'กสทช.' เผย 38 ประเทศ กลุ่มกิจการดาวเทียมรวมตัวสู้ หลังขอใช้บนเครื่องบิน เรือ รถ

'กสทช.' เผย 38 ประเทศ กลุ่มกิจการดาวเทียมรวมตัวสู้ หลังขอใช้บนเครื่องบิน เรือ รถ

"รองเลขาธิการ กสทช." เผย 38 ประเทศเอเชียแปซิฟิกถกการใช้คลื่นความถี่ กลุ่มกิจการดาวเทียมรวมตัวสู้ หลังเสนอขอคลื่นความถี่เพื่อใช้บนเครื่องบิน เรือ และรถ

พล.อ.ท.ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ รองเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (รองเลขาธิการ กสทช.) กล่าวว่า องค์กรโทรคมนาคมแห่งเอเชียแปซิฟิก (APT) ที่มีสมาชิก 38 ประเทศ ได้จัดประชุมเตรียมการประชุมใหญ่ระดับโลกว่าด้วยวิทยุคมนาคม ค.ศ.2019 หรือ APG19-5 ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่นที่ผ่านมา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดทำข้อเสนอร่วมต่อการประชุมใหญ่ระดับโลกว่าด้วยวิทยุคมนาคม (World Radiocommunication Conference: WRC) ที่ สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) จะจัดขึ้นในเดือน ต.ค.-พ.ย.2562 เพื่อกำหนดคลื่นความถี่ที่เหมาะสมสำหรับการใช้งานในกิจการต่าง ๆ ในอนาคต อาทิ คลื่นความถี่สำหรับกิจการการเคลื่อนที่สากล (IMT) และกิจการดาวเทียม เป็นต้น รวมทั้งปรับปรุงข้อบังคับสำหรับการใช้คลื่นความถี่และหลักเกณฑ์การใช้สิทธิวงโคจรดาวเทียมที่ทุกประเทศต้องปฏิบัติตาม โดยประเทศไทยได้มีท่าทีและข้อเสนอที่เกี่ยวกับการใช้งานคลื่นความถี่ในกิจการต่าง ๆ จำนวน 35 เรื่อง

พล.อ.ท.ดร.ธนพันธุ์ กล่าวว่า ประเด็นที่มีการหารือกันอย่างกว้างขวาง คือ การกำหนดคลื่นความถี่สำหรับกิจการเคลื่อนที่สากล (IMT) ที่จะนำมาใช้ในเทคโนโลยี 5G หรือ 6G ในอนาคต โดยมีการเสนอถึง 12 ย่านความถี่ (Bands) ล้วนเป็นย่านความถี่ที่สูงกว่า 24 GHz ทั้งสิ้น โดยที่ประชุมได้ข้อสรุปร่วมกันใน 3 ย่านความถี่ ซึ่งสอดคล้องตามที่ประเทศไทยเสนอ ได้แก่ ย่านความถี่ 24.25-27.5 GHz, 37-43.5 GHz และ 66-71 GHz สำหรับย่านความถี่ที่เหลือยังไม่ได้ข้อสรุปหรือยังคงให้ใช้งานในกิจการเดิม เช่น 31.8-33.4 GHz หรือ 45.5-47 GHz เป็นต้น

การประชุมครั้งนี้วงการดาวเทียมมีการรวมตัวกันมากขึ้นและได้เสนอคลื่นความถี่ย่าน 17.7-19.7 GHz (อวกาศสู่โลก) และย่าน 27.5-29.5 GHz (โลกสู่อวกาศ) สำหรับสถานีภาคพื้นโลกที่เคลื่อนที่ (Earth Station in Motion: ESIM) ซึ่งเป็นการให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงบนเครื่องบิน เรือ รถไฟ หรือยานพาหนะที่เคลื่อนที่ได้ โดยในอนาคตหากโครงการดาวเทียม SpaceX ของ Elon Musk หรือโครงการดาวเทียม OneWeb เกิดขึ้นก็สามารถให้บริการได้ทั่วโลกซึ่งจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงบนโลกมากขึ้น อย่างไรก็ตามที่ประชุมได้ข้อสรุปร่วมกันสำหรับเงื่อนไขการใช้คลื่นความถี่ดังกล่าวเฉพาะบนเรือส่วนการใช้งานบนเครื่องบินและบนพื้นดินยังไม่ได้ข้อสรุป

VK8A0540

 

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังมีการพิจารณาคลื่นความถี่สำหรับระบบส่งสัญญาณอินเทอร์เน็ตในระดับสูง (High Attitude Platform Station: HAPS) ซึ่งใช้บอลลูน หรือ โดรน มาให้บริการอินเทอร์เน็ตในอนาคต โดยเฉพาะ Google และ Facebook ได้แสดงความสนใจที่จะให้บริการในเร็ว ๆ นี้ ซึ่งประเทศไทยสนับสนุนให้ใช้คลื่นความถี่ในย่าน 47.2-47.5/47.9-48.2 GHz ทั่วโลก และย่าน 27.9-28.2 GHz และ 31-31.3 GHz ในประเทศไทย รวมทั้งที่ประชุมยังมีการพิจารณาการใช้ย่านคลื่นความถี่ให้เหมือนกันสากล (Harmonization) สำหรับระบบขนส่งอัจฉริยะ (Intelligent Transport System: ITS) และระบบขนส่งทางราง (Railways Radiocommunication System between Train and Trackside: RSTT) ภายใต้คลื่นความถี่กิจการเคลื่อนที่ เช่น 335.4-480 MHz, 873-915 MHz และ 918-960 MHz เป็นต้น

"การประชุมนี้สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของคลื่นความถี่และสิทธิวงโคจรดาวเทียมซึ่งเป็นทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดที่ทุกประเทศต่างระดมสรรพกำลังจากทุกภาคส่วนเพื่อปกป้องและให้ได้มา ซึ่งประเทศไทยจำเป็นต้องรักษาไว้ซึ่งคลื่นความถี่และสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมอันเป็นสมบัติของชาติตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้อย่างแท้จริง" พล.อ.ท.ดร.ธนพันธุ์ กล่าว