'สวัสดิ์ หอรุ่งเรือง' เจ้าพ่อเหล็กผู้ล้มละลายจากต้มยำกุ้ง เจ้าของวลีเด็ด 'ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย'
ทำความรู้จัก "สวัสดิ์ หอรุ่งเรือง" เจ้าพ่อเหล็กผู้ล้มละลายจากต้มยำกุ้ง เจ้าของวลีดัง 'ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย'
"ผมจะทำงานเพื่อเงิน ไม่ใช่ทำเพื่อความเป็นเจ้าของ" คือคำปรารภแรกของ สวัสดิ์ หอรุ่งเรือง อดีตเจ้าพ่ออุตสาหกรรมเหล็ก ผู้ซึ่งผ่านร้อน ผ่านหนาว ในแวดวงธุรกิจ และการเมืองมาอย่างโชกโชน จนชื่อเสียงระบือทั่วท้องแผ่นดิน
หากจำกันได้วลี "ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย" คือคำฮิตพิชิตขั้วหัวใจเจ้าหนี้ เมื่อช่วงปีพ.ศ. 2540 ที่เศรษฐกิจไทยล้มละลาย และต้องขอรับความช่วยเหลือทางการเงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ส่งให้ สวัสดิ์ ดังเป็นพลุแตกเพียงชั่วข้ามคืน
ในวันนี้ สวัสดิ์ ยังยืนยันว่า เพราะ ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย ทำให้เขามาสามารถยืนหยัดมาได้ เพราะหากในวันนั้นเขาตัดสินใจเอาเงินสดที่มีอยู่ยกให้เจ้าหนี้ โรงงานเหล็ก 2 แห่ง และธุรกิจอื่นๆ ที่มีอยู่ในตอนนั้น จะต้องปิดกิจการ โรงงานเหล็กจะถูกตัดขายเป็นเศษเหล็ก ซึ่งผู้ที่เสียหายหนักก็คือเจ้าหนี้
สวัสดิ์ กล่าวว่า บทเรียนจากวิกฤติเศรษฐกิจเมื่อทศวรรษก่อน ทำให้เรียนรู้ว่า การทำธุรกิจเพื่อความเป็นเจ้าของ ไม่ใช่แนวทางที่ดีที่สุด แต่การทำธุรกิจเพื่อเงิน เป็นวัฒนธรรมการทำธุรกิจในแบบอเมริกัน สไตล์ น่าจะเหมาะสมกับยุคนี้ สมัยนี้มากที่สุด
เพียงแค่ 10 ปี ความมั่งคั่งของ สวัสดิ์ หดหายไปจำนวนมหาศาล จากบุคคลที่มีสินทรัพย์นับแสนล้านบาท จนนิตยสารฟอร์บ จัดอันดับให้เป็นผู้ที่ร่ำรวย ถึงวันนี้ สวัสดิ์ ยอมรับว่า สินทรัพย์ที่เหลืออยู่มีแค่หลักพันล้านบาทเท่านั้น
"ก่อนวิกฤติเศรษฐกิจ ฟอร์บ จัดอันดับให้ผมเป็นเศรษฐีอันดับต้นๆ ของเมืองไทย แต่ผ่านไปแค่ 10 ปี อันดับของผมในวันนี้คงจะติดลบไปแล้ว" สวัสดิ์ กล่าว
ก่อนวิกฤติเศรษฐกิจไทยเมื่อปี 2540 สวัสดิ์ เป็นเจ้าของธุรกิจที่มีมูลค่าร่วมนับแสนล้านบาท ซึ่งรวมถึงโรงเหล็กขนาดใหญ่ 2 แห่ง ได้แก่ บริษัทนครไทยสตริปมิลล์ (เอ็นเอสเอ็ม) และ บริษัท เอ็น ที เอส สตีล นอกจากนี้ยังมีบริษัทซันเท็คกรุ๊ป บริษัทศรีราชาฮาเบอร์ บริษัทหลักทรัพย์ปิ่นเกล้า บริษัทเหมราชพัฒนาที่ดิน และบริษัทอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอีกหลายแห่ง
การได้มาซึ่งธุรกิจนับแสนล้านบาทนั้น สวัสดิ์ ต้องใช้เงินกู้จำนวนมากทั้งในและต่างประเทศ เพื่อนำมาสร้างฝันของตัวเองที่มีมาตั้งแต่วัยเด็ก ว่ากันว่า เฉพาะเอ็นเอสเอ็ม เข้าใช้เงินกู้มากกว่า 3 หมื่นล้านบาท เพื่อสร้างโรงงานเหล็กรีดร้อน รีดเย็น หลักล้านตันต่อปี และใช้เงินกู้อีกหลายหมื่นล้านบาท เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของเอ็น ที เอส สตีล
ชีวิตของ สวัสดิ์ เข้าสู่ช่วงยากลำบาก เมื่อธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประกาศลอยตัวค่าเงินบาทเมื่อวันที่ 2 ก.ค.2540 สวัสดิ์ บอกว่า เป็นวันที่เขาทำอะไรไม่ถูก คิดอะไรไม่ออก คิดอย่างเดียวจะทำยังไงกับหนี้สินที่กองอยู่ตรงหน้า และเพิ่มขึ้นกว่าเกือบตัวเพราะพิษของค่าเงิน ผลจากการใช้เงินกู้จากต่างประเทศ เขาบอกว่าใช้เวลา 3 วัน ในการอยู่กับตัวเอง เพื่อหาคำตอบ ก่อนจะพบว่า ทุกอย่างต้องเดินหน้า การต่อสู้จะต้องดำเนินต่อไป วลี ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย จึงถูกประกาศออกมา จนสั่นสะเทือนไปทั่วทั้งวงการในขณะนั้น
