บอร์ดก.ล.ต.ไฟเขียวออกเกณฑ์หนุนเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งทุน
ก.ล.ต. เผยคณะกรรมการ ก.ล.ต.มีมติเห็นชอบในหลักการที่จะส่งเสริมและสนับสนุนธุรกิจเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุน เล็งออกหลักเกณฑ์อนุญาตให้กิจการสามารถเสนอขายหลักทรัพย์ประเภทหุ้นและหุ้นกู้แปลงสภาพต่อผู้ลงทุนและพนักงานได้โดยตรงตามเงื่อนไขที่กำหนด
นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ ก.ล.ต. เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการ ก.ล.ต. ประจำเดือนกันยายน 2562 ดังนี้1. คณะกรรมการ ก.ล.ต. มีมติเห็นชอบหลักการส่งเสริม SMEs ให้มีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อขยายกิจการ
โดยคณะกรรมการ ก.ล.ต. มีมติเห็นชอบในหลักการที่จะส่งเสริมและสนับสนุนให้วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งแนวทางการสนับสนุนจะขึ้นอยู่กับความพร้อมและศักยภาพของ SMEs ได้แก่ SMEs ที่เข้าข่ายเป็นวิสาหกิจขนาดย่อมและวิสาหกิจรายย่อยตามนิยามของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ซึ่งเพิ่งเริ่มประกอบธุรกิจได้ไม่นาน มีขนาดเล็ก และยังเป็นบริษัทจำกัด
ทั้งนี้ก.ล.ต. จะออกหลักเกณฑ์อนุญาตให้กิจการสามารถเสนอขายหลักทรัพย์ประเภทหุ้นและหุ้นกู้แปลงสภาพต่อผู้ลงทุน และพนักงานได้โดยตรงตามเงื่อนไขที่กำหนด ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในด้านการหาผู้ลงทุนที่สามารถรับความเสี่ยงและสนใจเข้ามาลงทุน ทำให้กิจการสามารถระดมเงินทุนได้สะดวกมากขึ้น และเป็นการจูงใจพนักงานที่มีศักยภาพเข้ามาทำงาน พร้อมทั้งจะจัดกิจกรรมให้ความรู้และเปิดคลินิกให้คำปรึกษาแก่ผู้ประกอบการ SMEs ในส่วนภูมิภาค เกี่ยวกับเครื่องมือในตลาดทุนและวิธีการระดมทุนที่เหมาะสมกับขนาดและขั้นตอนการพัฒนา
นอกจากนี้ ก.ล.ต. มีแผนที่จะพัฒนาช่องทางการลงทุนในกิจการ SMEs ในรูปแบบกองทุนหรือทรัสต์ เพื่อเพิ่มทางเลือกให้แก่ผู้ลงทุนที่สามารถรับความเสี่ยงได้ด้วย โดยที่ผ่านมา ก.ล.ต. ได้หารือกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ถึงแนวทางในการปรับปรุงข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การลงทุนใน SMEs ที่อยู่ในช่วงเริ่มต้นสามารถทำได้สะดวกและง่ายขึ้น ซึ่งปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา
สำหรับ SMEs ที่เข้าข่ายเป็นวิสาหกิจขนาดกลางตามนิยามของ สสว. ซึ่งประกอบธุรกิจมาเป็นระยะเวลาหนึ่ง และมีความพร้อมที่จะแปลงเป็นบริษัทมหาชน แต่ผลประกอบการยังไม่สามารถเข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ ก.ล.ต. จะทบทวนเกณฑ์อนุญาตเสนอขายหุ้นต่อประชาชนให้เหมาะสมกับ SMEs ในกลุ่มนี้ พร้อมทั้งจะหารือกับตลาดหลักทรัพย์ฯ ถึงความเป็นไปได้ในการปรับปรุงเกณฑ์ผลประกอบการให้สอดคล้องเหมาะสมกับขนาดและประเภทของ SMEs ที่จะเข้าจดทะเบียนหลักทรัพย์มากขึ้น รวมทั้งจะพิจารณาความเป็นไปได้ในการลดค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการระดมทุนด้วย ทั้งนี้ เพื่อให้การออกและปรับปรุงหลักเกณฑ์สามารถตอบโจทย์ของผู้ประกอบการ SMEs อย่างแท้จริง ก.ล.ต. จะจัดตั้งคณะทำงานซึ่งประกอบด้วยภาครัฐและเอกชน อาทิ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน และสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เป็นต้น เพื่อร่วมกันพิจารณากำหนดเป้าหมาย และแนวทางในการสนับสนุนให้ SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุนในตลาดทุนต่อไป
