อธ.อัยการคดีพิเศษ ตั้งคณะทำงาน หลังรับสำนวน 'คดีบิลลี่'
"ดีเอสไอ" ส่งสำนวนควรฟ้อง "ชัยวัฒน์-พวก" คดีฆ่าอำพรางศพบิลลี่ 8 ข้อหาให้อัยการ "รองโฆษกอัยการ" เผยตั้งคณะทำงานแล้ว เร่งพิจารณาทันฝากขังสุดท้าย หลัง ม.ค.รู้ผลฟ้อง-ไม่ฟ้อง
เมื่อวันที่ 23 ธ.ค.62 ที่สำนักงานอัยการสูงสุด ถ.รัชดาภิเษก พนักงานสอบสวน กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เข้าพบ นายฐาปนา ใจกลม อธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ เพื่อส่งมอบสำนวนเอกสารหลักฐาน พร้อมความเห็นสั่งฟ้อง นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผอ.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด (ผอ.ทสจ.) ปัตตานี อดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ผู้ต้องหาที่ 1 , นายบุญแทน บุษราคำ ผู้ต้องหาที่ 2 , นายธนเสฏฐ์ หรือไพฑูรย์ แช่มเทศ ผู้ต้องหาที่ 3 และนายกฤษณพงษ์ จิตต์เทศ ผู้ต้องหาที่ 4 คดีเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กรณีถูกกล่าวหาร่วมกันกักขังหน่วงเหนี่ยวทำร้าย และร่วมกันฆ่าอำพรางศพ นายพอละจี รักจงเจริญ อายุ 31 ปี หรือบิลลี่ นักเคลื่อนไหวชาวกะเหรี่ยงบ้านโป่งลึก-บางกลอย ที่หายตัวไปตั้งแต่ปี 2557
ภายหลัง นายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เปิดเผยว่า เมื่อได้รับสำนวนคดีพิเศษที่ 13/2562 มีเอกสารหลักฐาน 17 แฟ้ม ความหนารวม 5,850 หน้า ที่กล่าวหาและมีความเห็นสมควรสั่งฟ้องนายชัยวัฒน์กับพวกรวม 8 ข้อหาฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนหรือร่วมกันฆ่าผู้อื่นเพื่อปกปิดการกระทำอื่นของตน , ร่วมกันกักขังหน่วงเหนี่ยวผู้อื่นเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย , ร่วมกันมีอาวุธฯ , ร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นฯ , ร่วมกันปล้นทรัพย์ , ร่วมกันอำพรางศพ , เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ ซึ่งชั้นสอบสวนผู้ต้องหาทั้งสี่ให้การปฏิเสธแล้ว นายฐาปนา อธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ มอบสำนวนให้ นายชวรัตน์ วงศ์นะบูรณ์ อัยการพิเศษสำนักงานคดีพิเศษ 1 รับผิดชอบตรวจพิจารณาสำนวนและทำความเห็นเสนอตามลำดับชั้น
อย่างไรก็ดี เนื่องจากตัวผู้ต้องหาทั้ง 4 ยังอยู่ในระหว่างการฝากขังชั้นสอบสวนซึ่งขณะนี้พนักงานสอบสวนได้ฝากขังครั้งที่ 4 ไว้แล้ว และจะครบกำหนดในวันที่ 29 ธ.ค.นี้ จึงถือว่าตัวอยู่ในอำนาจการฝากขังของศาลอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ดังนั้นในวันนี้จึงเป็นการส่งสำนวนให้อัยการเฉพาะเอกสาร ส่วนตัวผู้ต้องหาทั้ง 4 ก็ได้รับการประกันตัวในชั้นฝากขังอยู่แล้วจึงไม่ต้องนำตัวมาพบกับอัยการ โดยประมวลวิธีพิจารณาความอาญากำหนดว่าเมื่อพนักงานสอบสวนสรุปสำนวนเสร็จสิ้นให้ส่งสำนวนพร้อมตัวผู้ต้องหากับพนักงานอัยการ เว้นแต่ระหว่างนั้นตัวผู้ต้องหาได้ฝากขังไว้ต่อศาลอยู่แล้วกรณีของนายชัยวัฒน์ถึงเข้าข่ายดังกล่าว
