สื่อนอกวิเคราะห์‘เบื้องหลังการแต่งตั้งทูตจีนประจำประเทศไทย’
เว็บไซต์ดิโพลแมต เผยแพร่บทความจากนักวิเคราะห์อิสระ กล่าวถึงการแต่งตั้งทูตจีนประจำประเทศไทยคนใหม่ ในช่วงที่สหรัฐเพิ่มความพยายามสกัดอิทธิพลจีนในแผ่นดินใหญ่ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
บทความของTita Sanglee เผยแพร่บนเว็บไซต์ดิโพลแมต เมื่อวันที่ 2 ก.ย. ระบุว่า เมื่อวันที่ 11 ส.ค.สถานเอกอัครราชทูตจีนประจำกรุงเทพฯ เปิดตัว “หาน จื้อเฉียง” ทูตจีนประจำประเทศไทยคนใหม่อย่างเป็นทางการ ซึ่งถ้าดูผิวเผินข่าวนี้ไม่มีอะไร แต่พัฒนาการหลังจากนั้นจำเป็นต้องจับตาอย่างใกล้ชิดในแง่ที่ว่า การแต่งตั้งหาน จื้อเฉียง ปิดฉากระยะเวลาเกือบสองปีที่จีนไม่มีทูตอย่างเป็นทางการในไทย
อดีตเอกอัครราชทูตหลู่ย์เจี้ยนออกจากประเทศไทยไปอย่างกะทันหันในเดือน ธ.ค.2562 อ้างเหตุผลด้านสุขภาพ ตั้งแต่นั้นอุปทูตหยางซินก็รักษาการแทน ด้วยความเข้าใจประเทศไทยอย่างลึกซึ้งและสามารถสื่อสารภาษาไทยได้เป็นอย่างดี หยางซินยังทำให้จีนอยู่ในสายตาสาธารณะ เขาไปออกสื่อหลายช่องที่มีผู้ชมจำนวนมาก เช่น รายการอภิปรายชื่อดังทางไทยพีบีเอส และพอดแคสต์โตเร็วของสุทธิชัย หยุ่น
กระนั้น การที่จีนไม่มีทูตก็ถูกตั้งคำถามถึงรอยร้าวในมิตรภาพจีน-ไทย ที่เบ่งบานหลังรัฐประหารปี 2557 ทฤษฎีหนึ่งที่นิยมกันมากคือ การแต่งตั้งทูตช้าสะท้อนว่ารัฐบาลปักกิ่งไม่พอใจที่ไทยไฟเขียวให้สหรัฐสร้างสถานกงสุลแห่งใหม่ที่ จ.เชียงใหม่ ใกล้ชายแดนภาคใต้ของจีน
การก่อสร้างกงสุลสหรัฐคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2566 มูลค่าราว 284 ล้านดอลลาร์ คนดังฝ่ายต่อต้านรัฐบาลอย่างสนธิ ลิ้มทองกุล และจตุพร พรหมพันธ์ ชี้ว่า สหรัฐลงทุนมากอย่างน่าสงสัย ดูเหมือนว่าวอชิงตันกำลังพยายามใช้เชียงใหม่เป็นฐานล้วงความลับมณฑลภาคใต้ของจีน ในช่วงที่สองมหาอำนาจแข่งขันกันทางยุทธศาสตร์เพิ่มขึ้นทุกขณะ
ด้านดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยทัฟท์ส ว่ากันว่าเขาสนับสนุนสหรัฐอย่างเปิดเผย แตกต่างจากผู้นำทหารไทยในรัฐบาลที่ถูกมองว่าหนุนจีน ดอนถูกมองเช่นนี้หลังจากเผยว่า สหรัฐแจ้งให้รัฐบาลไทยทราบล่วงหน้าหนึ่งวันก่อนลอบสังหารนายพลกาเซ็ม โซไลมานี ของอิหร่านเมื่อปีก่อน
การที่สาธารณชนมองว่าไทยมีท่าทีหนุนสหรัฐมากขึ้นทำให้กระทรวงการต่างประเทศต้องออกแถลงการณ์ในเดือน มิ.ย. ยืนยันว่านโยบายต่างประเทศของไทยยังคงรักษาสมดุลระหว่างสหรัฐและจีน หลังจากนั้นสองเดือนทูตหาน จื้อเฉียงก็มาถึงกรุงเทพฯ ถ้อยแถลงแรกในฐานะทูตคนใหม่เขาย้ำว่า “จีน-ไทยมิใช่อื่นไกลพี่น้องกัน” พร้อมให้คำมั่นสนับสนุนไทยอย่างไม่มีเงื่อนไขในการต่อสู้กับการแพร่ระบาดของโควิด-19
