที่ผ่านมาการส่งออกที่เพิ่มขึ้นก็ทำให้การใช้กำลังการผลิตในหลายอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นด้วย โดยปกติเมื่อมีการใช้กำลังการผลิตสูงกว่า 70% เอกชนก็จะอาจจะตัดสินใจขยายกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นซึ่งก็เริ่มเห็นจากการนำเข้าสินค้าที่เป็นสินค้าทุนต่างๆ ซึ่งในส่วนนี้ก็จะช่วยให้เศรษฐกิจขยายตัวเพิ่มจากการลงทุนของเอกชนซึ่งภาครัฐก็ต้องเร่งการลงทุนในส่วนของภาครัฐควบคู่ไปด้วย” 

อย่างไรก็ตาม ประเด็นสำคัญที่ต้องให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนการส่งออกของประเทศไทยยังจำเป็นที่จะต้องแสวงหาความร่วมมือกับประเทศและกลุ่มประเทศต่างๆเช่นยูโรโซน สหราชอาณาจักร และการเข้าร่วมข้อตกลงทางการค้าเพิ่มเติมเพื่อขยายตลาดการส่งออกของประเทศ ขณะเดียวกันก็ต้องดำเนินมาตรการในการปกป้องฐานการผลิตอุตสาหกรรมของประเทศโดยการเร่งกระจายวัคซีนให้กับแรงงานและสถานประกอบการในกลุ่มนี้อย่างรวดเร็ว การดำเนินมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโควิดในโรงงานและสถานประกอบการเพื่อไม่ให้การระบาดของโควิดกระทบกับภาคการส่งออกที่เป็นเครื่องยนต์สำคัญของเศรษฐกิจของประเทศในปีนี้ 

162169418221

ทั้งนี้ในปี 2564 สศช.คาดการณ์ว่าการส่งออกจะขยายตัว 10.3% เทียบกับการลดลง 6.6% ในปี 2563 และเป็นการปรับเพิ่มจากการขยายตัว 5.8% ในการประมาณการครั้งที่ผ่านมา โดยคาดว่าปริมาณการส่งออกสินค้าจะขยายตัว 7.3% สูงกว่า3.8% ในการประมาณการครั้งก่อน สอดคล้องกับการปรับเพิ่มสมมติฐานการขยายตัวของเศรษฐกิจและปริมาณ การค้าโลก รวมทั้งการปรับเพิ่มสมมติฐานราคาส่งออกสินค้าจากการเพิ่มขึ้น 2% เป็น 3% 

นอกจากนี้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลักมีแนวโน้มที่จะช่วยให้เศรษฐกิจกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมใหม่และ กลุ่มประเทศอาเซียนที่พึ่งพิงรายได้จากการส่งออกเป็นหลักฟื้นตัวได้มากขึ้น  อย่างไรก็ตาม การการคาดการณ์ค่าเงินบาทเฉลี่ยทั้งปี 2564 คาดว่าจะอยู่ในช่วง 29.8 – 30.8 บาทต่อดอลลาร์แข็งค่าขึ้นจากค่าเฉลี่ย 31.3 บาทต่อดอลลาร์ ในปี 2563 สอดคล้องกับเศรษฐกิจไทยที่ยังคงเผชิญกับข้อจำกัดในการฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดระลอกใหม่ และการลดลงของรายรับจากการท่องเที่ยวที่ส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดมีแนวโน้มเกินดุลลดลง