นทท.ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ยังต่ำกว่าเป้า คาดไตรมาสสี่ทุกอย่างจะดีขึ้น
ผู้ประกอบการยอมรับตัวเลข นทท.ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ต่ำกว่าเป้า เหตุสถานการณ์แพร่ระบาดและมาตรการเข้มข้น คาดไตรมาสสี่ทุกอย่างจะดีขึ้น หลังมีการคลายล็อกมาตรการ ขณะที่ผู้ค้าชายหาดเผยได้อานิสงค์น้อยมาก
เมื่อวันที่ 30 ก.ย. 64 ผ่านมาแล้วเกือบสามเดือนกับการเปิด “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. - 28 ก.ย. 64 มีตัวเลขนักท่องเที่ยวเข้ามาภายใต้โครงการดังกล่าวสะสม จำนวน 37,978 คน ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) วางไว้ที่ประมาณ 100,000 คน ด้วยหลายปัจจัย อาทิ สถานการณ์การแพร่ระบาด, มาตรการตรวจคัดกรองที่เข้มข้น เป็นต้น โดยประเทศที่มีผู้เดินทางเข้ามา 5 อันดับแรก ยกเว้นไทย ได้แก่ อเมริกา 5,792 คน, อิสราเอล 5,414 คน, อังกฤษ 4,740 คน, เยอรมัน 3,795 คน และฝรั่งเศส 3,646 คน ทั้งนี้ ในส่วนของยอดจองห้องพักระหว่างเดือน ก.ค. 64 - ก.พ. 65 จำนวน 702,876 รูมไนท์ แบ่งเป็น ก.ค. - ก.ย. 542,134 รูมไนท์, ต.ค. 131,324 รูมไนท์ และ พ.ย. - ธ.ค. 28,127 รูมไนท์
นายก้องศักดิ์ คู่พงศกร นายกสมาคมโรงแรมไทยภาคใต้ กล่าวว่า ยอมรับว่าในช่วงสามเดือนที่ผ่านมา ตั้งแต่เดือน ก.ค. 64 การควบคุมการแพร่ระบาดในส่วนของนักท่องเที่ยวทำได้ดีมาก แต่ในแง่จำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามานั้นถือว่าต่ำกว่าเป้าหมายที่วางไว้พอสมควร ซึ่งเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ ด้วยมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดที่เข้มงวด จึงหวังว่าในไตรมาสที่ 4 ซึ่งขณะนี้เริ่มมีกระแสสัญญาณที่ดีขึ้น จากการประกาศผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ตามที่ภาคเอกชนได้ร้องขอ อาทิ การให้ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในร้านอาหารได้, การขอ COE ให้ง่ายขึ้น, ลดการตรวจสวอปจาก 3 ครั้ง เหลือ 2 ครั้ง เป็นต้น และการจัดการภายในเพื่อให้สถานประกอบการและร้านอาหารสามารถกลับมาเปิดกิจการได้ เพื่อทำให้บรรยากาศการท่องเที่ยวดีขึ้น และเชื่อว่าเมื่อมีการผ่อนคลายจะทำให้นักท่องเที่ยวเข้ามามากขึ้นในไตรมาส 4