อนึ่งจากการรวบรวมข้อมูลโดยฝ่ายวิจัย ก.ล.ต. พบว่าขนาดของ SMEs ในประเทศไทยเติบโตต่อเนื่องตลอด 5 ปีที่ผ่านมา (2557-2561) ค่าจีดีพีของ SMEs มีการเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 4.2 ต่อปี ซึ่งมีการเติบโตสูงกว่าจีดีพีของประเทศที่มีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 3.1 ต่อปี โดยในปี 2561 ขนาดของ SMEs มีมูลค่ากว่า 7 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 43 เมื่อเทียบกับจีดีพีของประเทศ ซึ่งมีแนวโน้มไปในทิศทางเดียวกันกับกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี ฝรั่งเศส และเยอรมนี ที่สามารถสร้างผลผลิตให้กับประเทศได้สูงกว่าร้อยละ 50 สะท้อนให้เห็นว่า SMEs ไทยมีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศและจะมีบทบาทยิ่งขึ้น หากได้รับการพัฒนาและสนับสนุนด้านต่าง ๆ เพื่อเสริมสร้างศักยภาพทางธุรกิจอย่างเหมาะสม ทั้งด้านการเพิ่มประสิทธิภาพของการบริหารจัดการ รวมถึงการเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อนำไปใช้ในกิจการทั้งนี้ในภาคธุรกิจ SMEs ของประเทศไทยมีการจ้างงานถึง 13.95 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 85.5 ของจำนวนแรงงานทั้งประเทศ
ขณะที่2. คณะกรรมการ ก.ล.ต. ยังมีมติเห็นชอบปรับเกณฑ์การขอรับใบอนุญาตการให้บริการขายหน่วยลงทุนมีความสะดวกขึ้น โดยคณะกรรมการ ก.ล.ต. มีมติเห็นชอบในการแก้ไขหลักเกณฑ์ให้ผู้ที่สนใจขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ในการให้บริการซื้อขายหน่วยลงทุนสามารถให้บริการขายหน่วยลงทุนภายใต้การจัดการของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ได้โดยไม่ติดข้อกำหนดว่าต้องขายหน่วยลงทุนของหลาย บลจ. นอกจากนี้ ยังอนุญาตให้ผู้ประสงค์จะรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ดังกล่าวที่ประกอบธุรกิจอื่นอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องใช้คำว่า “บริษัทหลักทรัพย์” นำหน้าชื่อบริษัท โดยต้องมีคุณสมบัติตามที่กำหนด
ทั้งนี้การผ่อนคลายหลักเกณฑ์ดังกล่าวช่วยตอบโจทย์แผนพัฒนาตลาดทุนไทยฉบับปัจจุบันในด้านการพัฒนาตลาดทุนไทยให้สามารถเข้าถึงได้ เนื่องจากเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการลงทุนได้กว้างขวางมากขึ้น (accessibility) โดย ก.ล.ต. ได้เปิดให้ผู้ให้บริการที่มีศักยภาพในการเข้าถึงประชาชนจำนวนมากและมีความพร้อมในการให้บริการ สามารถเข้ามาประกอบธุรกิจได้ตามความถนัดโดยไม่มีภาระจนเกินควร ขณะเดียวกันยังช่วยให้
ผู้ลงทุนมีช่องทางในการเข้าถึงบริการที่สะดวกขึ้น
โดย ก.ล.ต. จะเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนก่อนเสนอเรื่องดังกล่าวต่อกระทรวงการคลังและออกประกาศที่เกี่ยวข้องต่อไป