สถาปัตย์ฯ มธ. ผนึก เอสซีจี ร่วมมือทางวิชาการ มุ่งขับเคลื่อนประเทศสู่สังคม Net Zero
คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับ บริษัท เอสซีจี ซิเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด ลงนามความร่วมมือทางวิชาการ มุ่งพัฒนางานด้านการศึกษา วิจัย และนวัตกรรมความยั่งยืนในมิติสิ่งแวดล้อมสรรค์สร้าง
ความร่วมมือระหว่าง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ บริษัท เอสซีจี ซิเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด มีเป้าหมายร่วมในการขับเคลื่อนประเทศไทยมุ่งสู่สังคม Net Zero โดยวัตถุประสงค์หลักเพื่อพัฒนาความร่วมมือทางวิชาการในมิติของสิ่งแวดล้อมสรรค์สร้าง หรือ Built Environment ซึ่งให้ความสำคัญในการผลิตบุคลากรและองค์ความรู้ที่ตอบโจทย์ความยั่งยืนในมิติของสิ่งแวดล้อมสรรค์สร้าง โดยความร่วมมือในครั้งนี้ ประกอบด้วยกิจกรรมการจัดทำแผนความร่วมมือในการพัฒนาวิชาการ ภายใต้หัวข้อ "Pathway to Net Zero Building" เพื่อให้ความรู้และเผยแพร่แนวทางการออกแบบอาคารที่มีการใช้พลังงานสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Energy Building) ตลอดจนแนวทางการออกแบบเพื่อสุขภาวะที่ดี เทคโนโลยีและนวัตกรรมประหยัดพลังงานอาคาร นวัตกรรมผลิตภัณฑ์และการก่อสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นต้นแบบความร่วมมือแห่งอนาคตที่ระดมทรัพยากรที่เป็นประโยชน์อย่างมีนัยสำคัญ ทั้งในด้านความรู้ ทักษะ ความเชี่ยวชาญจากภาคการศึกษา และภาคธุรกิจ ให้เกิดประโยชน์ในวงกว้างต่อไป
ผศ. อาสาฬห์ สุวรรณฤทธิ์ คณบดี คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า บทบาทของสถาบันการศึกษาในการมองเห็นอนาคต สร้างนวัตกรรม และเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันสังคมสู่ความยั่งยืน เป็นพันธกิจสำคัญของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดย สถาปัตย์ฯ มธ. ให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างทางออกในการแก้ปัญหาใหม่ๆ บนความท้าทายของบริบทใหม่ที่ยั่งยืนและส่งผลกระทบอย่างสร้างสรรค์ต่อสังคมและประเทศมาอย่างต่อเนื่อง โดยในโลกอนาคตนั้นถูกขับเคลื่อนด้วยแรงขับ (Driving Force) ที่สำคัญ 3 ด้าน ได้แก่ มิติด้านสุขภาวะและคุณภาพชีวิต (Well-being and Quality of Life) มิติด้านคุณค่าหมุนเวียนและความยั่งยืน (Circular Value and Sustainability) และมิติด้านการผสานทางออกในการแก้ไขปัญหาด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Solution and Integration) โดยเฉพาะอย่างยิ่งมิติด้านคุณค่าหมุนเวียนและความยั่งยืนที่เป็นโจทย์ความท้าทายสำคัญของโลกที่ต้องได้รับความร่วมมือในการร่วมกันแก้ไขปัญหา การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ซึ่งอุตสาหกรรมการก่อสร้างเป็นภาคส่วนที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างผลกระทบที่เป็นบวกอย่างสร้างสรรค์ได้
"สถาปัตย์ฯ มธ. หนึ่งในสถาบันการศึกษาชั้นนำด้านการออกแบบ และสิ่งแวดล้อมสรรค์สร้าง (Built Environment) เล็งเห็นความสำคัญของบทบาทของคณะฯ ในการประสานความร่วมมือกับภาคธุรกิจร่วมขับเคลื่อนประเทศไทยสู่เป้าหมาย การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ตามกรอบนโยบายที่ถูกผลักดันให้เป็นวาระเร่งด่วนระดับประเทศและระดับโลก โดยร่วมมือทางวิชาการกับ บริษัท เอสซีจี ซิเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด ซึ่งเป็นผู้นำระดับภูมิภาคอาเซียนในธุรกิจสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อการก่อสร้างที่ยั่งยืน จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการร่วมผลักดันแนวนโยบายดังกล่าวสู่การลงมือปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม และเป็นตัวอย่างความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษาและภาคเอกชนในการมีส่วนร่วมขับเคลื่อนประเทศสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน" ผศ. อาสาฬห์ กล่าว
นายวชิระชัย คูนำวัฒนา Head of Smart System Solution Business บริษัท เอสซีจี ซิเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด กล่าวว่า ความร่วมมือในครั้งนี้ สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนของ เอสซีจี ตามแนวทาง ESG โดย เอสซีจี ซิเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง ในฐานะผู้ผลิตสินค้าวัสดุก่อสร้างและโซลูชันสำหรับอาคาร มองเห็นความสำคัญของการลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ในอาคาร เพราะจากสถิติการปลดปล่อยคาร์บอนฯ จากอาคาร (Building Carbon Emissions) นับว่าเกินกว่า 39% ของการปลดปล่อยคาร์บอนฯ ทั้งหมดจากทั่วโลก ดังนั้นจึงถือได้ว่าเป็นวาระเร่งด่วนและมีความสำคัญมากที่จะต้องพัฒนามาตรการและวิธีในการลดการปลดปล่อยคาร์บอนฯ ดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง
"การร่วมมือครั้งนี้ เอสซีจี โดย SCG Building and Living Care Consulting บริษัทผู้เชี่ยวชาญในการให้คำปรึกษาและออกแบบอาคารเพื่อความยั่งยืนและเพื่อสุขภาวะที่ดี และ SCG Smart Building Solutions ผู้ให้บริการโซลูชันด้านพลังงานอาคาร ยินดีที่จะนำองค์ความรู้มาต่อยอดร่วมกับ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อพัฒนา Pathway to Net Zero Building Guideline เผยแพร่สู่สาธารณะและผลักดันการพัฒนา Net Zero Building ในประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยจะมีการนำผลการศึกษาร่วมกันไปเริ่มดำเนินการในโครงการนำร่องต่างๆ ตามแผนต่อไป" นายวชิระชัย กล่าวทิ้งท้าย