ผลวิจัยชี้ความเสี่ยง‘ลิ่มเลือดอุดตัน’มาจากโควิดมากกว่าวัคซีน

ผลวิจัยชี้ความเสี่ยง‘ลิ่มเลือดอุดตัน’มาจากโควิดมากกว่าวัคซีน

ผลการศึกษาใหม่ชี้ ความเสี่ยงลิ่มเลือดอุดตันเป็นผลจากติดโควิดมากกว่าเกิดจากวัคซีน

คณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด วิทยาลัยสาธารณสุขและเวชศาสตร์เขตร้อนลอนดอน รวมถึงมหาวิทยาลัยและโรงพยาบาลของอังกฤษหลายแห่ง เผยแพร่ผลงานให้เพื่อนร่วมวงการทบทวนในวารสารการแพทย์อังกฤษ โดยวิเคราะห์ข้อมูลจากประชากรกว่า 29 ล้านคนที่ฉีดวัคซีนเข็มแรกเป็นแอสตร้าเซนเนเก้า-ออกซ์ฟอร์ดหรือไฟเซอร์-ไบออนเทคเพื่อหาอัตราการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันและภาวะเกล็ดเลือดต่ำ รวมถึงภาวะลิ่มเลือดอุดตันที่ระดับเกล็ดเลือดต่ำเกี่ยวข้องกับการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า โดยเปรียบเทียบอัตราการเกิดลิ่มเลือดอุดตันหลังฉีดวัคซีนเข็มแรกกับหลังตรวจเจอโควิด-19

คณะนักวิจัยพบว่า ความเสี่ยงเกิดอาการร้ายแรงเหล่านี้หลังติดเชื้อโควิด-19 สูงมากกว่าหลังฉีดวัคซีนออกซ์ฟอร์ด-แอสตร้าเซนเนก้าหรือไฟเซอร์-ไบออนเทค

ระหว่าง 8-28 วันหลังฉีดวัคซีนออกซ์ฟอร์ด-แอสตร้าเซนเนก้าเข็มแรก นักวิจัยพบความเสี่ยงลิ่มเลือดอุดตันและเกล็ดเลือดต่ำเพิ่มขึ้น ในเวลาเดียวกันหลังฉีดวัคซีนไฟเซอร์-ไบออนเทคโดสแรก พบว่า ความเสี่ยงลิ่มเลือดอุดตันและเส้นเลือดในสมองอุดตันอันเป็นผลมาจากเลือดเดินไปเลี้ยงสมองไม่ดีเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงเหล่านี้ยังต่ำมากเมื่อเทียบกับความเสี่ยงจากการติดเชื้อโควิด-19

คณะนักวิจัยประเมินว่า ประชาชน 107 จาก 10 ล้านคนจะเข้าโรงพยาบาลหรือเสียชีวิตจากเกล็ดเลือดต่ำภายใน 28 วันหลังฉีดวัคซีนออกซ์ฟอร์ด-แอสตร้าเซนเนก้าเข็มแรก ในทางตรงข้าม ตัวเลขจะเพิ่มเป็น 934 ต่อ 10 ล้านคนหลังตรวจพบติดโควิด

ภายใน 28 วันหลังฉีดออกซ์ฟอร์ด-แอสตร้าเซนเนก้าเข็มแรก ประชาชน 66 ต่อ 10 ล้านคนเข้าโรงพยาบาลหรือเสียชีวิตจากลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ เทียบกับประชาชน 12,614 ต่อ 10 ล้านคนที่เข้าโรงพยาบาลหรือเสียชีวิตเพราะติดโควิด

ขณะเดียวกันประชาชนราว 143 ต่อ 10 ล้านคนเข้าโรงพยาบาลหรือเสียชีวิตจากเส้นเลือดสมองอุดตันภายใน 28 วันหลังฉีดวัคซีนไฟเซอร์-ไบออนเทคเข็มแรก เทียบกับ 1,699 ต่อ 10 ล้านคนที่ติดโควิด