'ล็อกกทม.'เฉพาะจุดขยาย482เตียงรับผู้ป่วยเหลือง -สีแดง

'ล็อกกทม.'เฉพาะจุดขยาย482เตียงรับผู้ป่วยเหลือง -สีแดง

กรมควบคุมโรคเสนอศบค.ชุดเล็ก'ล็อกกทม.'เฉพาะจุด เน้นปิดพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง,บุคคลกลุ่มเสี่ยง,ปิดในกิจกรรมกิจการเสี่ยงกทม.พบคลัสเตอร์ใหม่ 8 แห่งทำให้ขณะนี้มีคลัสเตอร์ที่ต้องเฝ้าระวังแล้ว 107 แห่ง ขยายเพิ่ม482เตียงรับผู้ป่วยเหลือง -สีแดง ใน1 สัปดาห์

วันนี้ (24มิ.ย.)พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาด ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์ประจำวัน ว่า มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 3,644 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 3,451 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 2,803 ราย มาจากการค้นหาเชิงรุก 648 ราย มาจากเรือนจำ 162 ราย เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 31 ราย ในจำนวนนี้มีผู้ลักลอบเข้าเมืองผ่านช่องทางธรรมชาติ 30 ราย โดยมาจากมาเลเซีย 1 ราย เมียนมา 1 ราย และกัมพูชา 28 ราย ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 236,291 ราย หายป่วยเพิ่มเติม 1,751 ราย หายป่วยสะสม 193,106 ราย อยู่ระหว่างรักษา 41,366 ราย อาการหนัก 1,603 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 460 ราย

 เสียชีวิตเพิ่มเติม 44 ราย เป็นชาย 26 หญิง 18 ราย อยู่ใน กทม. 20 ราย สมุทรปราการ 12 ราย ยะลา สระบุรี จังหวัดละ 2 ราย กาญจนบุรี ปราจีนบุรี จันทบุรี สมุทรสาคร สุพรรณบุรี ปัตตานี นครสวรรค์ ชลบุรี จังหวัดละ 1 ราย ทำให้มียอดผู้เสียชีวิตสะสม 1,819 ราย ส่วนความคืบหน้าการฉีดวัคซีนเมื่อวันที่ 24 มิ.ย. มีการฉีดไป 257,103 โดส ข้อมูลผู้ได้รับวัคซีนตั้งแต่ 28 ก.พ.-24 มิ.ย. 8,657,423 โดส ขณะที่สถานการณ์โลก มีผู้ติดเชื้อสะสม 180,765,742 ราย เสียชีวิตสะสม 3,915,962 ราย

 พญ.อภิสมัย กล่าวว่า 5 จังหวัดที่พบผู้ติดเชื้อสูงสุดวันที่ 25 มิ.ย. ได้แก่ กทม. 1,142 ราย สมุทรสาคร 295 ราย ยะลา 215 ราย ปทุมธานี 192 ราย สมุทรปราการ 186 ราย สำหรับภาพรวมทั่วประเทศ พบคลัสเตอร์ใหม่ในหลายจังหวัด ดังนี้ จ.ปทุมธานี 2 แห่ง ที่โรงงานขนม อ.ลาดหลุมแก้ว พบผู้ติดเชื้อ 56 ราย บริษัทผลิตลวดโลหะ อ.เมือง 7 ราย จ.สมุทรปราการ ที่บริษัทผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ อ.บางพลี 129 ราย จ.นนทบุรี บริษัทผลิตพลาสติก อ.บางกรวย 9 ราย จ.นครปฐม ที่โรงฆ่าสัตว์ ต.ท่าข้าม อ.สามพราน 5 ราย จ.ฉะเชิงเทรา ที่บริษัทผลิตสี อ.บางปะกง 12 ราย

ขณะที่กทม. พบคลัสเตอร์ใหม่ 8 แห่ง ประกอบด้วย ที่เขตคลองสามวา 2 แห่ง คือ แคมป์คนงาน ถนนพระยาสุเรนทร์ และแคมป์ก่อสร้าง ย่านคู้บอน, แคมป์ก่อสร้าง ย่านพัฒนาการ 32 เขตสวนหลวง, บริษัทจำหน่ายพลาสติกบรรจุภัณฑ์ภาชนะ เขตบางแค, ที่เขตบางขุนเทียน 3 แห่งคือ บริษัทผลิตภัณฑ์แก๊สปิโตรเลียม บริษัทขนมขบเคี้ยว และบริษัทผลิตและจำหน่ายเครื่องสำอาง, บริษัทผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูป เขตบางบอน ทำให้ขณะนี้ กทม.มีคลัสเตอร์ที่ต้องเฝ้าระวังแล้ว 107 แห่ง

     

พญ.อภิสมัย กล่าวว่า ที่ประชุม ศบค.ชุดเล็กมีความเป็นห่วงเรื่องเตียงในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล ที่ต้องมีการเพิ่มศักยภาพขยายเตียงเพื่อให้ดูแลผู้ป่วยระดับสีเหลืองและสีแดงได้ โดยมีแผนการขยายศักยภาพโรงพยาบาลและเตียงผู้ป่วย โดย โรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน สีเหลืองจะเพิ่ม 70 เตียง สีแดงเพิ่ม 16 เตียง โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ สีเหลืองเพิ่ม 100 เตียง สีแดงเพิ่ม 40 เตียง โรงพยาบาลธนบุรี (มณฑลทหารบกที่ 11) สีเหลืองเพิ่ม 200 เตียง สีแดงเพิ่ม 55 เตียง คาดว่าภายใน 1 สัปดาห์จะสามารถปรับพื้นที่และระดมบุคลากรเข้าบริการได้ 

 อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมยังหารือกันเรื่องแคมป์คนงาน โรงงาน ตลาด ชุมชน ในกทม.ที่ต้องเฝ้าระวัง เนื่องจากพบคลัสเตอร์ที่มีการแพร่ระบาดมากกว่า 28 วัน จำนวน 25 แห่ง คลัสเตอร์ที่มีการแพร่ระบาด 14-27 วัน จำนวน 13 แห่ง ซึ่งกระจายอยู่ใน 6 เขต ทั้งนี้ การที่ กทม.ไม่สามารถจบคลัสเตอร์ได้ภายใน 28 วันหลังจากบับเบิ้ลแอนด์ซีลบางจุดแล้ว แตกต่างจากกรณี จ.สมุทรสาคร ที่สามารถยุติได้ภายใน 28 วัน ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องความร่วมมือ ที่ยังมีการเล็ดรอดจากแคมป์คนงานไปในตลาด ชุมชน หรือพอปิดแคมป์หนึ่งก็มีการเคลื่อนย้ายไปอีกแคมป์หนึ่ง

พญ.อภิสมัย กล่าวว่า กรณีที่มีข้อเสนอถกเถียงกันมากในสัปดาห์นี้คือเรื่องการปิด หรือล็อกดาวน์ที่กระทรวงสาธารณสุขมีความเป็นห่วงเรื่องการแพร่ระบาดที่อาจจะขยายวงกว้าง และทำให้ระบบเตียงหรือบุคลากรสาธารณสุขที่ตอนนี้ทำงานอย่างหนักอาจจะรองรับไม่ไหว ที่ประชุมมีการหารืออย่างกว้างขวาง ศบค. เน้นย้ำว่าต้องรับฟังทุกฝ่าย เรื่องเตียงมีความเป็นห่วงและพยายามขยายศักยภาพ โดยผอ.ศบค.ได้เน้นย้ำตลอดเวลาไม่ได้นิ่งนอนใจ และขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พยายามที่จะแก้ปัญหาให้ได้อย่างเร็วที่สุด 

 

นอกจากนี้ ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาผู้ประกอบการด้านต่างๆ ได้ยื่นเรื่องเสนอให้ทบทวนมาตรการการปิด หรือล็อกดาวน์ ทำให้เห็นภาพว่า ถ้าร้านอาหารแห่งหนึ่งปิดจะมีองค์ประกอบสังคมที่เกี่ยวข้องกัน เช่น มีแม่ค้ารถเข็นขายอยู่ที่หน้าร้านนั้นๆ ศบค. มีความเห็นใจ รวมถึงลูกจ้างที่ทำงานในร้านเหล่านั้น ที่อาจได้รับผลกระทบกันโดยทั่ว ที่ประชุมจึงเสนอทางเลือกหลากหลาย

 โดยกรมควบคุมโรคเสนอลักษณะการล็อกเป็นจุดๆ โดยมีองค์ประกอบ 3 ส่วนคือ ปิดพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง, บุคคลกลุ่มเสี่ยง เช่น แรงงานต่างด้าว, ปิดในกิจกรรมกิจการเสี่ยง มากกว่าปิดทั้งหมดทั้ง กทม. หรือทั้งจังหวัด ซึ่งในต่างจังหวัดจะเห็นภาพได้ชัด เช่น ปิดตำบลที่เสี่ยง ตลาดที่เสี่ยง แคมป์คนงาน ต่างด้าวที่เดินกับทางข้ามพื้นที่ก็ล็อกเฉพาะส่วนนั้น

เนื่องจากที่สำคัญมีความเป็นห่วงว่า การล็อกอาจจะไม่ได้แก้ปัญหา แต่กลายเป็นจุดชนวน ของปัญหามากขึ้น เช่นที่โรงเรียนมัรกัส จ.ยะลา เมื่อปิดโรงเรียนแล้ว มีการแพร่กระจาย ไปได้ 11 จังหวัด ทำให้เห็นภาพว่าหากปิดกิจการหรือกิจกรรมอาจจะเป็นการแพร่กระจายเชื้อ ขอย้ำว่าที่ประชุมมีการหารือทุกแง่มุม ดังนั้น จากภาพตัวอย่างทำให้เห็นว่าการปิดอาจจะไม่ใช่การตอบโจทย์ทั้งหมด จะต้องมีการหารือให้รอบด้าน ทั้งด้านสาธารณสุข เศรษฐกิจและอื่นๆ 

 ซึ่งในวันเดียวกันนี้เวลา 14.00 น. จะมีการหารือถึงมาตรการล็อกดาวน์ โดยนายกรัฐมนตรีร่วมหารือกับคณะที่ปรึกษาและตัวแทนกระทรวงสาธารณสุข แรงงาน มหาดไทย ด้วย