จะป้องกันการชุมนุมและรัฐประหารได้อย่างไร

จะป้องกันการชุมนุมและรัฐประหารได้อย่างไร

จะป้องกันการชุมนุมและรัฐประหารได้อย่างไร...คำตอบที่ได้นั้นคงต้องย้อนไปดูต้นเหตุของการชุมนุม โดยเฉพาะการชุมนุมประท้วงที่ยืดเยื้อ สะท้อนให้เห็นถึงความล้มเหลวของระบบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาของไทย

การชุมนุมประท้วงรัฐบาลไทยในรอบ 2 ทศวรรษ (ตั้งแต่ปี 2548 - 2564) เป็นการชุมนุมของกลุ่มการเมืองขั้วตรงข้ามรัฐบาลในแต่ละยุคที่มีคนร่วมมาก ยืดเยื้อ ทำให้เกิดการขัดแย้งรุนแรง การรัฐประหารและการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ 2 ครั้ง คือเมื่อปี 2549 - รัฐธรรมนูญปี 2550 และรัฐประหารปี 2557 - รัฐธรรมนูญ 2560 กลายเป็นตัวอย่างที่ทำให้ยังคงมีคนที่ไม่ชอบรัฐบาลจัดชุมนุมประท้วงรัฐบาลเป็นช่วงๆ อยู่เรื่อยมา
    การชุมนุมประท้วงของกลุ่มการเมืองที่ยืดเยื้อ สะท้อนให้เห็นถึงความล้มเหลวของระบบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาของไทย พรรคการเมืองที่ได้เสียงข้างมากกลายเป็นฝ่ายบริหารเผด็จการเสียงข้างมาก ไม่มีการตรวจสอบคานอำนาจโดยฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายตุลาการ ที่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ประชาชนไม่มีช่องทางที่จะตรวจสอบถ่วงดุลรัฐบาล/ส.ส. ได้ เมื่อรัฐบาลมีพฤติกรรมแสวงหาผลประโยชน์อย่างเด่นชัดมากไป กลุ่มปัญญาชนชั้นกลางจึงใช้วิธีออกมาชุมนุมประท้วงกดดันให้นายกรัฐมนตรีลาออก
    ในการประท้วงรอบแรกปี 2548 รัฐบาลกลุ่มทักษิณยุบสภาจัดเลือกตั้งใหม่ในปี 2549 กลุ่มประท้วงคือกลุ่มพันธมิตรฯ ปฏิเสธ พรรคฝ่ายค้านพรรคใหญ่บางพรรค และประชาชนในหลายเขตเลือกตั้งก็ปฏิเสธการจัดเลือกตั้งครั้งนั้น ผลการเลือกตั้งถูกศาลรัฐธรรมนูญพิพากษาให้เป็นโมฆะ รัฐบาลรักษาการจัดให้มีการจัดการเลือกตั้งใหม่ ตุลาคม 2549 แต่ในเดือนกันยายน 2549 ฝ่ายทหารชิงทำรัฐประหารก่อน ทหารตั้งคนของตนเองเป็นรัฐบาลขัดตาทัพ ร่างรัฐธรรมนูญและจัดเลือกตั้งใหม่ในปี 2550

