บัตร 2 ใบ - ส.ว. โหวตนายกฯ ปมขัดแย้งพรรครัฐบาลรอบใหม่
ยิ่งใกล้เลือกตั้งใหม่เท่าไร ต่างคนต่างพรรคต้องหา “จุดยืน” ของตัวเองเพื่อใช้เป็น “จุดแข็ง” ในการสร้างคะแนนนิยม
เสร็จศึกกฎหมายการเงินสำคัญของรัฐบาล เช็คเสียงโหวต พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 และ พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท ไม่มี “พรรคร่วมรัฐบาล” แตกแถว แม้จะมีบางส่วนไม่มีส่วนร่วมกับการโหวตเพราะเหตุผลส่วนตัว แต่ทุกเสียงโหวตไม่มีใครคาใจ
แม้พรรคร่วมรัฐบาลพร้อมใจกันโหวตเป็นเอกภาพ แต่สุ้มเสียงการอภิปรายยังคาใจ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รมว.กลาโหม อยู่ไม่น้อย ร้อนถึง “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ที่ต้องคอยเคลียร์ใจให้ โดยเฉพาะพรรคภูมิใจไทยที่ “บิ๊กบอส” ไฟเขียวให้ลูกพรรคเรียงคิวออกมาฟาดงวงฟาดงาใส่ “ผู้นำรัฐบาล” อย่างต่อเนื่อง
เกมสองหน้าของ “ภูมิใจไทย” เที่ยวนี้ แม้จะพอได้ใจแฟนคลับ แต่ในทางการเมืองผลกรรมกลับมาตกอยู่ที่ “หัวหน้าหนู” อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี รมว.สาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ที่ว่ากันว่าต้องเดินขึ้นตึกไทยคู่ฟ้า เพื่อขอโทษขอโพย “พล.อ.ประยุทธ์” ชนิดต้องเสียน้ำตา
จบศึก 2 กฎหมายการเงิน แผลในใจของ “พรรคร่วมรัฐบาล” ยังไม่สมาน กลับเริ่มมีสัญญาณเปิดศึกกันอีกรอบ เตรียมขยายแผล-ขยายรอยร้าวกันต่อ โฟกัสหลักไปที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ “พรรคร่วมรัฐบาล” แยกทางกันเดินอย่างชัดเจน
พรรคพลังประชารัฐ นำโดย “ไพบูลย์ นิติตะวัน” ส.ส.บัญชีรายชื่อ นำรายชื่อ 110 ส.ส.พปชร. ส่งร่างแก้รัฐธรรมนูญ 13 มาตรา ถึงมือ “ชวน หลีกภัย” ประธานสภาผู้แทนราษฎร ไปเมื่อกลางเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งเตรียมบรรจุญัตติเข้าสู่ที่ประชุมสภาฯ ในเร็วๆ นี้
โดย “ไพบูลย์” กางไทม์ไลน์การแก้ไขรัฐธรรมนูญในส่วนของพรรค พปชร. ที่จะพยายามผลักดันให้แก้ไขเสร็จ 3 วาระรวด ภายในเดือนก.ย.นี้ ก่อนจะแก้กฎหมายลูกที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง เพราะเสนอแก้ไขระบบการเลือกตั้งเปลี่ยนมาใช้บัตร 2 ใบ เลือกคน-เลือกพรรค ซึ่งน่าจะเสร็จในช่วงกลางปี 2565
ส่วน “3 พรรคร่วมรัฐบาล” ประกอบด้วย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา เตรียมยื่นญัตติแก้รัฐธรรมนูญใน 6 ประเด็น โดยนัดหารือกันในวันที่ 16 มิ.ย.นี้ ก่อนจะยื่นร่างเพื่อบรรจุญัตติต่อไป
เมื่อจำแนกประเด็นที่พลังประชารัฐ และ 3 พรรคร่วมรัฐบาลยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญ มี 2 ประเด็นที่มีโอกาสทำให้รอยร้าวของ “พรรคร่วมรัฐบาล” เดินไปสู่จุดเสี่ยงแตกหักได้ เนื่องจากต่างพรรคต่างได้ประโยชน์ และเสียประโยชน์จากการแก้ไขรัฐธรรมนูญแตกต่างกัน
1.ประเด็นระบบเลือกตั้งบัตร 2 ใบ เลือกคน-เลือกพรรค มี “พลังประชารัฐ-ประชาธิปัตย์" ที่เห็นด้วย
ในส่วนของพลังประชารัฐคำนวณแล้วว่า การเลือกตั้งครั้งหน้าพรรคอาจจะได้ ส.ส.เขต จำนวนมาก หากยังใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียวจะทำให้
พลังประชารัฐไม่ได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์เหมือนกับพรรคเพื่อไทยที่การเลือกตั้ง 24 มี.ค. 2562 ไม่ได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์แม้แต่คนเดียว
ดังนั้นทางแก้คือการปรับระบบการเลือกตั้งมาเป็นบัตร 2 ใบ เปลี่ยนสูตรคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ เสียใหม่ ที่สำคัญปรับจำนวน ส.ส.เขต จาก 350 เขต มาเป็น 400 เขต ลดจำนวน ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ จาก 150 คน มาเป็น 100 คน โอกาสที่พลังประชารัฐจะเข้าวินแบบทิ้งห่างคู่แข่งจึงมีสูงกว่า
