'สหรัฐ-อียู'รุมประนามเบลารุสบังคับเครื่องบินลงจอดเพื่อรวบตัวนักข่าว
'สหรัฐ-อียู'รุมประนามเบลารุสบังคับเครื่องบินลงจอดเพื่อรวบตัวนักข่าว ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนี้ถือเป็นการฝ่าฝืนระเบียบการเดินทางทางเครื่องบินของยุโรปอย่างร้ายแรงและไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
รัฐบาลสหรัฐ และสหภาพยุโรป (อียู) แสดงท่าทีไม่พอใจอย่างมาก หลังรัฐบาลเบลารุสส่งเครื่องบินเจ็ตเข้าประกบเครื่องบินของสายการบินไรอันแอร์ที่บินจากกรุงเอเธนส์ไปยังกรุงวิลนีอุสผ่านน่านฟ้าเบลารุส โดยทางการเบลารุสบังคับให้เครื่องบินสายการบินไรอันแอร์ร่อนลงจอดในกรุงมินสก์ ก่อนจะเข้าจับกุมนายโรมัน ปราตาเซวิช ซึ่งเป็นผู้สื่อข่าวที่โดยสารมาในเครื่อง
เหตุการณ์ครั้งนี้ถือเป็นการฝ่าฝืนระเบียบการเดินทางทางเครื่องบินของยุโรปอย่างร้ายแรงและไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
โฆษกสายการบินไรอันแอร์ระบุว่า ลูกเรือของเที่ยวบินดังกล่าวได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่เบลารุสว่ามีบุคคลที่อาจเป็นภัยต่อความมั่นคงโดยสารมาในเครื่อง และเมื่อเครื่องลงจอดที่กรุงมินสก์ เจ้าหน้าที่เบลารุสก็ได้ทำการจับกุมนายปราตาเซวิช ซึ่งเป็นอดีตบรรณาธิการบริหารของหนึ่งในช่องทางข่าวสารบนแอปพลิเคชันเทเลแกรมที่มีผู้ติดตามมากที่สุดในเบลารุส
รวมถึงเป็นผู้สื่อข่าวที่ทำหน้าที่รายงานข่าวการประท้วงต่อต้านประธานาธิบดีอเล็กซานเดอร์ ลูกาเชนโก ซึ่งชนะการเลือกตั้งในปี 2563 โดยมีข้อครหาจากหลายฝ่ายทั่วโลก
นายแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐกล่าวว่า สหรัฐขอประนามการบังคับให้เครื่องบินที่เดินทางระหว่างประเทศสมาชิกอียูต้องลงจอดนอกจุดหมาย รวมถึงการควบคุมตัวและจับกุมผู้สื่อข่าวอย่างนายโรมัน ปราตาเซวิชด้วย
รายงานเบื้องต้นระบุว่า มีหน่วยงานความมั่นคงของเบลารุสเข้ามาเกี่ยวข้องในเหตุการณ์นี้ และมีการใช้เครื่องบินของกองทัพอากาศเบลารุสเพื่อบังคับเครื่องบินให้ลงจอด ซึ่งน่ากังวลอย่างยิ่ง และจำเป็นต้องมีการสอบสวนโดยละเอียดต่อไป
การบังคับให้เครื่องบินลงจอดครั้งนี้ ทำให้ประเทศสมาชิกอียูเช่น ฝรั่งเศส, กรีซ, โปแลนด์ และเยอรมนีต่างพากันประณามการตัดสินใจดังกล่าว พร้อมแสดงท่าทีโกรธเคืองอย่างยิ่ง
คาดว่าอียูอาจมีการใช้มาตรการคว่ำบาตรกับรัฐบาลเบลารุส โดยผู้นำของประเทศสมาชิกอียูจะเข้าร่วมการประชุมสุดยอดในกรุงบรัสเซลส์ในวันนี้และวันพรุ่งนี้ เพื่อพิจารณาแนวทางการตอบโต้การกระทำของรัฐบาลเบลารุส ซึ่งนางเออร์ซูลา ฟอน เดอร์ เลเยน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป (อีซี) กล่าวว่าเป็นเรื่องยอมรับไม่ได้เด็ดขาด
ด้านนายเจนส์ สโตลเตนเบิร์ก เลขาธิการชาติสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต้) กล่าวว่า “เรื่องนี้นับว่ามีความร้ายแรงและอันตรายอย่างยิ่ง จึงควรมีการสอบสวนในระดับนานาชาติ”