อ่านข่าว : 15 ปีรัฐประหาร 19 กันยา ฉบับ ทักษิณ หมอบ

การเลือกตั้งใหม่ในปี 2550 พรรคฝ่ายนิยมทักษิณชนะ แต่ทั้งนายสมัคร สุนทรเวช และสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ที่ผลัดกันเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีก็ถูกกลุ่มพันธมิตรฯ ประท้วงต่อเนื่อง ในปี 2551 กลุ่มการเมืองนปช. ฝ่ายนิยมทักษิณ (หรือพวกเสื้อแดง) ก็ออกมาประท้วงต่อต้านกลุ่มพันธมิตรฯ ทำให้เกิดความขัดแย้งที่รุนแรงเพิ่มขึ้น และรัฐบาลก็จัดการไม่ได้
    พวก ส.ส. ในสภาจับขั้วกันใหม่ หันไปหนุนอีกฝ่ายหนึ่งคือนายอภิสิทธิ์ พรรคประชาธิปัตย์ ให้เป็นนายกฯ แทน พวกเสื้อแดงฝ่ายนิยมทักษิณประท้วงหนักและใช้ความรุนแรงด้วย
    เมื่อมีการเลือกตั้งใหม่ฝ่ายนิยมทักษิณกลับมาเป็นรัฐบาล (ยิ่งลักษณ์เป็นนายกฯ) ความขัดแย้งแบบ 2 ขั้วอยู่ตรงกันข้ามอย่างสุดโต่งปะทุอีกรอบ เกิดกลุ่มกปปส. (สุเทพ เทือกสุบรรณ) ประท้วงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เรื่อง พรบ.นิรโทษกรรมกลุ่มทักษิณและพวก ขณะที่ฝ่ายรัฐบาล (ฝ่ายนิยมทักษิณ) ก็ปราบปรามและต่อต้านกลุ่มกปปส. อย่างรุนแรง จนในที่สุดก็นำไปสู่การรัฐประหารในปี 2557
     ปัญหาวงจรการประท้วงและการรัฐประหารเช่นนี้ เกิดทั้งจากระบบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาของไทยมีข้อจำกัด ปัญญาชนกลุ่มที่มีความคิดทางการเมืองสูงไม่ค่อยเชื่อถือ และรากของปัญหามาจากปัญหาเชิงโครงสร้างระบบเศรษฐกิจการเมืองไทยด้วย ไม่ว่ารัฐบาลฝ่ายไหนก็ทำให้เกิดการผูกขาดอำนาจและมีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสูงมาก คนงาน เกษตรกร และคนรายได้ต่ำอาชีพต่างๆ ไม่มีอำนาจต่อรองเท่าที่ควร ไม่มีการปฏิรูปทางเศรษฐกิจที่จะทำให้คนส่วนใหญ่มีรายได้ การศึกษา และเป็นชนชั้นกลางมากพอที่ประชาชนส่วนใหญ่จะมองว่าระบบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาคือมีทางออกทางเศรษฐกิจสังคมที่เป็นธรรม

 

ปัญหานี้ต้องแก้รัฐธรรมนูญแบบก้าวหน้า ให้ประชาชนมีบทบาทโดยตรง เช่น ถอดถอน ส.ส. เสนอกฎหมายใหม่ ฯลฯ ได้ง่ายขึ้น ประชาชนจัดตั้งสหภาพแรงงาน สมาคมอาชีพ สหกรณ์ องค์กรประชาชนรูปแบบต่างๆ ต่อรองได้มากขึ้น ปฏิรูประบบการเมืองการปกครองแบบลดอำนาจของส่วนกลางลง เปิดทางให้ประชาชนในท้องถิ่นบริหารจัดการตนเองได้มากขึ้น
    ในแง่วัฒนธรรมทางการเมืองและระบบการศึกษาของไทย ก็มีปัญหาว่าชนชั้นสูง ชนชั้นกลาง ที่มีความคิดแบบอำนาจนิยม อุปถัมภ์นิยม เล่นพรรคเล่นพวก จารีตนิยมมีอำนาจผูกขาดครอบงำมากเกินไป ประชาชนไม่ได้รับการศึกษาแบบเสรีประชาธิปไตยมากพอ ที่จะคิดวิเคราะห์ด้วยตัวเอง และเป็นนักประชาธิปไตย ประชาชนส่วนใหญ่ถูกระบบเศรษฐกิจการเมืองแบบอำนาจนิยมนี้บีบให้ดิ้นรนให้ตัวเองรอดไปอย่างง่ายๆ และหวังพึ่งนักการเมือง/ชนชั้นสูงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง  ติดกรอบคิดแบบขาวดำ 2 ขั้วสุดโต่งอย่างง่ายๆ ด้วยอารมณ์มากกว่าเหตุผล เมื่อมีผู้นำการประท้วงที่จูงใจคนได้เก่ง ไม่ว่าขั้วใดขั้วหนึ่ง พวกเขาสามารถปลุกระดมจูงใจให้คนเข้าเป็นพรรคพวกได้มาก การจัดตั้งแบบอุปถัมภ์และเล่นพวกก็มีส่วนในการสร้างพวกใครพวกมันได้มากเช่นกัน
    แนวทางแก้ไขปัญหานี้คือ เราต้องสร้าง(ทั้งการเลี้ยงดู การปฏิรูปการศึกษา และการกล่อมเกลาทางสังคม)ให้คนส่วนใหญ่คิดวิเคราะห์เป็นอย่างมีหลักฐานและเหตุผล  มีวุฒิภาวะทางการเมือง เป็นนักเสรีประชาธิปไตยมากกว่าที่เป็นอยู่ รวมทั้งต้องปฏิรูประบบทหาร ตำรวจ ระบบการปกครองทั้งระบบด้วย