“ในช่วงไตรมาส 3 ที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะเป็นชาวต่างชาติ ส่วนคนไทยแทบจะไม่มีเลย เนื่องจากการแพร่ระบาดภายในประเทศที่ค่อนข้างรุนแรง แต่ขณะนี้เริ่มเข้าสู่ไตรมาส 4 มีการควบคุมสถานการณ์ได้แล้ว และเริ่มมีแนวคิดว่า โรคโควิดเป็นโรคประจำฤดูกาล โดยเฉพาะภูเก็ต ซึ่งมีการฉีดวัคซีนบูธเตอร์เข็ม 3 ไปแล้วกว่า 100,000 คน และจากการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ จะทำให้คนไทยเดินทางเข้ามามากขึ้น ประกอบกับการจัดทำโครงการเราเที่ยวด้วยกันของ ททท. จะทำให้สถานการณ์การท่องเที่ยวของภูเก็ตกลับไปเหมือนในช่วงสงกรานต์ปี 2563 หรือปีใหม่ที่ผ่านมา ซึ่งมีนักท่องเที่ยวเดือนละ 200,000-300,000 คน จึงเป็นความหวังของผู้ประกอบการ ซึ่งเหมือนคนที่ตายไปแล้วและถูกชุบชีวิตขึ้นมาด้วยแซนด์บ็อกซ์ให้มีกำลังเดินต่อแม้จะอยู่ในภาวะขาดทุน หวังว่าในไตรมาส 4 นี้ จะมีนักท่องเที่ยวเติมเข้าประมาณ 20-30% เพื่อให้เสมอตัว มีการจ้างงานมากขึ้น และเริ่มจะมีเงินในกระเป๋าบ้าง แต่ยังไม่ต้องคุยเรื่องผลกำไรหรือการไปชำระหนี้ธนาคาร”
นายก้องศักดิ์ กล่าวถึงการจองห้องพักว่า ขณะนี้ยอดจองในเดือน ต.ค. มีจำนวนเท่ากับเดือน ก.ค., ส.ค. และ ก.ย. แล้ว จึงถือเป็นสัญญาณที่ดี อยู่ที่ประมาณ 150,000 รูมไนท์ คาดว่าเมื่อสิ้นเดือน ต.ค. จะมียอดสูง 200,000-250,000 รูมไนท์ และเชื่อมั่นว่าในเดือน พ.ย. ก็จะยิ่งดีขึ้น แม้ว่าตัวเลขที่มีการ COE ซึ่งรายงานโดย ททท. และผ่านระบบชบาแล้วเพียง 20,000-30,000 รูมไนท์ แต่บุคกิ้งกับโรงแรมมีมากกว่านั้นพอสมควร โดยโรงแรมทั่วไปอยู่ที่ประมาณ 10% ส่วนโรงแรมชั้นนำจะอยู่ที่ประมาณ 30-40% คาดว่า หลังจากนี้จะมีโรงแรมเปิดให้บริการเพิ่มมากขึ้นในส่วนของโรงแรมที่มีลูกค้าประจำ โดยเฉพาะกลุ่มยุโรป ปัจจุบันมีโรงแรมชาร์พลัสที่เปิดให้บริการอยู่ประมาณ 400 โรง และที่ไม่ได้ชาร์พลัสอีกประมาณ 200-300 โรง คิดจำนวนห้องพักรวมกว่า 10,000 ห้อง
ขณะที่ผู้ประกอบการให้เช่าสื่อรายหนึ่งบริเวณชายหาดกะตะ อ.เมืองภูเก็ต กล่าวว่า การเปิดภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ 3 เดือนที่ผ่านมา กิจกรรมชายหาดได้รับประโยชน์น้อยมาก เดิมเมื่อมีโครงการนี้ก็ดีใจและคาดว่า จะมีนักท่องเที่ยวเข้ามามาก แต่มีเข้ามาน้อยมาก ที่เห็นอยู่จะเป็นชาวต่างชาติในพื้นที่ ซึ่งติดค้างไม่สามารถกลับประเทศได้ หรือมาจากพื้นที่อื่น กระทบกับรายได้ค่อนข้างมาก สิ่งที่อยากให้รัฐบาลช่วยเหลือ คงเป็นเรื่องให้มีงานทำ เพราะเงินเยียวยาอยู่ได้ไม่นานก็หมด แต่ถ้าทำงานก็จะมีเงินใช้ตลอด ไม่ต่างจากผู้ให้บริการเช่าเซิร์ฟบอร์ด บอกว่านักท่องเที่ยวที่มาใช้บริการน้อยมาก บางวันแทบไม่มีเลย โดยเฉพาะช่วงวันธรรมดาที่เห็นอยู่บ้างก็จะเป็นคนในพื้นที่ หรือต่างจังหวัด หวังว่าหากสถานการณ์คลี่คลายทุกอย่างคงดีขึ้น