จับจังหวะม็อบ 2 เจน 'คลัสเตอร์'เขย่ารัฐบาล
สถานการณ์คลัสเตอร์ทั้ง 2 ม็อบเพิ่มแรงกดดันพล.อ.ประยุทธ์รอบด้าน ไปจนกว่าจะกลับมาชุมนุมได้อีกครั้ง
ถึงแม้ "พริษฐ์ ชิวารักษ์" แกนนำกลุ่มคณะราษฎร จะประกาศพร้อมเคลื่อนไหวต่อไป ภายหลังได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวเมื่อวันที่ 11 พ.ค.ที่ผ่านมา ขีดเส้นนัดการรัดมพลภายหลังสถานการณ์โควิดระลอกนี้ผ่านพ้นไป กลายเป็นพันธสัญญาไปถึงแนวร่วมการชุมนุม หลังจากแกนนำม็อบรายนี้ถูกคุมขังเป็นเวลา 92 วัน และอดอาหารประท้วงอีก 57 วัน
แต่คำถามที่มีไปถึงแกนนำม็อบขณะนี้จะเดินและเคลื่อนไหวอย่างไรบนเงื่อนไขที่ศาลกำหนดไว้ต่อการประกันตัว เมื่อเงื่อนไขการประกันตัวห้าม "แกนนำม็อบ" กระทำการใดๆ ในลักษณะเช่นเดียวกับที่ถูกกล่าวหาตามฟ้อง โดยเฉพาะกระทำสิ่งที่เสื่อมเสียแก่สถาบันพระมหากษัตริย์หรือเข้าร่วมในกิจกรรมใดที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง
แต่ที่ผ่านมาการเคลื่อนขบวนชุมนุมครั้งแรกเมื่อวันที่ 18 ก.ค.2563 ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยกลุ่มเยาวชนปลดแอก และกลุ่มสหภาพนักเรียนนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) จนถึงต้นเดือน พ.ค.2564 รวมแล้วมากกว่า 50 ครั้ง ยังปรากฏภาพแกนนำผู้ชุมนุมหลายคนยังมีคดีมาตรา 112 ติดตัวและอยู่ในช่วง "ประกันตัว" บนเงื่อนไขที่ได้จากศาลไม่ต่างกัน
หากนับแกนนำม็อบที่มีคดีตามมาตรา 112 ที่ถูกคุมขังก่อนได้การประกันตัวตามช่วงเวลาที่ต่างกันพบว่า "อานนท์ นําภา" ถูกคุมขังเป็น 113 วัน "พริษฐ์ ชิวารักษ์" 92 วัน "ภาณุพงศ์ จาดนอก" 86 วัน "สมยศ พฤกษาเกษมสุข" 74 วัน "ชูเกียรติ แสงวงค์" 73 วัน "ไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์" 70 วัน "ปริญญา ชีวินกุลปฐม" 68 วัน "ปิยรัฐ จงเทพ" 61 วัน หรือ "ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล" ถูกคุมขัง 60 วัน
การถูกล็อกโดยคำสั่งศาลอาญา ห้ามเคลื่อนไหวที่กระทบต่อเงื่อนไขการประกันตัว รวมถึงระยะเวลาที่ถูกคุมขังยาวนานในเรือนจำกำลังบีบไปถึงการตัดสินใจจาก "แกนนำทุกสาย" จะเดินต่อไปอย่างไรเพื่อเคลื่อนจุดยืนการเคลื่อนไหว แต่ไม่ผิดเงื่อนไขศาลให้ประกันตัว ทำให้ช่วงนี้แกนนำหลายคนพยายามเคลื่อนไหวประคองสถานการณ์เวทีสังคมออนไลน์และคลับเฮาส์ เพื่อวิพากษ์วิจารณ์ทุกการบริหารของรัฐบาลในสถานการณ์ขณะนี้
โดยเฉพาะการออกมาวิพากษ์วิจารณ์การอภิปรายร่างงบประมาณประจำปี 2565 ในสัดส่วนของงบประมาณหน่วยราชการสำคัญต่างๆที่ถูกนำมาเปรียบเทียบ ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่ ส.ส.ฝ่ายค้านในสภานำโดยพรรคก้าวไกล กดดันไปที่ การจัดสรรงบประมาณในรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
