สมาคมภัตตาคารไทยจี้รัฐอุ้มร้านอาหารเล็ก หวั่นแรงงาน-ซัพพลายเชนล้มโดมิโน่!
สัปดาห์ที่ผ่านมาทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้รับฟังความคิดเห็นจากสมาคมภัตตาคารไทยว่ามาตรการช่วยเหลือของ ธปท. “ตรงใจ” ผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหารหรือไม่
หลัง ธปท.ได้แก้ไขข้อจำกัดการเข้าถึงความช่วยเหลือจาก พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาทไปหลายเรื่อง และต้องการให้ผู้ประกอบการร้านอาหารเข้าถึงความช่วยเหลือจากส่วนนี้!
ฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย เปิดเผยว่า ทางสมาคมฯจึงฝากโจทย์ไปยัง ธปท.ว่ามีมาตรการใดบ้างที่ “ตอบโจทย์” ธุรกิจร้านอาหารโดยตรง เหมือนอย่างมาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ (Asset Warehousing) ที่ผู้ประกอบการโรงแรมได้ประโยชน์และเข้าถึงโดยตรง
ทั้งนี้สมาคมฯพบว่าจากข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้ามีธุรกิจร้านอาหารมาจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลแค่ประมาณ 15,000 ราย แต่เอาเข้าจริงๆ แล้ว “ร้านอาหารขนาดเล็ก” เช่น ตามห้องแถว สตรีทฟู้ด ต่างเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภงด.90) และทาง “กรมสรรพากร” ได้ลงพื้นที่ประเมินรายได้ต่อปีและเก็บภาษีครบทุกเม็ดทุกหน่วย! จึงมองว่าทางกรมสรรพากรน่าจะมีฐานข้อมูลผู้เสียภาษีที่เป็นร้านอาหารขนาดเล็ก โดยทางสมาคมฯประเมินว่าน่าจะมีหลักแสนราย แต่กลับยังไม่ได้รับการเยียวยาจากภาครัฐ หลังได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการระบาดของโควิด-19 ระลอก 3
“สมาคมฯจึงอยากให้รัฐบาลออกมาตรการเยียวยาช่วยเหลือผู้ประกอบการร้านอาหารรายเล็กด้วย เพราะคนตัวเล็กตัวน้อยเหล่านี้ก็เป็นหนึ่งในผู้เสียภาษีเหมือนกัน โดยเฉพาะมาตรการช่วยเหลือด้านการเงิน ให้เข้าถึงเงินกู้อย่างน้อย 30% ของฐานรายได้ที่เสียภาษีต่อปี โดยอาจจะอ้างอิงจากฐานฯเมื่อปี 2562 เพื่อนำเงินกู้มาหมุนเวียนจ่ายค่าใช้จ่ายประจำ เช่น เงินเดือนพนักงาน ค่าเช่า ค่าน้ำค่าไฟ และอื่นๆ”
หลังยอดขายของธุรกิจร้านอาหารตกลงเนื่องจากวิกฤติโควิด-19 โดยเดือน มิ.ย.นี้คาดว่าร้านอาหารส่วนใหญ่มียอดขายฟื้นตัวอยู่ที่ระดับไม่เกิน 30% จากยอดขายปกติ เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือน พ.ค.ที่ผ่านมาซึ่งยอดขายหดตัวรุนแรงเหลือเพียง 10% ทั้งยังส่งผลกระทบต่อ “ซัพพลายเชน” เชื่อมโยงไปยังผู้ผลิตวัตถุดิบและผู้ให้บริการประเภทต่างๆ รวมถึง “การจ้างงาน” ประกอบกับธุรกิจร้านอาหารเป็นธุรกิจที่เน้นใช้เงินสดนำมาหมุนเวียน ส่วนใหญ่สายป่านสั้น อยู่ได้นานประมาณ 3 เดือน แต่วิกฤติโควิด-19 อยู่มานานกว่า 15 เดือนแล้ว จึงอยากให้รัฐบาลเข้ามาช่วยเหลือผู้ประกอบการร้านอาหารอย่างตรงจุด!
และจากการสำรวจผลกระทบหลังศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ออกมาตรการเว้นระยะห่างเพื่อควบคุมโรค ให้ผู้บริโภคสามารถนั่งทานอาหารในร้านแค่ 25% ต่อรอบ แต่พบว่าผู้บริโภคก็ยังไม่มา ต่อให้ทาง ศบค.ประกาศปรับมาตรการอนุญาตให้นั่งได้เต็ม 100% ขณะนี้ ทางสมาคมฯก็ยังไม่มั่นใจว่าจะมีคนกลับไปนั่งทานในร้านอาหารเต็มพื้นที่เหมือนเดิม เพราะผู้บริโภคก็อาจจะยังกลัว ไม่ต้องการอยู่ในที่แออัด เพราะหวั่นว่าจะมีการแพร่ระบาดซ้ำ
“ต้องยอมรับว่าเวลานี้คนลำบากจริงๆ จากวิกฤติโควิด-19 ซึ่งไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น รัฐบาลเองก็พยายามอย่างดีที่สุด เช่น ออกนโยบายแจกเงินผ่านโครงการต่างๆ เพื่อเติมเงินในระบบเศรษฐกิจ แต่สิ่งหนึ่งที่รัฐบาลยังไม่ได้ทำเลย และทางสมาคมฯหวังว่าจาก พ.ร.ก.เงินกู้ 5 แสนล้านก้อนใหม่ ควรจะต้องให้ภาคเอกชน โดยเฉพาะเอสเอ็มอีได้เข้าถึงความช่วยเหลือ เพราะธุรกิจร้านอาหารไม่มีสินทรัพย์ขนาดใหญ่แบบโรงแรม แต่เรามีคน มีซัพพลายเชน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนตัวเล็กๆ ของประเทศและมีจำนวนมหาศาล ถ้าล้ม ก็จะล้มครืนเป็นโดมิโน่ไปเรื่อยๆ”
ฐนิวรรณ กล่าวเพิ่มเติมว่า ทางสมาคมฯได้ยื่นเรื่องไปยังกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เพื่อขอฉีดวัคซีนแก่พนักงานร้านอาหารวันละ 1,000 คนในสัปดาห์ที่ผ่านมาที่สถานีกลางบางซื่อ และสัปดาห์นี้อาจจะได้จำนวนต่อวันมากขึ้น โดยก่อนหน้านี้สมาคมฯได้ส่งหนังสือถึงการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เพื่อขอให้มีการฉีดวัคซีนแก่พนักงานร้านอาหาร 40,000 คนทั่วประเทศ
นอกจากนี้แรงงานส่วนหนึ่งของร้านอาหารเป็น “แรงงานต่างด้าว” ซึ่งยังไม่ได้รับการจัดสรรวัคซีน เมื่อวัคซีนแอสตร้าเซเนก้าได้รับการจัดสรรแก่คนไทยตามแผนของรัฐบาล ก็คงจะมีการจัดสรรให้แรงงานต่างด้าวครอบคลุมทุกประเทศในลำดับถัดไป
“ในเมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มองว่าร้านอาหารเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการระบาดของโรคโควิด-19 และเกิดคลัสเตอร์ใหม่ๆ ก็ควรจะมีการเร่งฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้แก่พนักงานร้านอาหารซึ่งถือเป็นบุคลากรด่านหน้า มีความเสี่ยงในการติดโรคจากลูกค้าและผู้ที่มาติดต่ออื่นๆ เช่นกัน” นายกสมาคมภัตตาคารไทยกล่าว