'ปิดทองหลังพระฯ' หนุนเกษตรกรชายแดนใต้ปลูกทุเรียนคุณภาพ เตรียมส่งออกจีนกว่า 8 ล้านตัน
"ปิดทองหลังพระฯ"หนุนเกษตรกร 3 จังหวัดชายแดนใต้ เดินหน้าทุเรียนคุณภาพปี 3 ผลผลิตเข้าโครงการ 16.8 ตัน คัดเกรดส่งออกจีนได้มากกว่า52% สูงกว่าทุกปีที่ผ่านมา ทางด้านเกษตรกรก็พอใจโครงสร้างราคาใหม่ที่เพิ่มขึ้น เข้มมาตรการเฝ้าระวังโควิด-19 รักษาคุณภาพผลผลิต
นายการัณย์ ศุภกิจวิเลขการ ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ กล่าวว่าจากการที่สถาบันปิดทองหลังพระได้มีการเปิดรับซื้อผลผลิตทุเรียนคุณภาพในโครง "การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรให้มีคุณภาพตามศาสตร์พระราชา" หรือ "โครงการทุเรียนคุณภาพ ปีที่ 3" เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคมที่ผ่านมา
ปรากฏว่า มีเกษตรกรนำผลผลิตมาจำหน่ายในวันแรก จำนวน 36 ราย ผลผลิตทุเรียน 16.8 ตัน ในจำนวนนี้เป็นทุเรียนคุณภาพ เกรดเอบี ซึ่งจะส่งออกไปจำหน่ายยังประเทศจีน มากกว่า 52% นับเป็นปริมาณทุเรียนคุณภาพเกรดเอบีสูงกว่าทุกปีที่ผ่านมา เป็นไปตามเป้าหมายการทำงานของปิดทองหลังพระฯ ซึ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพของทุเรียน
ทั้งนี้จากจำนวนทุเรียนคุณภาพในเกรดที่ส่งออกไปยังประเทศจีนได้มากกว่า 50% คิดเป็นผลิตไม่ต่ำกว่า 8 ล้านตันที่จะมีการส่งออกไปยังตลาดในประเทศจีน
"ผลผลิตทุเรียนในโครงการฯ ปีนี้ คาดการณ์ว่าจะมีปริมาณ รวมทั้งสิ้น 1,655 ตัน หรือ 1,655,000 กิโลกรัม จากเกษตรกร 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ยะลา นราธิวาส ปัตตานี) ที่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 564 ราย ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา มีผลผลิต 1,687 ตันสามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรมากกว่า 141 ล้านบาท"
ในปีนี้ ปิดทองหลังพระฯ มีการปรับโครงสร้างราคารับซื้อใหม่ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรมุ่งผลิตทุเรียนให้มีคุณภาพยิ่งขึ้น ด้วยการประเมินผลการทำงานของเกษตรกรตลอดทั้งปีแล้วจัดอันดับเกษตรกร เป็น A, BและC ตามเกณฑ์การให้คะแนนการดูแลต้นทุเรียนตามมาตรฐานคู่มือการผลิตทุเรียนคุณภาพ โดยเกษตรกรที่ได้คะแนนกลุ่ม A จะขายผลผลิตเกรด AB ในราคาสูงกว่าเกษตรกรกลุ่ม B และ C อย่างไรก็ตาม การรับซื้อทุเรียนของปิดทองหลังพระฯ นั้น จะให้ราคาเบื้องต้นสูงกว่าราคาตลาดในพื้นที่อยู่แล้ว
ค่อนข้างพอใจผลการดำเนินงานในปีนี้ จากการที่มีผลผลิตทุเรียนคุณภาพได้มาตรฐานการส่งออกสูงกว่าทุกปีที่ผ่านมา และมากกว่าครึ่งหนึ่งของผลผลิตทั้งหมด ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับก่อนที่โครงการฯ จะเข้ามา ผลผลิตทุเรียนคุณภาพในภาคใต้มีอยู่เพียง10% เท่านั้น เนื่องจากเกษตรกรตระหนักถึงเรื่องคุณภาพของทุเรียนมากขึ้นจากการเห็นผลดีของการทำทุเรียนให้ได้คุณภาพส่งออก จึงเอาจริงเอาจังกับการดูแลบำรุงต้นตลอดกระบวนการผลิตทุกระยะ และปฏิบัติตามคู่มือทุเรียนคุณภาพอย่างเคร่งครัดมากขึ้น ขณะที่ตลาดก็มีการแข่งขันกันมากขึ้นในเรื่องคุณภาพ ที่สำคัญ ทุเรียนในโครงการฯ ได้รับการยอมรับในเรื่องคุณภาพและเป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้น
ผู้อำนวยการสถาบันฯ กล่าวอีกว่า เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในการรับซื้อทุเรียนครั้งนี้ ปิดทองหลังพระฯ จึงกำหนดมาตรการเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคอย่างเคร่งครัดทุกขั้นตอน เช่น จำกัดจำนวนเกษตรกรที่จะเดินทางเข้ามา 2 คน ต่อรถ 1 คัน มีมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม โดยจัดที่นั่งพักรอไว้ให้ มีจัดลำดับคิวรถ และการแจกบัตรคิว ก่อนเข้าบริเวณ ต้องสแกนตรวจวัดอุณหภูมิ ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ มีการเปิดช่องทางเข้าออกไว้ 5 ช่องทาง เพื่อลดความแออัด และมีการสลับเปลี่ยนพนักงานคัดเกรดทุก 2 ชั่วโมง ทำความสะอาดแหล่งรวบรวมผลผลิต พ่นยาฆ่าเชื้อทุกวัน เจ้าหน้าที่จะได้รับการฉีดวัคซีนก่อนทุกคน และจะมีการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ทุก ๆ 10 วัน รวมทั้งจัดทำข้อมูลบุคคลที่เข้าออกรายงานต่อพาณิชย์จังหวัดทุกวัน
ทางด้านเกษตรกรนางสาวนูรีซัน อภิบาลแบ เกษตรกรตำบลบาเจาะ อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา ซึ่งนำผลผลิตมาจำหน่ายให้กับโครงการฯ ในวันแรกนี้ กล่าวว่า ได้นำทุเรียนหมอนทองกว่า 580 กิโลกรัมมาจำหน่ายให้โครงการ เป็นเงินกว่า 60,000 บาท ซึ่งผลผลิตในปีนี้มีทุเรียนเกรด เอบี กว่าร้อยละ 80 มากขึ้นจากปีก่อน
เนื่องจากทำตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด บวกกับเจ้าหน้าที่คอยเป็นพี่เลี้ยงพร้อมให้ความรู้อย่างสม่ำเสมอ และรู้สึกพอใจที่ปีนี้มีการปรับโครงสร้างราคาใหม่ โดยตนเองเป็นเกษตรกรเกรดเอ นำทุเรียนเกรดเอบีมาขาย ได้ราคาถึงกิโลกรัมละ 108 บาท ทำให้ทุเรียนมีราคาดีขึ้นกว่าราคาตลาดทั่วไป คาดว่ารายได้ต้องมากกว่าปีที่แล้วแน่นอน