ขณะเดียวกันพรรคประชาธิปัตย์มองว่า การใช้บัตร 2 ใบเหมาะสมกับพรรคมากกว่าการใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว แถมยังยึดติดว่าเป็นเพราะบัตรเลือกตั้งใบเดียว ทำให้การเลือกตั้ง 24 มี.ค.2562 ประชาธิปัตย์แพ้หมดรูปในหลายพื้นที่
ที่สำคัญประชาธิปัตย์วิเคราะห์ว่า หากใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบโอกาสที่จะได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์มีมากกว่า เนื่องจากฐานแฟนคลับยังมีมาก แต่บัตรเลือกตั้งใบเดียว ทำให้ประชาชนที่ตัดสินใจเลือก “คนที่ชอบ” ไม่มีโอกาสตัดสินใจเลือก “พรรคที่ใช่” ประชาธิปัตย์จึงต้องการแก้ระบบเลือกตั้งมาเป็นใช้บัตร 2 ใบ
ด้านพรรคภูมิใจไทย-ชาติไทยพัฒนาแม้จะอ้อมแอ้มร่วมกับประชาธิปัตย์เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ก็ยื้ออยู่นาน เพราะหากใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียวจะได้ประโยชน์มากกว่า โดยเฉพาะภูมิใจไทยที่รู้ว่าในหลายพื้นที่ยากที่จะเอาชนะคู่แข่ง จึงไล่ซื้อผู้สมัครแถว 2 แถว 3 เอาไว้เก็บแต้มปาร์ตี้ลิสต์หลายคน
กรณีใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว หากพรรคลำดับ 1 พรรคลำดับ 2 ได้ส.ส.เกินจำนวน ส.ส.พึงมี ก็จะไม่ได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์แม้แต่คนเดียว ซึ่งจะทำให้พรรคลำดับ 3 พรรคลำดับ 4 เป็นต้นไปมีโอกาสได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์เพิ่มมากขึ้น โดยขึ้นอยู่กับคะแนนเฉลี่ยทั้งประเทศ
ดังนั้นทั้ง ภูมิใจไทย-ชาติไทยพัฒนา-พรรคเล็ก จะเสียประโยชน์หากเปลี่ยนไปใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ จึงต้องจับตาว่าจะแก้เกมอย่างไร ในเมื่อพลังประชารัฐ-ประชาธิปัตย์ รวมไปถึงพรรคเพื่อไทยต้องการกลับมาใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ
2.ประเด็น 250 ส.ว.โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี โดยประเด็นนี้ “3 พรรคร่วมรัฐบาล” เตรียมเสนอแก้ไขไม่ให้ 250 ส.ว. เข้ามามีส่วนในการโหวตผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพราะหากไม่มีมือ 250 ส.ว. จะทำให้การเมืองเปลี่ยนทิศ “นักการเมือง” กลับมาเป็นผู้กำหนดเกมเอง
ต้องยอมรับว่าเวลานี้ แม้ “นักการเมือง” จะเข้ามาอยู่ในเกมการเมือง แต่ไม่ใช่ผู้กำหนดทิศทางทางการเมือง เนื่องจากอำนาจเต็มยังอยู่ในมือของ “ทหาร” ที่แปลงกายเป็นนักการเมือง มี“ขุนพลเบื้องหลัง” มีชุดลายพรางคอยวางเกมอำนาจอยู่
ฉะนั้น “3 พรรคร่วมรัฐบาล” รวมถึง “ขั้วฝ่ายค้าน” มีเป้าประสงค์เดียวกันคือเอา “ทหาร” ออกจากการเมือง ด้วยการถอดสลักตัดอำนาจ 250 ส.ว. ไม่ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี
ขณะที่ “พลังประชารัฐ-250 ส.ว.” ไม่ยอมอย่างแน่นอน เพราะหากต้องการเชิดให้ “พล.ประยุทธ์” นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรี ต้องเก็บอำนาจ 250 ส.ส. โหวตเลือกนายกรัฐมนตรีเอาไว้ให้ได้ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือต่อรองให้ “พรรคการเมือง” ยอมมาร่วมด้วยช่วยกัน
หลังจากนี้ ต้องจับตาว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะประเด็นบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ และอำนาจ 250 ส.ว.เลือกนายกรัฐมนตรี จะเดินไปสู่จุดใด แต่ที่แน่ๆ สถานะของ “พรรคร่วมรัฐบาล” กำลังเดินเข้าสู่จุดขัดแย้งอย่างแน่นอน
ยิ่งใกล้เลือกตั้งใหม่เท่าไร ต่างคนต่างพรรคต้องหา “จุดยืน” ของตัวเองเพื่อใช้เป็น “จุดแข็ง” ในการสร้างคะแนนนิยม