ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับลด หลังอุปสงค์ได้รับแรงกดดันจากการแพร่ระบาดระลอกใหม่
ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 67 - 72 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 69 - 74 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ ( 9 – 13 ส.ค. 64)
ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับลดลง หลังตลาดได้รับแรงกดดันจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา โดยเฉพาะในสหรัฐฯ และจีน ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันลดลง ประกอบกับการเพิ่มกำลังการผลิตของกลุ่มโอเปคพลัสราว 0.4 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือน ส.ค. 64 เมื่อเทียบกับเดือน ก.ค. 64 อย่างไรก็ตาม ตลาดยังมีแรงสนับสนุนจากการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ทั่วโลกที่อยู่ในระดับสูง ทำให้นักวิเคราะห์คาดว่าหลายประเทศอาจไม่มีความจำเป็นต้องบังคับใช้มาตรการล็อคดาวน์ที่เข้มงวดมากนัก ขณะที่ความต้องการใช้น้ำมันของอินเดียเริ่มฟื้นตัวอย่างเห็นได้ชัด หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย
ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:
- ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลง หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลตายังคงรุนแรงในหลายประเทศ โดยเฉพาะในสหรัฐฯ และจีน โดยล่าสุด จีนพบผู้ติดเชื้อรายใหม่สายพันธุ์เดลตากระจายไปกว่า 20 เมือง มากกว่า 12 มณฑล ทั่วประเทศ ส่งผลให้ต้องกลับมาบังคับใช้มาตรการล็อกดาวน์เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดอีกครั้ง ขณะที่รัฐบาลสหรัฐฯ ยังกังวลว่าการแพร่ระบาดอาจเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่เป็นประชากรที่ยังไม่ได้รับหรือปฎิเสธการฉีดวัคซีน อย่างไรก็ตามสหรัฐฯคาดว่าจะไม่บังคับใช้มาตรการล็อคดาวน์ เพราะกังวลผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 โดยรวมอยู่ในระดับสูง นอกจากนี้ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทย ญี่ปุ่น มาเลเซีย เวียดนาม ออสเตรเลีย ยังคงเพิ่มสูงขึ้น ทำให้แต่ละประเทศยังคงประกาศใช้มาตรการล็อคดาวน์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อปริมาณความต้องการใช้น้ำมันในปัจจุบัน
- ตัวเลขทางเศรษฐกิจล่าสุดของจีนและสหรัฐฯกดดันราคาน้ำมันดิบ โดยดัชนีภาคการผลิต (Caixin/Markit PMI) เดือน ก.ค. 64 ปรับลดลงอยู่ที่ระดับ 3 เมื่อเทียบกับ 51.3 ในเดือน มิ.ย. 64 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน เม.ย. 63 หลังราคาวัตถุดิบปรับตัวสูงขึ้น และปริมาณการส่งออกที่ลดลง จากความต้องการบริโภคในภูมิภาคได้รับผลกระทบ จากการแพร่ระบาดระลอกใหม่ ขณะที่ดัชนีภาคผลิตสหรัฐฯ (ISM Manufacturing Index) ในเดือน ก.ค. 64 ปรับลดลงเล็กน้อยอยู่ที่ 59.5 เมื่อเทียบกับ 60.6 ในเดือน มิ.ย. 64 อย่างไรก็ตามดัชนีดังกล่าวยังอยู่ในระดับที่มากกว่า 50 นั่นคือภาคการผลิตยังมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง หลังประชากรสหรัฐฯ ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในระดับสูง ทำให้ภาคการผลิตตอบรับความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้น สอดคล้องกับการจ้างงานภาคเอกชนของสหรัฐฯ ในเดือน ก.ค. 64 ที่เพิ่มขึ้น 330,000 ตำแหน่ง
- ปริมาณการผลิตของกลุ่มโอเปคเดือน ก.ค. 64 เพิ่มขึ้นราว 61 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากเดือน มิ.ย. 64 แตะระดับ 26.72 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งเป็นไปตามข้อตกลงการผลิต โดยความร่วมมือในการปรับลดกำลังการผลิตในเดือน ก.ค. 64 อยู่ที่ระดับ 115% ปรับลดลงเล็กน้อยจากระดับ 118% ในเดือน มิ.ย. 64
- สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ณ สัปดาห์สิ้นสุด 30 ก.ค. 64 ปรับเพิ่มขึ้น 3.6 ล้านบาร์เรล สู่ระดับ 439.2 ล้านบาร์เรล สวนทางกับนักวิเคราะห์ที่คาดการณ์ว่าจะลดลง 3.1 ล้านบาร์เรล หลังความต้องการใช้น้ำมันในสหรัฐฯ เริ่มทรงตัว สอดคล้องกับกำลังการผลิตของโรงกลั่นสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อยเพียง 0.2%
- นายอิบราฮิม ไรซี ประธานาธิบดีคนใหม่ของอิหร่าน เปิดเผยหลังชนะการรับรองให้เข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการว่า รัฐบาลของเขาจะดำเนินการทุกวิถีทาง เพื่อให้สหรัฐฯ ยกเลิกมาตรการคว่ำบาตร ซึ่งจะส่งผลให้คุณภาพชีวิตของชาวอิหร่านดีขึ้น โดยนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าหากสหรัฐฯ ยกเลิกคว่ำบาตรอิหร่าน จะส่งผลให้ปริมาณน้ำมันดิบจากอิหร่านกลับเข้าสู่ตลาดอีกครั้ง
- ความต้องการใช้น้ำมันในอินเดียฟื้นตัวหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย โดยความต้องการใช้น้ำมันเบนซินอินเดียเดือน ก.ค. 64 ปรับเพิ่มขึ้น 5.7% เมื่อเทียบกับเดือน มิ.ย. 64 แตะระดับ 76,500 ตัน ซึ่งเป็นระดับที่สูงกว่าก่อนเกิดการแพร่ระบาด อย่างไรก็ตามความต้องการใช้น้ำมันดีเซลปรับลดลง 3.5% ในเดือน ก.ค. 64 เมื่อเทียบกับเดือน มิ.ย. 64 เนื่องจากภาคอุตสาหกรรมยังไม่ฟื้นตัวอย่างเต็มที่ โดยบริษัท India Oil Corp. คาดว่าปริมาณความต้องการใช้น้ำมันดีเซลจะกลับสู่ระดับก่อนเกิดการแพร่ระบาดภายในเดือน พ.ย. 64
- เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีผู้บริโภคจีนและสหรัฐฯ เดือน ก.ค. 64 จีดีพีอังกฤษและสหภาพยุโรปไตรมาส 2/64 ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมสหภาพยุโรปเดือน มิ.ย. 64
สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (2 – 6 ส.ค. 64)
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลง 5.67 ดอลลาร์สหรัฐฯ มาอยู่ที่ 68.28 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เช่นเดียวกันกับราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับลด 5.63 ดอลลาร์สหรัฐฯ มาอยู่ที่ 70.70 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 70.91 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลังการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ ส่งผลกระทบต่อปริมาณความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลก โดยเฉพาะสหรัฐฯ จีนและเอเชีย ทำให้หลายประเทศยังคงมาตรการล็อคดาวน์ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด ประกอบกับตลาดกังวลปริมาณอุปทานทั่วโลกที่อาจเพิ่มขึ้นจากข้อตกลงเพิ่มกำลังการผลิตของกลุ่มโอเปคพลัส อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบได้รับแรงหนุนจากจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติสหรัฐฯที่ปรับลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 8 สัปดาห์