'ปิยบุตร' ชี้ 'พปชร.' ต้องการชนะเลือกตั้ง แบบแลนด์สไลด์ หลังเสนอแก้ระบบเลือกตั้ง

'ปิยบุตร' ชี้ 'พปชร.' ต้องการชนะเลือกตั้ง แบบแลนด์สไลด์ หลังเสนอแก้ระบบเลือกตั้ง

กลุ่มรีโซลูชั่น เปิดเกมเร่ง ล่าชื่อแก้รัฐธรรมนูญ ดีเดย์ 14 วัน ยื่นต่อรัฐสภา ด้าน "ปิยบุตร" ชี้ พปชร. ต้องการแก้ระบบเลือกตั้ง หวัง ให้ชนะเลือกตั้งแบบ แลนด์สไลด์

       ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มรีโซลูชั่น ถึงเวลารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แถลงพร้อมแสดงจุดยืนต่อการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของประชาชน ที่อยู่ระหว่างเข้าชื่อให้ได้ 50,000 รายชื่อ ก่อนยื่นให้รัฐสภาพิจารณา ทั้งนี้ตามกระบวนการเข้าชื่อเสนอร่างแก้ไข กลุ่มรีโซลูชั่น ได้แต่งตั้งคณะเชิญชวน 20 คน อาทิ นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า , นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าคณะก้าวหน้า, นายพริษฐ์  วัชรสินธุ, นายประจักษ์ ก้องกีรติ นักวิชาการมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, นายเอกพันธุ์ ปิณฑวณิช นักวิชาการมหาวิทยาลัยมหิดล, นายกษิต ภิรมย์ อดีตส.ส.พรรคประชาธิปัตยื , น.ส.ชลธิชา แจ้งเร็ว แกนนำกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง , นายปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก พรรคก้าวไกล , น.ส.เบญจา แสงจันทร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล, นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์  ผู้จัดการไอลอว์ , น.ส.ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล หรือ มายด์ แกนนำกลุ่มราษฎร เป็นต้น
       ทั้งนี้ นายธนาธร แถลงด้วยว่าความพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา ว่าด้วยการแก้ไขระบบเลือกตั้ง ถือเป็นความพยายามสืบทอดอำนาจ และต่ออำนาจของระบอบที่ทำรัฐประหาร ยึดอำนาจจากประชาชน ทั้งนี้รัฐบาลชุดปัจจุบัน ทำงานมาแล้ว 2 ปี 3 เดือน และเหลือเวลาอีก 1 ปี 9 เดือน จะมีการเลือกตั้งครั้งต่อไป  จึงจำเป็นต้องหาช่องทางเพื่อสืบทอดอำนาจต่อไป  ส่วนกรณีที่รัฐสภาจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยข้ามร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ  ถือว่าไม่ได้ปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ​ที่วินิจฉัยว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ต้องทำประชามติก่อน ดังนั้นตนมองว่าการทำประชามติ เป็นวิธีที่ดีที่สุด เพื่อนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ 
162372954872
       ด้านนายพริษฐ์ แถลงเรียกร้องให้ส.ส.ทุกพรรคการเมือง ลงมติคว่ำข้อเสนอแก้รัฐธรรมนูญ ของพรรคพลังประชารัฐ เพราะมีเนื้อหาที่สืบทอดอำนาจให้กับกลุ่มคสช. นอกจากนั้นพรรคร่วมฝ่ายค้านไม่สังฆกรรมเร่งรัดการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา หากไม่ระวัง อาจจะเข้าทางผลประโยชน์ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม แม้มีเนื้อหาแก้รัฐธรรมนูญของพรรคร่วมรัฐบาล เสนอตัดอำนาจของส.ว. แต่การพิจารณาในรัฐสภาต้องใช้เสียงส.ว. ลงมติ แต่เสียงของส.ว. เป็นสิ่งที่รัฐบาลควบคุมได้ ทั้งการออกเสียง และลำดับการพิจารณา ทั้งนี้ตนขอเรียกร้องให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อสร้างกติกาที่เป็นธรรม ตามสิทธิของประชาชนที่มี 1 สิทธิ์ 1 เสียงเท่ากัน 