เมื่อตั้งหลักได้ สวัสดิ์ จึงเดินหน้าเจรจากับเจ้าหนี้ทั้งหมด เพื่อขอปรับโครงสร้างหนี้ที่มีอยู่กว่า 1 แสนล้านบาทในขณะนั้น ในส่วนของ เอ็น ที เอส ที่มีหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย ไม่ต่ำกว่า 3 หมื่นล้านบาท ถูกนำไปรวมกับบริษัทเหล็กเส้นในเครือของบริษัทปูนซิเมนต์ไทย และตั้งชื่อใหม่ว่า มิลเลนเนียมสตีล (MS) หนี้สินบางส่วนถูกแปลงหนี้เป็นทุนให้เจ้าหนี้ ขณะที่ สวัสดิ์ ในฐานะผู้ถือหุ้นเดิม ถูกยึดหุ้นทั้งหมด เพื่อแลกกับวอร์แรนท์จำนวนหนึ่ง และตำแหน่งประธานกรรมการ
ไม่เพียงเท่านี้ ในส่วนของ เอ็นเอสเอ็ม ที่มีหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยค้างรับกว่า 3 หมื่นล้านบาท สวัสดิ์ ใช้ความพยายามในการเจรจากับเจ้าหนี้ไม่น้อยกว่า 2 ปี โดยความช่วยเหลืออย่างเข้มข้นจากทางการ ในที่สุดก็ได้ข้อสรุปให้แปลงหนี้เป็นทุนจำนวน 90% ให้แก่เจ้าหนี้ ที่เหลืออีก 10% ให้ผู้ถือหุ้นเดิม ซึ่งในส่วนของ สวัสดิ์ ในฐานะผู้ก่อตั้งเหลือหุ้นเพียง 3% แต่ก็ได้วอร์แรนท์ อายุ 10 ปี เป็นการตอบแทน
"ผมไม่แคร์ ว่าวันนี้ผมจะสูญเสียความเป็นเจ้าของในธุรกิจที่ผมตั้งมากับมือ ผมรอได้ ผมเชื่อว่าผมยังมีโอกาสจะกลับมา และผมจะกลับมา" สวัสดิ์ เคยกล่าวไว้ในการสัมภาษณ์เมื่อหลายปีก่อน
สวัสดิ์ บอกว่าในวันนี้เขาไม่ได้เป็นอะไรทั้งสิ้นใน เอ็นทีเอส สตีล และ เอ็นเอสเอ็ม เมื่อเอ็นทีเอสสตีลที่เป็นมิลเลนเนียมสตีล ถูก ทาทา สตีล ยักษ์ใหญ่อุตสาหกรรมเหล็กจากอินเดียซื้อไป ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น ทาทา สตีล (ประเทศไทย) (TSTH) และยังจดทะเบียนในตลาดหุ้นของไทย ขณะที่บริษัทเอ็นเอสเอ็ม ก็ถูก จี สตีล (GSTEEL) เทคโอเวอร์ ส่วนวอร์แรนท์ของ 2 บริษัทที่ได้รับตามแผนปรับโครงสร้างหนี้ก็ถูกขายออกไปหมดแล้วเช่นกัน
"ก็ผมบอกแล้วไง เงินต้องมาก่อน วอร์แรนท์ของเอ็นเอสเอ็ม และ มิลเลนเนียมสตีล (ก่อนเป็นชื่อเป็นทาทา สตีล (ประเทศไทย) เมื่อได้กำไร ผมก็ขายออกไป ก็เท่านั้นเอง ไม่มีอะไร"
ในสถานะที่ความมั่งคั่งลดลง แต่ สวัสดิ์ เองยังต้องแบกรับภาระหนี้อีกจำนวนมาก โดยเฉพาะหนี้ค้ำประกันกว่า 3 หมื่นล้านบาท ที่ติดตัวมาตั้งแต่วิกฤติเศรษฐกิจ เป็นเงินต้นแค่ 8 พันล้านบาท ที่เหลือเป็นดอกเบี้ยค้างจ่าย ยังเป็นภาระที่หนักสำหรับตัวเขา แม้เขาจะบอกว่า ไม่มีปัญหาก็ตาม แต่ช่วงเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมาที่หนี้ส่วนนี้ยังไม่ลดลงนั้น สวัสดิ์ บอกให้ขบคิดเองว่า การใช้หนี้ทุกอย่างต้องมีเหตุผล ก.ค. 2551 ศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด สวัสดิ์ หอรุ่งเรือง และกลายเป็นบุคคลล้มละลาย และถูกปลดออกจากบัญชีล้มละลายในอีก 3 ปีต่อมา
สวัสดิ์ ยอมรับว่า ไม่รู้สึกเสียดายความร่ำรวย ที่วันนี้เหลือเพียงแค่อดีต ชีวิตวันนี้มีไว้เพื่อวันข้างหน้าเท่านั้น เขาจึงมักจะสร้างโอกาสให้กับตนเองอยู่เสมอๆ เขาไม่เคยเสียดายเวลาที่ได้พบปะผู้คนเป็นร้อยๆ คนในแต่ละวัน เพราะทุกคนที่ได้พบ ได้เจอ ย่อมหมายถึงโอกาสที่เขาเลือกที่จะไขว่คว้า