ประเด็นขณะนี้แกนนำม็อบกำลังรอ "ไทม์มิ่ง" ที่เหมาะสมกลับมาเคลื่อนไหวรอบใหม่ ซึ่งคาดหมายจะเป็นช่วงเดือน ต.ค. ซึ่งเป็นเดือนสัญลักษณ์แห่งการชุมนุมจากเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 ถึง 6 ตุลา 19 และเป็นช่วงเวลาเดียวกับกลุ่ม "ไทยไม่ทน คณะสามัคคีประชาชนเพื่อประเทศไทย" นำโดยอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา’ 35 วีระ สมความคิด และจตุพร พรหมพันธุ์เดินสายยื่นหนังสือกดดันองคาพยพทางการเมือง
เริ่มที่การยื่นหนังสือไปถึงพรรคประชาธิปัตย์และภูมิใจไทยลาออกจากพรรคร่วมรัฐบาล การยื่นหนังสือถึงตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ปช.) ลาออกจากตำแหน่ง หรือยื่นหนังสือถึงผู้บัญชาการทหารสูงสุด และผู้บัญชาการเหล่าทัพ ให้ลาออกจากตำแหน่ง ส.ว.
ที่สำคัญ ไทยไม่ทนฯ ยังยื่นหนังสือถึง "มีชัย ฤชุพันธ์" อดีตประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ แสดงความรับผิดชอบต่อการร่างรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งเป็นประเด็นที่ไทยไม่ทนฯ มองว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับสืบทอดอำนาจ
ไม่ใช่แค่นั้นแต่อีกฉากของคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ซึ่งเป็นอีกหนึ่งแนวร่วมสำคัญกลุ่มไทยไม่ทนฯ ยังเดินหน้าจัดอภิปรายนอกสภาที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ถ.ราชดำเนิน เมื่อวันที่ 4 มิ.ย.ที่ผ่านมารับไม้ต่อขยายประเด็นการใช้งบประมาณ การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ และการแก้ไขสถานการณ์โควิดที่ล้มเหลวของรัฐบาลชุดนี้
การเคลื่อนไหวของแกนนำม็อบ 2 กลุ่มเจเนอเรชั่นทั้ง "ออนไซต์-ออนไลน์" กำลังถูกมองการสานต่อเคลื่อนไหวในช่วงสถานการณ์ขาลงของรัฐบาลต่อการบริหารจัดการวัคซีน ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่ามีผลกระทบไปถึงทุกฐานเสียงทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มสนับสนุนหรือคัดค้านรัฐบาลหรือไม่
ถึงแม้กระแสม็อบในปี 2564 จะไม่เติบโตเทียบเท่าการเคลื่อนไหวในปี 2563 ไม่ว่าจากเงื่อนไขประกันตัวแกนนำม็อบ หรือด้วยการแพร่ระบาดไวรัสโควิด กำลังเป็นสถานการณ์ "วัดใจ" การยืนระยะของม็อบ 2 รุ่นจะเข้าเป้าได้แค่ไหน
แต่กลับเป็นสถานการณ์ที่คลัสเตอร์ทั้ง 2 ม็อบมั่นใจว่า การอยู่บนกระดานกดดันรัฐบาลต่อไปจะเพิ่มแรงส่งกดดันพล.อ.ประยุทธ์รอบด้าน ไปจนกว่าจะกลับมาชุมนุมได้อีกครั้งตามปฏิทินการเคลื่อนไหวในเดือน ต.ค.นี้.