162372954939
        ขณะที่ น.ส.ภัสราวดี แถลงด้วยว่าฐานะประชาชน มองว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐสภา เปรียบเหมือนมีสุนัขรับใช้นาย โดยจะทำสิ่งที่นายต้องการเท่านั้น หรือตามคำสั่งเท่านั้น  แต่กลับไม่พิจารณาสิ่งที่เป็นปัญหาให้ประชาชน เพื่อทำให้คุณภาพของประชาชนดีขึ้น ดังนั้นตนขอเรียกร้องให้ประชาชนร่วมผลักดัน เข้าชื่อ เสนอ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของประชาชน เป็นร่างหลักที่พิจารณาในรัฐสภา ทั้งนี้เพื่อต้องการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างและความเหลื่อมล้ำที่คนเพียง 1% ได้รับสะดวกสบาย
       ทางด้าน นายปิยบุตร กล่าวตอบคำถามว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยกระบวนการจัดทำใหม่ทั้งฉบับ ที่ผ่านมา เป็นเพียงการเล่นละคร ปาหี่ เพราะรัฐบาล รวมถึงส.ว. ไม่จริงใจต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ขณะนี้พบว่าพรรคร่วมรัฐบาลมีปัญหา จึงคิดแก้ไขกติกา ที่ออกแบบไม่ให้พรรคการเมืองใหญ่ ได้ส.ส. จำนวนมาก เพราะไม่ต้องการให้กลับมาเป็นรัฐบาล จึงต้องเสนอแก้ไขรายมาตรา และต้องการพิจารณาให้ได้ก่อน ร่างพ.ร.บ.ประชามติ ถือเป็นความผิดปกติ ที่สมาชิกรัฐสภาบางพวกมีพฤติกรรมหลอกประชาชน
       “ผมมองว่าบทบาทของประธานรัฐสภามีความสำคัญ ควรรอให้ร่างพ.ร.บ.ประชามติ พิจารณาให้แล้วเสร์จก่อน เพราะสภาฯ มีเวลาหลายเดือนที่จะพิจารณาเนื้อหาแต่ละร่างได้ ฝ่ายค้านบางพรรคและพรรครัฐบาล ต้องการแก้ไขระบบเลือกตั้ง ผมคาดว่าจะสำเร็จ หากแก้ระบบเลือกตั้งไปเป็นตามรัฐธรรมนูญ 2540 สำเร็จ ผมบอกได้ว่า การเปิดทางให้ระบอบประยุทธ์ สืบทอดอำนาจได้เป็นรอบที่3 เพราะพรรคพลังประชารัฐต้องการชนะเลือกตั้งแบบแลนด์สไลด์” นายปิยบุตร กล่าว
162372954996
       นายปิยบุตร กล่าวด้วยว่าการรณรงค์และเข้าชื่อของประชาชน ให้ครบ 50,000 ชื่อนั้นต้องเร่งทำให้เสร็จเร็วที่สุดเพราะต้องการยื่นเนื้อหาประกบกับร่างที่รัฐสภาพิจารณา นับถอยหลังเหลือเวลา 14 วัน เชื่อว่าจะทำสำเร็จ  และทันการพิจารณาของรัฐสภาในปลายเดือนมิถุนายน
       นายปิยบุตร กล่าวด้วยว่าสำหรับเนื้อหาของร่างแก้รัฐธรรมนูญของกลุ่มนั้น ไม่ได้กล่าวถึงระบบเลือกตั้ง เพราะต้องการให้ส.ส.ร. เป็นผู้ปรับปรุง และหากเสนอรายละเอียด อาจถูกมองว่ามีส่วนได้ส่วนเสีย อย่างไรก็ดีการออกแบบระบบเลือกตั้งทุกระบบมีข้อดีและข้อเสีย แต่การออกแบบเลือกตั้งนั้นควรยึดหลักของรัฐธรรมนูญ คือ หนึ่งสิทธิ หนึ่งเสียง ผ่านระบบการคิดคำนวณคะแนนแบบสัดส่วน ทั้งนี้ไม่ใช่ว่าจะต้องใช้บัตรเลือกตั้งกี่ใบ  แต่สิ่งสำคัญต้องคิดคะแนนแบบสัดส่วน และใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ตามที่เนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญที่ยกร่างโดย นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ.