วิกฤติโควิดกทม.! ศบค.ระดมบุคลากรตจว.เข้ากรุงร่วมดูแล
วิกฤติโควิดกทม. ศบค.เพิ่มศักยภาพดุแลกทม.-ปริมณฑล ระดมทหาร-บุคลากรสธ.จากตจว.-แพทย์จบใหม่ร่วมดูแลผู้ป่วย ยกระดับปรับพื้นที่เพิ่มศักยภาพรพ.ทุกส่วนรองรับผู้ป่วยอาการรุนแรง เพิ่มทีมสอบสวนโรคสกัดโรคให้เร็วก่อนแพร่ระบาดวงกว้าง หารือแนวทางดูแลตนเองที่บ้าน
เมื่อเวลา 12.30 น. วันที่ 24 มิ.ย. ที่ ทำเนียบรัฐบาล พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค โควิด-19(ศบค.) กล่าวว่า ผู้ติดเชื้อรายใหม่ 4,108 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 3,865 ราย ติดเชื้อจากต่างประเทศ 14 ราย จากเรือนจำ 229 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 31 ราย รักษาหายเพิ่ม 1,578 ราย ผู้ป่วยสะสม 232,647 ราย เสียชีวิตสะสม 1,775 ราย อัตราการเสียชีวิตคิดเป็น 0.82% ยังรักษาอยู่ 39,517 รายแบ่งเป็นในโรงพยาบาล(รพ.) 13,320 ราย รพ.สนามและอื่นๆ 26,197 ราย ผู้ป่วยอาการหนัก 1,564 ราย ในจำนวนี้ใส่เครื่องช่วยหายใจ 445 ราย
ทั้งนี้ ผู้ติดเชื้อรายใหม่อยู่ที่กรุงเทพมหานคร(กทม.)และปริมณฑล รวมกว่า 2,333 ราย และจังหวัดอื่นๆ 1,532 ราย โดย 10 จังหวัดที่พบผู้ติดเชื้อใหม่สูงสุด คือ กทม. 1,359 ราย สมุทรปราการ 297 ราย สมุทรสาคร 259 ราย ชลบุรี 254 ราย สงขลา 216 ราย นนทบุรี 170 ราย ปทุมธานี 157 ราย ยะลา 119 ราย ระยอง 92 ราย และนครปฐม 91 ราย สำหรับผู้เสียชีวิต 31 ราย อยู่ที่ กทม. 28 ราย อายุน้อยที่สุด 30 ปี มากที่สุด 93 ปี นอนรพ.นานที่สุด 49 วัน ปัจจัยเสี่ยงอยู่ที่การสัมผัสเชื้อกับบุคคลในครอบครัว เพื่อนบ้าน เพื่อร่วมงาน ซึ่งศบค.เน้นย้ำเสมอว่า 2 เดือนที่ผ่านมาเป็นการติดเชื้อจากคนใกล้ตัว
กทม.เฝ้าระวัง 99 คลัสเตอร์
พญ.อภิสมัย กล่าวต่อว่า กทม. พบอีก 3 คลัสเตอร์ใหม่ รวมที่ต้องเฝ้าระวังสะสม 99 คลัสเตอร์ ใน 42 เขตจาก 50 เขต ซึ่งค่อนข้างกระจายกว้างขวาง สำหรับคสลัสเตอร์ใหม่ คือ 1.บางกะปิ แคมป์ก่อสร้าง ตรวจ 241 ราย ติดเชื้อ 164 ราย คิดเป็น 68% 2.บางรัก แคมป์ก่อสร้าง ตรวจไป 257 ราย ติดเชื้อ 126 ราย คิดเป็น 49% และ 3.บางขุนเทียน บริษัทผลิตหมวกกันน็อก ตรวจ 600 ราย ติดเชื้อ 165 ราย คิดเป็น 27.5% ซึ่งในคลัสเตอร์นี้ทางกทม.รายงานว่า ผู้ติดเชื้อรายแรก ไม่มีอาการและไม่ทราบว่าติดเชื้อ แต่เข้ารับการตรวจโควิด-19 ก่อนเข้าผ่าตัด และพบว่าติดเชื้อ หลังจากนั้นเกิดจากคัดกรองเชิงรุก ตรวจอีก 600 รายในบริษัทจึงพบผู้ติดเชื้อรวม 165 รายและคงจะมีการรายงานต่อเนื่อง
เจอคลัสเตอร์ใหม่ในตจว.
สมุทรสาคร พบ 2 คลัสเตอร์ใหม่ ใน อ.เมือง คือ โรงงานผลิตภัณฑ์ยาง 9 ราย และโรงงานกุ้ง 9 ราย , ชลบุรี ยังพบการติดเชื้อเพิ่มในชุมชนซอยราชประสิทธิ์ 30 ราย สะสม 709 ราย ตลาดสัตหีบ เพิ่ม 111 ราย สะสม 143 ราย แคมป์ก่อสร้าง อ.ศรีราชา เพิ่มใหม่ 17 ราย สะสม 166 ราย , สงขลา คลัสเตอร์อาหารทะเลกระป๋อง เพิ่ม 35 ราย สะสม 355 ราย , นนทบุรี คลัสเตอร์ใหม่ อ.ปากเกร็ด ในโรงงานสาหร่ายแปรรูป 11 ราย และ ระนอง คลัสเตอร์แพปลา เพิ่มใหม่ 42 ราย สะสม 1,048 ราย ส่วนปทุมธานี คลัสเตอร์ใหม่ อ.ธัญบุรี บ้านเด็กอ่อนรังสิต 39 ราย ซึ่ง ศบค.ชุดเล็กหารือกันว่า ในจำนวนผู้ติดเชื้อเป็นเด็ก 3-6 ปี รวม 33 ราย ผู้ดูแล 6 ราย และจากการสอบสวนโรค คาดว่า ผู้ติดเชื้อรายแรกเป็นพนักงานขับรถ ทำให้เกิดการกระจายเชื้อเป็นกลุ่มก้อนในที่ทำงาน
เพิ่มศักยภาพรพ.รับผู้ป่วยหนัก
พญ.อภิสมัย กล่าวด้วยว่า การจัดการเตียงรองรับผู้ป่วยใน กทม.และปริมณฑล ที่ประชุมมีการหารือต่อเนื่องมาหลายสัปดาห์ นายกรัฐมนตรีและ ผอ.ศบค.ได้กำกับเน้นย้ำทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ช่วยเหลือ กทม. ปริมณฑลในการเพิ่มศักยภาพการขยายเตียง โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อจำกัดที่น่าเป็นห่วง คือเตียงรองรับผู้ป่วยระดับอาการรุนแรงทั้งสีเหลืองและสีแดงที่จะเพิ่มศักยภาพ โดยที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุข ซึ่งมี ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร ประธานที่ปรึกษาคณะกรรมการบูรณการการดูแลโรคโควิด-19ในกทม.และปริมณฑลได้หารือและมีข้อเสนอแนะ 2-3 ประการ
ในส่วนหนึ่งของการเพิ่มเตียงในระดับสีแดง มีการพูดถึง รพ.ผู้สูงอายุบางขุนเทียน และรพ.ราชพิพัฒน์ที่จะพยายามยกระดับรองรับผู้ป่วยระดับรุนแรงมากขึ้น รวมทั้ง หารือกับรพ.เอกชน อาทิ รพ.มงกุฎวัฒนะ และ รพ.ธนบุรี ปรับพื้นที่ที่มีให้สามารถรองรับผู้ป่วยกลุ่มอาการรุนแรงได้มากขึ้น นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รพ.รามาธิบดี ม.มหิดล และวชิรพยาบาล ระดมบุคลากรให้เปิดเตียงรองรับได้อีกกว่า 50 เตียงภายในมิ.ย.นี้ และปลัดสธ. มอบหมายให้ทุกภาคส่วนของ สธ.ระดมสรรพกำลังในการเพิ่มประสิทธิภาพให้กทม.และปริมณฑล
ระดมบุคลกรตจว.มาช่วยดูแล
