มท. เร่งออก "โฉนดที่ดิน" ปี 65 ดันงบ 372 ล้าน เดินสำรวจทั่วประเทศ
“มหาดไทย” เร่งออก “โฉนดที่ดิน” ปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 รวม 70 จังหวัด ดันงบ 372 ล้าน เดินสำรวจทั่วประเทศ หวังช่วยประชาชนมีพื้นที่ทำประโยชน์ ลดความเหลื่อมล้ำในการถือครองที่ดิน
นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวปฐกถาพิเศษทิศทางขับเคลื่อนเศรษฐกิจแปลง น.ส.3ก เป็นโฉนด ในงานสัมมนา Virtual Seminar โฉนดเพื่อชีวิต จัดโดยหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ว่า
รัฐบาลโดย กระทรวงมหาดไทยมีความมุ่งมั่น มีความตั้งใจในการลดความเหลื่อมล้ำในการถือครองที่ดินจึงได้มอบนโยบายให้กรมที่ดินในการเดินสำรวจออกโฉนดที่ดินให้กับประชาชน โดยที่ดินของรัฐ คือพื้นที่ที่ประกาศเป็นพื้นที่เขตป่า พื้นที่ที่ประกาศเป็นพื้นที่สปก. หรือพื้นที่สาธารณะที่ประชาชนใช้ร่วมกัน ซึ่งที่ดินของรัฐเหล่านี้ไม่สามารถนำมาออก "โฉนดที่ดิน" ให้กับประชาชนได้
“ที่ดินที่อยู่นอกพื้นที่ที่ดินของรัฐและพื้นที่ที่ประชาชนสามารถทำประโยชน์ได้มายาวนานติดต่อกัน ที่ดินเหล่านี้แม้ประชาชนยังไม่มีเอกสารสิทธิใดหรือไม่เอกสารสำคัญใดๆก็สามารถนำมาออกโฉนดที่ดินได้ เมื่อกรมที่ดินได้ประกาศเดินสำรวจที่ดินในเขตจังหวัดนั้นๆโดยกระทรวงมหาดไทยจะออกประกาศให้กรมที่ดินมีหน้าที่ไปเดินสำรวจที่ดิน”
นายนิพนธ์ กล่าวต่อว่า ส่วนที่ดินน.ส.3 หรือที่ดินน.ส.3ก ยังสามารถนำมาออกโฉนดที่ดินได้ โดยปัจจุบันที่ดินน.ส.3หรือที่ดินน.ส.3ก มีอยู่ประมาณ 4,500,000 แปลง ที่ยังไม่ได้ออกเป็นโฉนดที่ดิน กรมที่ดินตั้งใจที่จะเร่งรัดในการเปลี่ยนที่ดินน.ส.3หรือที่ดินน.ส.3ก ให้เป็นโฉนดที่ดิน เพื่อให้ประชาชนได้ใช้พื้นที่ในการทำประโยชน์ เพราะสถานะของเอกสาร ความสำคัญระหว่างที่ดินน.ส.3และที่ดินน.ส.3ก และโฉนดที่ดิน ฐานะความมั่นคงทางกฎหมายแตกต่างกัน กรณีที่เป็นน.ส.3ก การครองครองใช้เวลาทางกฎหมายแพ่งเพื่อครอบครองเพียง 1 ปี
กรณีทีเป็นโฉนดที่ดินจะมีการครองบครองหรือแอบอ้างสิทธิได้ต้องใช้เวลา 10 ปี เพราะฉะนั้นความมั่นคงนี้เป็นที่มาให้สถาบันการเงินบางแห่งเริ่มส่งสัญญาณไม่รับที่ดินน.ส.3 หรือน.ส.3ก เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้ หากเป็นเช่นนี้ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการใช้ประโยชน์ที่ดินนั้นอย่างเต็มที่และนำเอาที่ดินนั้นมาใช้ในการทำธุรกิจต่างๆได้
ขณะเดียวกัน กรมที่ดิน จึงได้เร่งรัดในการเปลี่ยที่ดินน.ส.3และน.ส.3ก ให้เป็นโฉนดที่ดิน นี่คือนโยบายที่ได้มอบหมายให้กรมที่ดินไปดำเนินการควบคู่กับการเดินสำรวจในพื้นที่ที่ถูกประกาศเพื่อเดินสำรวจ โดยเร่งรัดในการออกโฉนดที่ดินให้กับประชาชน โดยที่ดินที่ประชาชนถือครองเอกสารที่เรียกว่า ส.ค.1 ซึ่งภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2553 ที่ผ่านมา กรมที่ดินได้ประกาศให้ผู้ที่ถือครองเอกสารส.ค.1 ให้มาแจ้งความประสงค์ในการขอออกโฉนดที่ดิน ขณะนั้นมีผู้มาแจ้งความประสงค์กว่า 400,000 ฉบับ ปัจจุบันดำเนินการแล้ว 200,00 ฉบับ เปลี่ยนจากที่ดินส.ค.1เป็นโฉนดที่ดิน ซึ่งยังอยู่ระหว่างดำเนินการอีก 200,000 ฉบับ ซึ่งเป็นตัวเลขที่ต้องเร่งรัดดำเนินการเพื่อออกโฉนดที่ดินให้กับประชาชน นี่คือความตั้งใจของกระทรวงมหาดไทย และมอบหมายให้กรมที่ดินเร่งรัดดำเนินการแก้ไขปัญหาได้มาซึ่งโฉนดที่ดินให้กับประชาชน เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่ากรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทยมีความตั้งใจในการให้ประชาชนเข้าถึงการใช้สิทธิในการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างเต็มที่
