'หมอธีระวัฒน์' เผย 'ซิโนแวค' 2 เข็ม แทบไม่ช่วยต้านโควิด 'อัลฟา-เดลตา'
"หมอธีระวัฒน์" ผู้เชี่ยวชาญทางอายุรศาสตร์และทางระบบประสาท รพ.จุฬาลงกรณ์ เผย "ซิโนแวค" 2 เข็ม แทบไม่ช่วยต้านโควิดสายพันธุ์ "อัลฟา" และ "เดลตา" ย้ำ "บุคลากรการแพทย์" จำเป็นต้องได้ "วัคซีนบูสเตอร์"
11 ก.ค. 64 ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัว ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha ระบุว่า "วัคซีนซิโนแวค หลังจากฉีดสองเข็มจะเห็นภูมิคุ้มกันที่ยับยั้งไวรัสได้ที่ 30 วัน หลังจากฉีดเข็มที่สอง
ในระยะแรก ที่พวกเราทำงานจะไม่ค่อยเห็นบุคลากรทางสาธารณสุขติดเชื้อเท่าไหร่และที่ติดอาการไม่ค่อยมากแต่แน่นอนแพร่เชื้อไปให้คนอื่นได้โดยมีปริมาณไวรัสในจำนวนสูง
ในระยะต่อมา พวกเราเริ่มติดเชื้อกันมากขึ้นเรื่อยๆ น้องพยาบาลหมอและเจ้าหน้าที่ฝ่ายอื่นๆ เด็กๆ ที่เพิ่งจบการอบรมกำลังจะไปทำงานที่ต้นสังกัดที่ต่างจังหวัดพบการติดเชื้อเช่นกันและอาการเริ่มดูเหมือนเห็นชัดเจนขึ้น เริ่มมีปอดอักเสบขึ้น แต่ไม่ถึงกับเสียชีวิตและเราก็เชื่อมั่นว่าอย่างน้อยอาการก็ไม่หนัก และจนกระทั่งที่เห็นในรายนี้
ทั้งนี้ เมื่อเราตรวจสอบภูมิคุ้มกันในเลือดของพวกเรากันเองรวมทั้งคนที่ปฏิบัติงานในห้อง lab ที่ต้องเจอเชื่ออยู่ตลอดทุกวัน พบว่าระดับภูมิคุ้มกันลดลงอย่างรวดเร็วแม้ว่าในระยะแรกจะสูงถึง 90% ก็ตกลงมาเหลือ 30 ถึง 40%
และเมื่อทำการวิเคราะห์รายที่ภูมิคุ้มกันยังอยู่ในระดับพอใช้ได้คือ 70% ปรากฏว่าสู้กับไวรัสอัลฟ่า และเดลต้าแทบไม่ได้เลย ซึ่งเป็นงานของอาจารย์ดร.อนันต์ ที่ไบโอเทคร่วมกันกับอาจารย์หมอเขตต์ สถาบันโรคทรวงอกและกับพวกเรา ที่วิเคราะห์ระดับภูมิคุ้มกันในเลือด
เจ้าหน้าที่สาธารณสุขด่านหน้า มีโอกาสจะเจอผู้ติดเชื้อทั้งที่มีและไม่มีอาการอยู่ตลอดเวลาเมื่อติดมีโอกาสแพร่เชื้อให้ผู้อื่นทั้งผู้ป่วยและเพื่อนร่วมงานเกิดปัญหาในผู้ป่วยและเกิดปัญหาที่บุคลากรต้องหยุดงานพักตัว กักตัว และกับโรคของตนเอง
ที่พวกเราร้องขอวัคซีนบูสเตอร์ เข็มที่สามและให้ข้อมูลว่าเมื่อฉีดเข็มที่สามด้วยวัคซีนที่ต่างจากซิโนแวค ไปแล้วจะทำให้ภูมิสูงขึ้นมากและทนทานต่ออัลฟ่าและเดลต้าได้ เรียนย้ำพวกเราไม่ใช่วีไอพีไม่ใช่คนที่มีอภิสิทธิ์กว่าประชาชนคนไทยทั้งประเทศแต่เพื่อให้ทำงานต่อไปได้เพื่อไม่ให้แพร่เชื้อไปหาคนอื่นได้มากหลาย"