"มีเฉพาะสถานที่เพียงอย่างเดียวไม่ได้ ข้อจำกัดคือระดมบุคลากร พูดคุยกันว่าจะระดมบุคลากรทุกภาคส่วน เช่น ทหาร สาธารณสุขในต่างจังหวัด หรือแพทย์จบใหม่ที่เพิ่งสอบเสร็จ มาดูแลในกทม.และปริมณฑล เพื่อการจัดการเตียงให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น รองรับผู้ป่วยมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มอาการรุนแรง และยังพูดถึงการเพิ่มทีมสอบสวนโรคด้วย เพราะเมื่อพบผู้ติดเชื้อพื้นที่ใดกลุ่มก้อนใด การสอบสวนโรคเป็นกลไกสำคัญค้นหาผู้สัมผัสเสี่ยงสูง มีโอกาสกลายเป็นผู้ป่วย เพื่อแยกออกจากครอบครัวชุมชน ป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดกระจายเป็นวงกว้าง" พญ.อภิสมัยกล่าว
หารือแนวทางดูแลตนเองที่บ้าน
พญ.อภิสมัย กล่าวด้วยว่า มีการหารือกันเรื่องอนุญาตผู้ป่วยเลือกดูแลตนเองที่บ้าน หรือ Home Isolation มีรายละเอียดมากมาย แต่ยังเอามาเป็นข้อสรุปไม่ได้ มีอันตรายที่เป็นความเสี่ยงต้องพิจารณาหลายจุด ต้องมีการประเมินที่แม่นยำ อาการเหลืองหรือแดงไม่สามารถให้ดูแลตนเองที่บ้าน ต้องเฉพาะสีเขียวเท่านั้น การปฏิบัติตัวของผู้ป่วย บุคลากรต้องประเมินว่าจะร่วมมือปฏิบัติตามมาตรการป้องกันตนเองที่ปลอดภัยหรือไม่ และประเด็นละเอียดอ่อนเรื่องการกักกันตนเองอย่างไรไม่นำเชื้อไปติดต่อยังบุคคลในครอบครัว เพื่อนบ้าน ชุมชน และต้องติดตามวิดีโอคอลพูดคุยเพื่อเฝ้าระวังการเจ็บป่วยนั้น หากอาการเปลี่ยนแปลงต้องส่งต่อให้ได้ปลอดภัย เป็นรายละเอียดที่หารือกัน ขอให้ติดตามการดูแลเปลี่ยนแปลงจาก กทม.และ สธ.
ขยับฉีดวัคซีน2กลุ่มหมอพร้อมเร็วขึ้น
พญ.อภิสมัย กล่าวอีกว่า การฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เพิ่มขึ้น 251,985 ราย สะสมตั้งแต่ 28 ก.พ.-23 มิ.ย. 8,400,320 โดส แบ่งเป็นเข็มที่ 6,017,424 ราย ครบ 2 เข็ม 2,382,896 ราย โดยที่ประชุมศปก.ศบค. เสนอว่า จากเดิมที่กลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปและผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง ที่ลงทะเบียนหมอพร้อม ซึ่งได้รับคิวฉีดวัคซีนในเดือน ก.ค.-ส.ค. หรือหลังจากนั้น ที่ประชุมหารือกันว่า จะมีการพิจารณาเลื่อนให้ได้รับวัคซีนเร็วขึ้น ขอให้ติดตามประกาศจากโรงพยาบาลที่ได้ลงทะเบียนหมอพร้อมไว้
ผลเฝ้าระวังหลังฉีดวัคซีน
ด้าน นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค สธ. กล่าวว่า ระบบเฝ้าระวังเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์หลังการได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 สรุปข้อมูล ณ วันที่ 21 มิ.ย. เวลา 16.30 น. จำนวนผู้รับวัคซีนทั้งหมด 7,906,696 โดสซึ่งอาจน้อยกว่าตัวเลขที่รายงานประจำวัน เพราะเป็นการตัดข้อมูลต่างกัน จำนวนที่ฉีดไปแล้วมีการเฝ้าระวังอาการผิดปกติ คือ เกณฑ์ที่ต้องสอบสวนโรคโดยเข้ารักษาในรพ.อย่างน้อย 3 วัน เข้ารักษาเป็นผู้ป่วยใน รวม 1,945 ราย คิดเป็น 24 รายต่อการฉีดแสนโดส และเสียชีวิต 103 ราย คิดเป็น 1.30 รายต่อการฉีดแสนโดส
แยกเป็นวัคซีนซิโนแวค ฉีดเข็มที่ 1 จำนวน 3,373,958 โดส พบผู้ป่วยใน 914 ราย คิดเป็น 27.09 รายต่อการฉีดแสนโดส ส่วนการเสียชีวิต 44 ราย คิดเป็น 1.30 รายต่อการฉีดแสนโดส ขณะที่ เข็มที่ 2 จำนวน 2,176,933 โดส ผู้ป่วยใน 243 ราย คิดเป็น 11.16 รายต่อการฉีดแสนโดส ซึ่งลดลงจากเข็มที่ 1 ส่วนการเสียชีวิต 7 ราย คิดเป็นอัตรา 0.32 รายต่อการฉีดแสนโดส
วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ฉีดเข็มที่ 1 จำนวน 2,304,890 โดส พบเป็นผู้ป่วยใน 782 ราย คิดเป็น 33.93 รายต่อการฉีดแสนโดส เสียชีวิต 49 ราย คิดเป็น 2.13 รายต่อการฉีดแสนโดส ขณะที่ เข็มที่ 2 จำนวน 50,915 โดส ผู้ป่วยใน 6 ราย คิดเป็น 11.78 รายต่อการฉีดแสนโดส และเสียชีวิต 1 ราย คิดเป็น 1.96 รายต่อการฉีดแสนโดส
การได้รับวัคซีนกว่า 7.9 ล้านโดส จำนวนผู้มีอาการไม่พึงประสงค์ที่รุนแรง 945 ราย ผ่านการพิจารณาจากผู้เชี่ยวชาญแล้ว 327 ราย และอยู่ระหว่างติดตามข้อมูล 618 ราย สรุปผลการพิจารณาอาการที่เกี่ยวกับวัคซีน เป็นภาวะช็อกรุนแรง แบบ Anaphylaxis จำนวน 20 รายในผู้ที่ฉีดวัคซีนซิโนแวค คิดเป็น 3.6 รายต่อการฉีดแสนโดส ส่วนวัคซีนแอสตร้าฯ มี 1 ราย คิดเป็น 4 รายต่อการฉีดแสนโดส ส่วนปฏิกิริยาแพ้ วัคซีนซิโนแวค 21 ราย แต่ยังไม่มีรายงานในแอสตร้าฯ ขณะที่ อาการจากความวิตกกังวล ISRR หลังรับวัคซีน ในซิโนแวค พบ 208 ราย และแอสตร้าฯ 2 ราย ส่วนเหตุการณ์ร่วมที่ไม่เกี่ยวข้องกับวัคซีน ซิโนแวค 39 ราย และแอสตร้าฯ 8 ราย เสียชีวิต หลังฉีดซิโนแวค 17 ราย และแอสตร้าฯ 3 ราย และเหตุการณ์ที่ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าเกี่ยวข้องกับวัคซีนหรือไม่ต้องรอข้อมูลเพิ่มเติม คือ เสียชีวิต 4 รายหลังฉีดแอสตร้าฯ
อัตราตายก่อน-หลังฉีดวัคซีนยังไม่ต่าง
“ผู้เสียชีวิตหลังรับวัคซีน 103 ราย ได้รับการพิจารณาจากคณะผู้เชี่ยวชาญแล้ว 42 ราย ในจำนวนนี้ไม่เกี่ยวข้องกับวัคซีนเป็นเหตุการณ์ร่วม 20 ราย ไม่สามารถสรุปได้ว่าเกี่ยวข้องกับวัคซีนหรือไม่โดยเป็นกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน 4 ราย อยู่ระหว่างการพิจารณาโดยข้อมูลเพิ่มเติม 18 ราย และอยู่ระหว่างการชันสูตรพลิกศพอีก 61 ราย ทั้งนี้ เมื่อมีรายงานก็ต้องเก็บข้อมูลทั้งหมด เพื่อแยกแยะหาสาเหตุที่ชัดเจน อย่างไรก็ตาม อัตราการเสียชีวิตหลังรับวัคซีน ยังต่ำกว่าเหตุการณ์ปกติที่ใช้ชีวิตก่อนมีวัคซีน เนื่องจากจะต้องมีการเปรียบเทียบอัตราการเสียชีวิต ซึ่งแต่ละประเทศก็มีการเสียชีวิตก่อนรับวัคซีน”นพ.เฉวตสรรกล่าว