สถาบันการบินพลเรือน หวัง 3 ปี อุตสาหกรรมการบินฟื้นตัว
สถาบันการบินพลเรือนโอดโควิด-19 พ่นพิษ ฉุดยอดผู้สมัครเรียนนักบินพลาดเป้าเหลือ 1.5 พันคน ลุยปรับหลักสูตรใหม่ ดันเป้าหมายศูนย์กลางผลิตบุคลากรในอาเซียน เชื่ออีก 3 ปีฟื้นตัว
นางสาวภัคณัฏฐ์ มากช่วย รักษาการผู้ว่าการสถาบันการบินพลเรือน (สบพ.) เปิดเผยว่า จากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่เป็นผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการบิน และเกิดกรณีที่หลายสายการบินออกมาปลดนักบิน เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่กระทบต่อความเชื่อมั่นของการสมัครเรียนนักบิน ส่งผลให้ยอดผู้สมัครหลักสูตรของ สบพ.ในปี 2564 ลดลงและไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้
“ขณะนี้ สบพ. กำลังประสบปัญหาจำนวนนักศึกษาใหม่ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ทุกหลักสูตรรวมกันมีผู้สนใจเข้าศึกษารวม 1,583 คน ถือว่าลดลงจากปีที่ผ่านมาๆ ซึ่งปกติจะมีผู้สนใจเข้าเรียนและฝึกอบรมกับ สบพ. ปีละประมาณ 2,000 คน”
นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาตามรายหลักสูตร พบว่าหลักสูตรภาคปกติ และหลักสูตรเทียบโอน มีผู้สนใจเข้าศึกษาเพียง 421 คน จากจำนวนรับทั้งหมด 546 คน ขณะที่หลักสูตรนักบินพาณิชย์ตรี-เครื่องบิน ตั้งแต่ต้นปี 2564 ถึงปัจจุบัน ยังไม่มีผู้สมัครเข้าเรียนหลักสูตร ทั้งที่ที่ผ่านมา สบพ. มีกำลังการผลิตนักบินได้ปีละ 100 คน
อีกทั้ง จากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ผ่านมา สบพ. ได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก ทั้งรายได้ และจำนวนผู้เรียนที่ลดลงต่อเนื่อง โดยปีงบประมาณ 2562 ก่อนเกิดโควิด-19 มีรายได้ประมาณ 400 ล้านบาท ส่วนปีงบประมาณ 2563 ในช่วงเกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 รายได้เหลือ 200 ล้านบาท ส่วนปีงบประมาณ 1564 มีรายได้ 150 ล้านบาท และคาดว่าปีงบประมาณ 2565 จะมีรายได้ลดลงเหลือน้อยกว่า 150 ล้านบาท
นางสาวภัคณัฏฐ์ กล่าวด้วยว่า สาเหตุที่รายได้ของ สบพ. ลดลง เนื่องจากหลักสูตรนักบินพาณิชย์ตรีของศูนย์ฝึกการบินหัวหิน ซึ่งถือเป็นหลักสูตรที่สร้างรายได้หลัก ค่าเล่าเรียนคนละประมาณ 2.3 ล้านบาท มีผู้สนใจเข้าเรียนลดลง โดย สบพ. ไม่ได้นิ่งเฉยกับปัญหานี้ คณะกรรมการ สบพ. มอบให้ผู้บริหารพิจารณาเปิดหลักสูตรฝึกอบรมใหม่ๆ เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของการเรียนการสอน จูงใจให้เกิดการสมัครเรียนมากขึ้น
พร้อมทั้งเร่งให้มีการพัฒนาหลักสูตรเรียนอิเล็กทรอนิกส์ หรือ E – Learning เพื่อให้สามารถแข่งขันกับสถาบันฝึกอบรมต่างๆ ช่วยสร้างรายได้ให้องค์กร ทดแทนรายได้จากหลักสูตรที่มีผู้เรียนน้อยลง และยังเป็นไปตามนโยบายของรัฐที่ต้องการให้ สบพ. เพิ่มขีดความสามารถในการสร้างรายได้ รวมทั้งเพื่อผลักดันเป้าหมายผลิตบุคลากรให้ได้จากปีละ 2,000 คน เป็น 3,000 คน และ 5,000 คนในอีก 10 ปี เพื่อรองรับความต้องการบุคลากรด้านการบิน เป็นศูนย์กลางผลิตบุคลากรด้านการบินของอาเซียน
“ตอนนี้ต้องปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลง เทรนด์การเรียนการสอน และความต้องการของอุตสาหกรรมการบิน เพื่อผลิตบุคลากรด้านการบินตอบสนองความต้องการของตลาด ซึ่งผู้ที่อยู่ในแวดวงการบินยังคงมั่นใจว่าอีก 3 ปีข้างหน้า อุตสาหกรรมการบินจะกลับมาเติบโตเหมือนเดิม ดังนั้นเราต้องเตรียมพร้อมผลิตบุคลากรรองรับ”