"สุชาติ" ชี้แจงแล้ว ดราม่า "ค่าแรงขั้นต่ำ" จะปรับเพิ่มหรือไม่
ดราม่าเพิ่ม "ค่าแรงขั้นต่ำ" จาก 300 บาท เป็น 492 บาท "สุชาติ ชมกลิ่น” รมว.แรงงานชี้แจงแล้ว จะขึ้นเท่าไรอยู่ที่ไตรภาคี
เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2565 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงกรณี ที่สื่อโซเซียลได้เผยแพร่ข่าวประกาศ!!! เตรียมเพิ่ม “ค่าแรงขั้นต่ำ” จาก 300 บาท เป็น 492 บาท (รอการอนุมัติตัวเลข) นั้นว่า ข่าวดังกล่าวบิดเบือนไม่เป็นความจริง เนื่องจากข้อเท็จจริงในการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำแต่ละครั้งนั้น มีคณะกรรมการค่าจ้าง ซึ่งเป็นผู้แทนองค์กรไตรภาคีทั้ง 3 ฝ่ายคือ ฝ่ายรัฐบาล นายจ้าง และลูกจ้าง พิจารณาและปรึกษาหารืออย่างรอบคอบก่อนจะได้ข้อยุติร่วมกัน
รมว.แรงงาน ระบุว่า แม้ว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในปัจจุบันมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 จนถึงปัจจุบันแล้ว ในปี 2565 คณะกรรมการค่าจ้างได้กำหนดแผนการทบทวนความเหมาะสมของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ
ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างขั้นตอนการให้คณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัดและคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำกรุงเทพมหานคร ดำเนินการจัดประชุมเพื่อพิจารณาทบทวนความเหมาะสมของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด และกรุงเทพมหานคร ให้แล้วเสร็จภายในเดือนกรกฎาคม 2565 ซึ่งยังไม่ได้ข้อสรุปแต่อย่างใด จากนั้นคณะกรรมการค่าจ้างจะพิจารณาข้อมูลทั้งหมดให้แล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2565
นายสุชาติ กล่าวต่อว่า โดยปกติข้อเท็จจริงในการขึ้นค่าจ้างนั้น มีระบบไตรภาคีเป็นผู้พิจารณา ถึงความเหมาะสมตามหลักเกณฑ์สากลของไอแอลโอ ซึ่งเป็นผู้กำหนด ดำเนินการด้วยหลักเกณฑ์ที่มีเหตุมีผล สามารถตอบสังคมได้
"ปัจจุบันค่าแรงขั้นต่ำของไทยอยู่ในระดับต้นๆ ของอาเซียน รองจากสิงคโปร์ สูงกว่าเวียดนาม มาเลเซีย เมียนมา นักลงทุนหลายประเทศจึงเลือกที่จะย้ายฐานการผลิตเพื่อไปหาแหล่งค่าจ้างที่ถูกกว่า" รมว.แรงงาน ระบุ
"ผมในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เคยให้สัมภาษณ์ และตอบกระทู้สดในสภาไปแล้วว่า การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นเรื่องของภาวะเงินเฟ้อกี่เปอร์เซ็นต์ บวกกับค่าครองชีพแต่ละจังหวัดนั้นๆ ถ้าจะขึ้นทั้ง 40% 30% ผมเชื่อว่าไม่มีนักลงทุนเข้ามาลงทุนในประเทศไทย
และค่าแรงคนงานของประเทศไทย ส่วนมากพี่น้องคนไทย มีทักษะความสามารถได้ค่าแรงสูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำอยู่แล้ว ค่าแรงขั้นต่ำที่เราใช้อยู่ในปัจจุบันส่วนมากกว่า 80% เป็นส่วนของคนต่างด้าว 3 สัญชาติที่เข้ามาทำงานเป็นกรรมกร
ถ้าเราจะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจาก 300 กว่าเป็น 400 กว่าเกือบ 40% ผมเชื่อว่าไม่มีบริษัทไหนอยู่รอดในสถานการณ์เช่นนี้ เพราะบริษัทต่างๆ รักษาการจ้างงานมา 2 ปี ขาดทุนจ่ายเงินให้ค่าจ้างแรงงาน เพื่อรักษาการจ้างงาน เมื่อเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวจะตัดทิ้ง 40% มันเป็นไปไม่ได้ ไม่มีเหตุผล "รมว.แรงงาน กล่าว
การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำมีการปรับแน่นอน แต่จะต้องพิจารณาตามภาวะเงินเฟ้อกับค่าครองชีพแต่ละจังหวัดด้วย ขอให้ทุกคนรอฟังข่าวจากกระทรวงแรงงาน เท่านั้น
ส่วนข่าวที่ปรากฏออกมาตามสื่อโซเซียลนั้น มาจากกลุ่มเรียกร้องค่าแรง ซึ่งเป็นข่าวบิดเบือนไม่เป็นความจริง ผมได้เรียกกลุ่มที่เรียกร้องค่าแรงมาหารือแล้ว และได้อธิบายเหตุผลไปทั้งหมดแล้วว่า นายจ้างเคยจ่ายค่าจ้างเดือนละ 1,000,000 บาท ขาดทุนมา 2 ปี พอเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวกลับต้องมาจ่ายค่าจ้างเพิ่มขึ้นเป็น 1.3-1.4 ล้านบาท
นายสุชาติ อธิบายว่า แม้ว่าขณะนี้ยังไม่ได้ขึ้นค่าจ้าง แต่รัฐบาลช่วยเหลือเยียวยาตั้งแต่โครงการ มาตรา 33 เรารักกัน คนละ 6,000 บาท โครงการคนละครึ่ง เยียวยากรณีถูกหยุดงานจากมาตรการของรัฐเป็นเวลา 3 เดือน คนละ 5,000 บาท เป็นเงิน 15,000 บาท ลดเงินสมทบประกันสังคมค่างวด 3 เดือน 4 ครั้ง เยียวยาอาชีพอิสระ คนกลางคืน
"สิ่งเหล่านี้คือ สิ่งที่รัฐบาลทำไปแล้ว และผมในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ไม่เคยนิ่งนอนใจ รัฐบาลโดยท่านนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และท่านพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งท่านกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน ได้เป็นห่วงและให้ความสำคัญมาตลอด จึงนำนโยบายช่วยเหลือเยียวยาทางอ้อมทุกเรื่องให้กับพี่น้องประชาชน ผู้ใช้แรงงานมาตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปัจจุบัน ได้ช่วยเหลือเยียวยาทุกมาตรการทุกอย่าง เพื่อชดเชยการที่ไม่ได้ขึ้นค่าแรงให้สถานการณ์ปี 2563 และ 2564 ซึ่งช่วงนั้นโควิด-19 ระบาดอย่างหนัก วัคซีนไม่มี" นายสุชาติ กล่าว
รมว.แรงงาน แจกแจง อีกว่า อย่าว่าแต่การขึ้นค่าแรงเลยโรงงานทุกโรงงานต้องแก้ปัญหาเรื่องระบาดเอาวัคซีนฉีดให้เกิดโครงการแฟคทอรี่แซนด์บ็อกซ์ เพื่อส่งออกใน 4 ประเภทกิจการ ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ อาหารแช่แข็ง และอุปกรณ์การแพทย์ ได้เติบโต ซึ่งพนักงานได้โบนัส 7-8 เท่า ทั้งหมดนี้คือ สิ่งต่างๆ ที่เราได้ทำเพื่อพี่น้องประชาชน พี่น้องผู้ใช้แรงงาน
“ขอให้เชื่อมั่นว่า รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ ท่านพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และท่าน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี มีความห่วงใยพี่น้องประชาชน และผู้ใช้แรงงานทุกคน และได้สั่งการให้ผมในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ติดตามการช่วยเหลือเยียวยาตลอดเวลา
แม้ว่าสถานการณ์โควิด-19 ตอนนี้เริ่มดีขึ้นแล้ว และการปรับค่าจ้างขั้นต่ำอยู่ระหว่างการพิจารณา ส่วนมาตรการเยียวยาต่างๆ ก็มีออกมาเรื่อยๆ ทั้งช่วยเหลือเอสเอ็มอีรายละ 3,000 บาท รักษาระดับการจ้างงานให้ลูกจ้างเกือบ 5,000,000 คน ทำให้คนเหล่านี้ไม่ต้องตกงาน ดังนั้นขอให้ทุกคนเข้าใจ และเชื่อมั่นว่ากระทรวงแรงงาน จะติดตามการช่วยเหลือเยียวยาจากผลกระทบโควิด-19 อยู่ตลอดเวลา เพื่อให้พี่น้องผู้ใช้แรงงานได้รับสิทธิประโยชน์ความคุ้มครองตามกฎหมายต่อไป” นายสุชาติ กล่าว
พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์ ศิลาวงษ์