วิษณุเผยคืนอำนาจสธ.ใช้กม.โรคติดต่อคุมโควิด เล็งตั้งหน่วยงานใหม่แทนศบค.
"วิษณุ" โยน "กฤษฎีกา" ถกแก้"พ.ร.บ.โรคติดต่อ" เพิ่มหมวด "สถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข" ชี้ เมื่อประกาศใช้ "นายกฯ" เป็นประธาน ไม่ต้องยุ่งพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ศบค. จึงมีอยู่ไม่ได้ แย้มอาจมีหน่วยงานใหม่แทน
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์ถึงกรณี โครงสร้างของศบค. จะเป็นไปตามที่ พ.ร.บ.โรคติดต่อ ฉบับแก้ไขหรือไม่ ว่า ขณะนี้ยังไม่เห็นกฎหมายใหม่ หากอธิบายอะไรไปก็จะไม่เข้าใจ แต่ยืนยันว่าเราจะ มีกฎหมายโรคติดต่อฉบับใหม่ โดยจะมีหมวดที่พูดเรื่องสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข โดยแยกออกมาจาก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ดังนั้น จึงไม่ต้องไปยุ่งเกี่ยวพ.ร.ก.ฉุกเฉิน จึงทำให้ ศบค.มีอยู่ไม่ได้ เพราะเป็นการตั้งตาม พ.ร.ก แต่อาจจะมีจัดตั้งหน่วยงานใหม่หรือไม่ยัง
ไม่ทราบและยังไม่ถึงเวลา
นายวิษณุ กล่าวว่า ส่วนที่มีการตั้งข้อสังเกตว่าเป็นการคืนอำนาจให้กับสาธารณสุข ในการแก้ปัญหาโรคโควิด-19 ทั้งหมดนั้น ยังไม่ถึงขนาดนั้น เวลามีโรคติดต่อเกิดขึ้นเป็นโรคติดต่อธรรมดา รมว.สาธารณสุข จะเป็นประธาน แต่เมื่อมีโรคติดต่อร้ายแรงเกิดขึ้น และมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข นายกรัฐมนตรีก็ต้องเป็นประธานแทน ที่ผ่านมาได้เรียนรู้มากว่า 1ปีว่า เมื่อเกิดขึ้นอันตราย เช่น โควิดขึ้นมาจะมีความเห็นวิชาการที่ขัดแย้งแตกต่างกันจึงเป็นเหตุผลที่ศบค.ต้องใช้เลขาสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ทำให้เกิดกระแสโจมตีทหารและฝ่ายความมั่นคงมาบริหารทำไมไม่ใช้หมอ ซึ่งใช้ไม่ได้จะทะเลาะกันเองหมด เช่น ระหว่างแพทย์มหาวิทยาลัย แพทย์กระทรวง ก็จะมีความเห็นที่แตกต่างกัน รวมถึงแพทย์โรงพยาบาลของรัฐบาลและเอกชน รวมถึงแพทย์ระหว่างจังหวัด เพราะมีผู้ว่าฯ คนละคนกัน จึงใช้คนละมาตรฐาน และเมื่อเกิดโรคระบาดร้ายแรงจึงจำเป็นต้องใช้กำลังพลทหาร ตำรวจ รวมทั้งหน่วยอื่นร่วมด้วย ในส่วนนี้ หมอไหนๆก็ไม่มีปัญญาจะทำถึงเวลาทุกคนหนีหมด เพราะต้องใส่ชุดPPEไปตรวจรักษา ผู้ป่วย
นายวิษณุ กล่าวว่า เมื่อมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข ต้องจัดระบบใหม่หมดจะเรียกว่าคืนอำนาจให้กระทรวงสาธารณสุขหรือไม่นั้น ก็ถือว่าคืนให้ส่วนหนึ่ง แต่นายกรัฐมนตรี อาจจะเป็นประธานหรือ มอบหมายให้คนอื่นก็ได้ ขณะที่โครงสร้างกฎหมายใหม่ จะเป็นเหมือนกับ ศบค.หรือไม่นั้น พ.ร.บ.ไม่ได้ระบุแต่จะอยู่ในกฎหมายลูก เช่น กฎหมายมีการเขียนไว้สั้นๆว่า เมื่อมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน นายกฯ อาจจะมีการตั้งหน่วยงานขึ้นมาดำเนินการในเรื่องนี้ก็ได้ ส่วนในกฎหมายใหม่จะเรียกว่าอะไรก็ไม่รู้ ซึ่งต้องรอฟังกฤษฎีกาเพราะขณะนี้ยังไม่รู้ว่ามีกี่มาตรา