ที่ทหารไทยทำรัฐประหารได้ครั้งแล้วครั้งเล่า เพราะกองทัพไทยใหญ่มากไป มีอำนาจรวมศูนย์มากเกินไป นายทหารเป็นพวกอำนาจนิยม จารีตนิยม ไม่ใช่นักประชาธิปไตย ขณะที่สหภาพแรงงาน ธุรกิจภาคเอกชน ภาคประชาสังคม นักวิชาชีพ ฯลฯ ไม่มีการจัดตั้งองค์กรได้เข้มแข็งเหมือนในประเทศพัฒนาอุตสาหกรรม ที่ทหารแม้จะมีกองทัพ มีอาวุธมากกว่าองค์กรอื่น แต่ทหารในประเทศเหล่านั้นก็ไม่คิดจะทำรัฐประหาร เพราะเขารู้ตัวว่าพวกเขาจะถูกประชาชนต่อต้านจนปกครองไม่ได้
    ประเทศพัฒนาอุตสาหกรรมเขาจัดระบบบริหารกองทัพแบบคานอำนาจกัน เช่น เป็นระบบเสนาธิการร่วม ไม่ให้ใครเป็นแม่ทัพใหญ่ จะแต่งตั้งแม่ทัพก็เฉพาะเวลาต้องไปทำสงครามเท่านั้น พลเรือนเป็นรัฐมนตรีกลาโหมได้ นอกจากนั้นพวกเขาก็มักมีระบบการปกครองแบบสหพันธรัฐ และมีการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่น ทำให้ทหาร ตำรวจ ข้าราชการไม่ได้มีอำนาจรวมศูนย์มากไปแบบของไทย 
    ทหารไทยมักอ้างว่าที่พวกตนทำรัฐประหารเพราะนักการเมืองโกงและเพื่อปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วย ในอังกฤษและยุโรปบางประเทศก็มีสถาบันกษัตริย์ (ภายใต้รัฐธรรมนูญ) อยู่ด้วย แต่เป็นไปไม่ได้เลยที่ทหารในประเทศเหล่านั้นจะทำรัฐประหาร โดยอ้างว่าเพื่อปกป้องสถาบันกษัตริย์ ส่วนกรณีถ้าผู้นำในประเทศเหล่านั้นโกง ก็มีกระบวนการยุติธรรม/วิธีการแก้ปัญหาทางการเมืองการปกครอง ที่บางประเทศแก้ได้โดยไม่ต้องพึ่งทหาร และสามารถส่งผู้นำระดับประธานาธิบดีหรือนายกรัฐมนตรีเข้าคุกได้ด้วย
    ปัญหานี้มีความซับซ้อน คงต้องใช้การคิดวิเคราะห์กันให้ลึกซึ้งมากกว่านี้ นี่คือข้อสังเกตและข้อเสนอเบื้องต้น กล่าวโดยภาพรวมคือ ประเทศอื่นที่ระบบประชาธิปไตยรัฐสภามั่นคงกว่าไทย เพราะเขามีช่องทางให้เศรษฐกิจการเมือง พัฒนาแนวทางสายกลาง ประชาชนเขาได้ประโยชน์พอสมควรหรือมีช่องทางต่อสู้แนวรัฐสภาและภายใต้รัฐธรรมนูญที่ก้าวหน้าอยู่ข้างประชาชนได้ ประชาชนเขาไม่ถูกชนชั้นสูงแบ่งแยกและถูกครอบงำให้เลือกข้างชนชั้นนำแบบชนิดแตกแยกเป็น 2 ขั้วแบบตรงกันข้ามอย่างสุดโต่งแบบสังคมไทย ที่มีการประท้วงและการปราบการประท้วงรวมทั้งการปราบพวกเด็กและเยาวชนอย่างรุนแรง ชนิดที่จะไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมแต่อย่างใด.