นายนิพนธ์ กล่าวต่อว่า การมอบโฉนดที่ดินให้กับประชาชนตามนโยบายของกระทรวงมหาดไทยและกรมที่ดินอย่างต่อเนื่องตลอดมา โดยปี 2564 กรมที่ดินได้ประกาศเดินสำรวจที่ดินทั่วประเทศใน 50 จังหวัด และในปี 2565 กรมที่ดินได้ประกาศสำรวจจังหวัดเพื่อออกโฉนดที่ดินเพิ่มขึ้นเป็น 70 จังหวัด โดยใช้งบประมาณ 372 ล้านบาท ในการเดินสำรวจ ซึ่งเริ่มวันที่ 1 ตุลาคม 2564-30 กันยายน 2565
แม้ว่าจะมีปัญหาในเรื่องภาระงบประมาณในการนำมาใช้จ่ายออกโฉนดที่ดินให้กับประชาชน หากถามว่าทำไมต้องใช้งบประมาณพบว่าในกรณีที่กรมที่ดินประกาศเดินสำรวจออกโฉนดที่ดินและพื้นที่ใดที่ถูกประกาศแล้ว โดยผู้ที่ขอแจ้งความประสงค์ออกโฉนดที่ดินในพื้นที่ที่ประกาศ ประชาชนจะเสียค่าคำร้อง เพียง 110 บาทต่อคำร้อง ซึ่งแตกต่างกับในกรณีที่ผู้ต้องการแจ้งความประสงค์เดินทางไปกรมที่ดินและมีความประสงค์จะออกโฉนดที่ดิน ซึ่งในกรณีนี้ผู้ที่ต้องการแจ้งความประสงค์จะเสียค่าใช้ราว 3,000-4,000 บาท ซึ่งตรงนี้เป็นสิ่งที่รัฐบาลเข้ามาดูแลภาระค่าใช้จ่ายให้กับประชาชน ทำให้จำเป็นต้องใช้งบประมาณ
“จากสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้มีการจำกัดการใช้งบประมาณ แม้ว่าปีนี้งบประมาณการเดินสำรวจเพื่อออกโฉนดที่ดินลดลง อีกทั้งที่ผ่านมาไม่มีการเดินสำรวจจังหวัด ทำให้กรมที่ดินปรับกลยุทธ์ให้ที่ดินในจังหวัดได้มีส่วนร่วมในการเดินสำรวจว่าจังหวัดใดบ้างที่ต้องใช้ศูนย์ในการเดินสำรวจ จังหวัดใดบ้างที่ต้องใช้เจ้าหน้าที่ของจังหวัดในการเดินสำรวจออกโฉนดให้ประชาชน ซึ่งกรมที่ดินจะลงรายละเอียดในประกาศต่อไป แสดงให้เห็นว่าแม้มีปัญหาเรื่องงบประมาณ เราจะไม่เอาปัญหาเรื่องการได้รับจัดสรรงบประมาณน้อยมาหยุดโครงการที่ประชาชนได้ประโยชน์ เราพยายามปรับรูปแบบโครงการนี้ให้ประชาชนได้ประโยชน์ นี่คือสิ่งที่กรมที่ดินและกระทรวงมหาดไทยเร่งรัดในการออกโฉนดที่ดินให้กับประชาชนทั่วประเทศ”
ทั้งนี้ ในปี 2565 นี้ กระทรวงมหาดไทย ได้ลงนามประกาศและมอบหมายให้กรมที่ดินเดินสำรวจเพื่อออกโฉนดที่ดินทั่วประเทศทั้งหมด 70 จังหวัด ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศไทย โดยเพิ่มจากปี 2564 ที่มีการประกาศเดินสำรวจ 50 จังหวัด และเมื่อปี 2563 มีการประกาศเดินสำรวจ 25 จังหวัด
“เราตระหนักดีว่าที่ดินคือชีวิต คือที่อยู่อาศัย เป็นที่ทำมาหากิน โดยเฉพาะประชาชนในประเทศไทย เราเป็นประเทศเกษตรกรรม เพราะฉะนั้นที่ดินจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่การผลิต ซึ่งการจัดการให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างเต็มที่ ทำให้ประชาชนมีอาชีพมีรายได้เลี้ยงครอบครัว อีกทั้งเป็นมรดกตกทอดสู่ลูกสู่หลาน ภายใต้ความคิดดังกล่าวจึงเร่งรัดให้ประชาชนได้เข้าถึงการออกเอกสารสิทธิและมีโฉนดที่ดินต่อไป”