ในแง่หนึ่ง การมาถึงของหานช่วยลดข่าวลือเรื่องสัมพันธ์จีน-ไทยเย็นชาลงไปได้ แต่อีกนัยหนึ่งช่วงเวลาที่มาถึงและภูมิหลังของหานตอกย้ำแนวคิดที่ว่า ไทยกำลังหลุดจากเงื้อมมือจีนจึงจำเป็นต้องนำกลับคืนมา
ประการแรกมหาอำนาจตะวันตกมาปรากฏตัวในไทยมากขึ้นด้วยบทบาทที่ส่อเป็นภัยคุกคามผลประโยชน์แห่งชาติจีน สหรัฐภายใต้รัฐบาลประธานาธิบดีโจ ไบเดน เร่งใช้การทูตวัคซีน ซึ่งเข้าทางวอชิงตันเพราะคนไทยโดยทั่วไปมองว่าวัคซีน mRNA ที่สหรัฐผลิตอย่างไฟเซอร์และโมเดอร์นา เป็นที่ต้องการมากที่สุด
ที่กวนใจจีนไปยิ่งกว่านั้นคือสหรัฐเริ่มใช้คำว่า “แม่น้ำโขงที่เสรีและเปิดกว้าง” หมายถึงแผ่นดินใหญ่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พร้อมกระตุ้นให้อาเซียนรวมทั้งไทยแสดงบทบาทนำแก้ปัญหาความมั่นคงเกี่ยวข้องกับเขื่อนจีนบริเวณแม่น้ำโขงตอนบน
ขณะเดียวกันอังกฤษยุคหลังเบร็กซิทก็ผลักดันนโยบาย “ปักหมุดเอเชีย” วันที่ 24 ก.ค.ไทยร่วมซ้อมรบทางเรือกับสหราชอาณาจักรเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่รัฐประหาร 2557 แม้ไทยยืนยันว่าเป็นการผ่านมาแล้วแวะซ้อมไม่ได้มีเจตนาทางการทหาร แต่จีนก็มีเหตุผลที่จะสงสัยเนื่องจากเรือหลวงริชมอนด์ที่มาร่วมซ้อมรบกับไทย อยู่ในกองเรือบรรทุกเครื่องบิน (Carrier Strike Group) ของอังกฤษ ที่ดูเหมือนมีภารกิจแสดงแสนยานุภาพพุ่งเป้ารับมืออิทธิพลจีนที่กำลังเพิ่มมากขึ้น
ไม่เพียงเท่านั้นการซ้อมรบร่วมยังเกิดขึ้นไม่นานหลังจากไทยเลื่อนซื้อเรือดำน้ำจากจีน
ประการที่ 2 หานมีประสบการณ์หลายปีในญี่ปุ่น ประเทศที่สำคัญมากสำหรับจีน เขาเคยรักษาการเอกอัครราชทูตในช่วงเวลาที่จีนกับญี่ปุ่นเสี่ยงจะเผชิญหน้ากันจากข้อพิพาทหมู่เกาะเตี้ยวหยู/เซ็นกากุ
ความสัมพันธ์จีน-ญี่ปุ่น ที่ถูกขนานนามว่า “เศรษฐกิจร้อนแรง การเมืองเย็นชา” เป็นความสัมพันธ์ทวิภาคีที่ซับซ้อนที่สุดในโลกคู่หนึ่งอย่างไม่ต้องสงสัย ข้อเท็จจริงที่ว่าหานได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่สำคัญเช่นนั้น บ่งชี้ว่าเขาเป็นนักการทูตทักษะสูง โดยเฉพาะด้านการจัดการความขัดแย้ง
ถ้ามองสัญญาณเหล่านี้รวมถึงความท้าทายภายในที่เพิ่มมากขึ้นของไทย กล่าวได้ว่า ไทยต้องเจองานยากขึ้นในการพยายามรักษาสมดุลระหว่างจีนกับตะวันตก