จับตา "ประยุทธ์" ประชุม ก.ตร. ดัน "รองผบ.ตร.-จเร" เป็น ผอ.ศูนย์ปราบอาชญากรรม

จับตา "ประยุทธ์" ประชุม ก.ตร. ดัน "รองผบ.ตร.-จเร" เป็น ผอ.ศูนย์ปราบอาชญากรรม

"นายกฯ" มีกำหนดประชุม ก.ตร. พิจารณา 5 วาระ จับตาวาระสุดท้าย ปรับรูปแบบ เปลี่ยนแปลงงานอาชญากรรมพิเศษ ดัน รอง ผบ.ตร.- จเร ทำหน้าที่ผู้อำนวยการ ทดแทน "ที่ปรึกษา ตร."เหตุเหลืออายุราชการน้อย งานไม่ต่อเนื่อง

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 27 กันยายน 2564 เวลา 13.30 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม จะเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ครั้งที่ 10/2564 โดยมีวาระน่าสนใจ ดังนี้

          1.ผลการตรวจสอบและชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีสำนักงาน ป.ป.ช. ส่งเรื่องกล่าวหาให้ผู้บังคับบัญชา หรือผู้มีอำนาจแต่งตั้ง หรือถอดถอนดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจ

          2.ด.ต.ธัญเกียรติ อุทธรณ์คำสั่งลงโทษไล่ออกจากราชการ

          3.การขออนุมัติเลื่อนเงินเดือนเป็นกรณีพิเศษเฉพาะรายในห้วงที่มิได้ปฏิบัติราชการให้แก่ข้าราชการตำรวจ จำนวน 9 ราย

          4.การแก้ไขบทเฉพาะกาลมาตรฐานกำหนดตำแหน่งกลุ่มสายงานป้องกันปราบปราม พ.ศ.2561

          และ 5.การเปลี่ยนแปลงการมอบหมายหน้าที่การบริหารราชการศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมพิเศษและงานนโยบายสำคัญของ ตร. 

          รายงานแจ้งว่ากรณีวาระที่ 5 การเปลี่ยนแปลงการมอบหมายหน้าที่การบริหารราชการศูนย์ปราบปราบอาชญากรรมพิเศษและงานนโยบายสำคัญของ ตร.นั้น จากเดิมมีการกำหนดตำแหน่ง ตำแหน่งที่ปรึกษาพิเศษ ตร. (ยศ พล.ต.อ.เทียบเท่ารอง ผบ.ตร.) จำนวน 10 ตำแหน่ง, ตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ ตร.(ยศ พล.ต.ท.เทียบเท่า ผบช.) จำนวน 20 ตำแหน่ง, ตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิ ตร. (ยศ พล.ต.ต.เทียบเท่า ผบก.)รวมเป็นจำนวน 30 ตำแหน่ง โดยระเบียบของ ก.ตร.กำหนดให้ ที่ปรึกษาพิเศษ เป็นผู้อำนวยการศูนย์ทั้ง 10 ศูนย์ประกอบด้วย

          1.ศูนย์ปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา 2.ศูนย์ป้องกันและปราบปรามยาเสพติด 3.ศูนย์ปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับน้ำมันเชื้อเพลิง 4.ศูนย์ปราบปรามผู้มีอิทธิพล และมือปืนรับจ้าง 5.ศูนย์ปราบปรามสินค้าทางน้ำ

          6.ศูนย์พิทักษ์เด็ก สตรี ครอบครัวและป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ 7.ศูนย์ปราบปรามการโจรกรรมรถยนต์ 8.ศูนย์ปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 9.ศูนย์ปราบปรามคนร้ายข้ามชาติ 10.ศูนย์ปฏิบัติการ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

 

          ปัจจุบันรูปแบบของอาชญากรรมในรูปแบบต่างๆ มีการเปลี่ยนไป ทาง ตร.จึงปรับเปลี่ยนชื่อศูนย์ฯ ตามอำนาจหน้าที่ให้เหมาะสม จากเดิมที่ปรึกษาพิเศษ ตร.เป็นผู้อำนวยการศูนย์ต่างๆ โดยหลักมีอายุราชการเพียงแค่ 6 เดือน ทำให้การปฎิบัติงานไม่เป็นไปอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพของศูนย์ต่างๆ ได้สัมฤทธิผล จึงเห็นควรให้เปลี่ยนผู้อำนวยการศูนย์มาเป็น รองผบ.ตร. และ จตช. แทนที่ปรึกษาพิเศษ ตร. มาเป็น รอง ผอ.ศูนย์ รวมถึงระดับผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ และผู้ทรงคุณวุฒิ จึงขอมติต่อที่ประชุม ก.ตร.ในครั้งนี้

          สำหรับศูนย์ปราบปราบอาชญากรรมพิเศษและงานนโยบายสำคัญของ ตร.ที่มีชื่อตามหน้างานให้เหมาะสมกับยุคปัจจุปัน มีถึง 19 ศูนย์ประกอบด้วย 1.ศูนย์ปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา (ศปลป.ตร.) 2.ศูนย์ป้องกันปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับหนี้นอกระบบ (ศปน.ตร.) 3.ศูนย์ปราบปรามการกระทำผิดความผิดเกี่ยวกับน้ำมันเชื้อเพลิง (ศนม.ตร.) 4.ศูนย์ปราบปรามการโจรกรรมรถยนต์ (ศปจร.ตร.) 5.ศูนย์ปราบปรามผู้มีอิทธิพลและมือปืนรับจ้าง (ศปอร.ตร.) 6.ศูนย์ปราบปรามการลักลอบตัดไม้ ทำลายป่า ทรัพยากรธรรมชาติ (ศปทส.ตร.)

 

          7.ศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ศอ.ปส.ตร.) 8.ศูนย์พิทักษ์เด็ก สตรี ครอบครัว และปราบปรามการค้ามนุษย์ (ศพดส.ตร.) 9.ศูนย์บริหารงานป้องกันปราบปราม (ศปป.ตร.) 10.ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ (ศปอส.ตร.) 11.ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมและความมั่นคง (ศตปค.ตร.) 12.ศูนย์ป้องกันและปราบปรามการแข่งรถในทาง (ศปข.ตร.) 13.ศูนย์บริหารงานจราจร (ศจร.ตร.) 14.ศูนย์ปฎิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง (ศปม.ตร.) 15.ศูนย์บังคับและต่อต้านอากาศยานไร้คนขับ (โดรน) (ศบตอ.ตร.)

 

          16.ศูนย์ปราบปรามคนร้ายข้ามชาติและคนเข้าเมือง (ศปชก.ตร.) 17.ศูนย์ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ศปปง.ตร.) 18.ศูนย์บริหารงานสอบสวนคดีอาญา (ศส.ตร.) 19.ศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปก.ตร.)5