'พรรคร่วมฝ่ายค้าน' ยื่นญัตติ ซักฟอก6รมต. แล้ว

'พรรคร่วมฝ่ายค้าน' ยื่นญัตติ ซักฟอก6รมต. แล้ว

สมพงษ์ นำ พรรคร่วมฝ่ายค้าน ยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ กับ "ชวน" แล้ว ย้ำเลือกอย่างรอบคอบและถี่ถ้วน เน้นความผิดพลาด แก้โควิด-วัคซีน-ปัญหาเศรษฐกิจ วิงวอน "ส.ส.รัฐบาล" ฟังความเดือดร้อนของประชาชน

       ผู้สื่อข่าวรายงานงาน ว่า พรรคร่วมฝ่ายค้าน นำโดย นายสมพงษ์​ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย, นายประเสริฐ บุญไ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล, นายสงคราม กิจเลศไพโรจน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อชาติ, นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทยศรีวิไลย์, นายนิคม บุญวิเศษ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังปวงชนไทย, พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ, นายวิรัตน์ วรศสิริน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเสรีรวมไทย  เข้ายื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล

       โดยมีรายชื่อรัฐมนตรีที่ยื่นญัตติ ดังกล่าว จำนวน 6 คน คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม, นายอนุทิน ชายวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข, นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน, นายศักดิ์สยาม  ชิดชอบ รมว.คมนาคมล นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ และ นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
       นายสมพงษ์ กล่าวว่า พรรคร่วมมีความจำเป็นต้องยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจเป็นรายบุคคล หลังจากพบความล้มเหลวของการบริหารวัคซีนและแก้ปัญหาโควิด-19 รวมถึงปัญหาเศษฐกิจ ทั้งนี้ส.ส.มีการเสนอรายชื่อรัฐมนตรีหลากหลาย แต่รายชื่อทั้ง6 คนนั้นได้ผ่านการพิจารณาอย่างรอบคอบและถี่ถ้วนแล้ว 
      "สำหรับช่วงการการอภิปรายไม่ไว้วางใจ อยากได้ประมาณ 3 วันขึ้นไป แต่ทั้งนี้ต้องหารือกับฝ่ายที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง ทั้งนี้ผมเชื่อว่าสิ่งที่กำหนดและตั้งใจอภิปรายรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ได้รวบรวมหลักฐานครบถ้วน ส่วนจะเอาชนะเขาได้หรือไม่นั้น ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลต้องคิดว่าจะฟังการอภิปรายของฝ่ายค้านและความเดือดร้อนของประชาชน คนที่อยู่ที่นี่เดือดร้อนกับการบริหารโควิด การจัดการที่ไม่ได้เรื่อง ดังนั้นส.ส.ฝ่ายรัฐบาลต้องฟัง และขอให้ประชาชนที่เลือกส.ส.รัฐบาล ว่า เขาเห็นแก่ประชาชนที่ล้มตายหรือไม่ ผมขอวิงวอน ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล พิจารณาเรื่องดังกล่าวและตัดสินใจ เพราะรอบนี้ถือว่าไม่มีอะไรที่สุดไปกว่านี้ " นายสมพงษ์ กล่าว 
       ด้านนายชวน กล่าวว่าการยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจถือเป็นครั้งที่ 3   โดยย 2 ครั้งแรกเกิดขึ้นในเดือนมกราคม และอภิปรายในเดือนกุมภาพันธ์  แต่ครั้งนี้อภิปรายสมัยประชุมแรกของปี วันเวลาที่เหมาะสมจะหารือกับทั้งสองฝ่ายอีกครั้ง จะกำหนดต่อไป ผลทางกฎหมายเมื่อเสนอและรับญัตติแล้ว จะยุบสภาไม่ได้ เว้นแต่จะถอนญัตติหรือลงมติในญัตติ
       “สำหรับการอภิปรายทั่วไป ตามมาตรา 152 กรณีที่อภิปรายเพื่อขอคำชี้แจงและแนะนำ คือ อภิปรายไม่ลงมติ มีสิทธิที่ทำได้อีกครั้งหนึ่งในสมัยประชุม ส่วนการอภิปรายไม่ไว้วางใจทำได้ในสมัยประชุมละหนึ่งครั้ง ผมจะรับญัตติไปตรวจสอบ ภายใน 7 วัน จากนั้นต้องประสานไปยังนายกรัฐมนตรีและรมว.ที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาถึงวันที่สะดวก” นายชวน กล่าว

       ขณะที่นายพิธา แถลงด้วยว่าแต่ละพรรคมีบุคคลไม่น่าไว้วางใจของตนเอง แต่ต้องฟังเสียงส่วนใหญ่ของพรรคร่วมฝ่ายค้าน และสรุปว่าต้องอภิปราย 6 รัฐมนตรี ทั้งนี้ต้องพูดคุยและรักษาบรรยากาศของพรรคร่วมฝ่ายค้าน อย่างไรก็ดียืนยันว่าพรรคร่วมฝ่ายค้านไม่มีปัญหาต่อกัน พร้อมกับยึดว่าประชาชนต้องมาก่อน แม้แต่ละพรรคจะมีความเห็นแตกต่างกัน เรามีวุฒิภาวะที่วางความแตกต่างลงเพื่อร่วมมือต่อการอภิปรายไม่ไว้วางใจ

       "พรรคก้าวไกลตั้งใจอภิปรายไม่ไว้วางใจช่วงนี้เพื่อใช้กลไกสภาฯ แก้ไขวิกฤตและลดความขัดแย้ง ถอดสลักที่ชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ ให้ประเทศเดินต่อไปได้ การอภิปรายครั้งที่สาม แตกต่างจากครั้งก่อน เพราะความเดือดร้อนและลำบากเกิดขึ้นวงกว้างของปัญหา ทำให้ประชาชนมีส่วนร่วม เมื่อประกาศจะอภิปรายไม่ไว้วางใจ พบว่ามีประชาชนส่งข้อมูลและภาพจำนวนมาก ขณะที่บรรยากาศในสภาและนอกสภาฯ ตรงกัน ที่ว่าไม่เหลือความชอบธรรมของพล.อ.ประยุทธ์ต่อการบริหารประเทศต่อไป" นายพิธา กล่าว.