ขณะที่คดีนี้สามารถยื่นฝากขังได้ 7 ครั้งๆ ละ12วัน และเนื่องจากคดีนี้เป็นคดีสำคัญอธิบดีอัยการจึงได้มอบหมายให้พิจารณาสำนวนในรูปแบบคณะทำงานอัยการโดยมีนายชวรัตน์ อัยการพิเศษสำนักงานคดีพิเศษ 1 เป็นหัวหน้าคณะทำงาน ซึ่งในทางปฏิบัติก็จะพิจารณาคดีโดยรวดเร็ว โปร่งใส และให้ความเป็นธรรมทุกฝ่าย ขณะที่คดีนี้เหลือเวลาฝากขังอีกประมาณเดือนเศษคณะทำงานก็จะเร่งพิจารณาสำนวนด้วยความรอบคอบให้ทันภายในกำหนดฝากขังครั้งสุดท้าย ซึ่งหากอัยการมีความเห็นสั่งคดีไปในทางใดก็จะแจ้งให้ผู้ต้องหารับทราบผลต่อไป และระหว่างการพิจารณาสำนวนซึ่งกระบวนการยังอยู่ในการฝากขังผู้ต้องหาดังนั้นในการฝากขังครั้งต่อไปอัยการสำนักงานคดีพิเศษ 1 จะเป็นผู้ยื่นคำร้องฝากขังต่อศาลอาญาคดีทุจริตฯ ส่วนการยื่นร้องขอความเป็นธรรมนั้นในวันนี้ยังไม่มีข้อมูลว่า น.ส.พิณนภา พฤกษาพรรณ อายุ 32 ปี หรือมึนอ ภรรยา ของนายบิลลี่ ในฐานะผู้เสียหายมายื่นคำร้องใดให้พิจารณาเพิ่มเติม
สำนวนนี้ส่งเข้ามาในช่วงจะครบฝากขังครั้งที่4 จากกรอบระยะเวลาการฝากขังอธิบดีอัยการสำนักงานคดี พิเศษและอัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 1 โดยหลักการท่านจะรู้อยู่แล้วว่าการพิจารณาสำนวนคดีมีเงื่อนเวลาเกี่ยวข้อง ซึ่งเหลือเวลาอีก 40 วัน ดังนั้นก็จะพิจารณาสำนวนให้แล้วเสร็จภายในเงื่อนเวลา หากไม่มีเหตุจำเป็นให้ล่วงเลยระยะเวลาฝากขังที่กฎหมายกำหนดไว้สูงสุด 7 ครั้ง นายประยุทธ รองโฆษกอัยการฯ กล่าวย้ำ
ด้าน นายพรชัย พฤกษ์พิชัยเลิศ ทนายความของนายชัยวัฒน์ เปิดเผยว่า ในการส่งสำนวนของดีเอสไอให้อัยการนั้น ตนก็เพียงทราบจากข่าวที่สื่อมวลชนเผยแพร่ โดยระหว่างตัวผู้ต้องหานั้นดีเอสไอไม่ได้แจ้งเรื่องส่งสำนวนให้เราทราบ ส่วนนายชัยวัฒน์และกลุ่มที่ถูกกล่าวหาจะยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมต่ออัยการในการพิจารณาประเด็นใดเพิ่มเติมหรือไม่นั้นตนยังไม่ได้พูดคุยหารือกับตัวความต้องรอหารือกันก่อน โดยที่ผ่านมาเราไม่เคยเห็นพยานหลักฐานในสำนวนจึงไม่ทราบว่ามีความละเอียดอย่างไรบ้าง ก็ต้องให้อัยการพิจารณาสำนวนแล้วเมื่อมีความเห็นจะแจ้งนัดให้ผู้ต้องหามารับทราบต่อไป อย่างไรก็ดีระหว่างนี้นายชัยวัฒน์ กับกลุ่มก็ต้องไปรายงานตัวกับศาลตามเงื่อนการประกันตัวทุกนัด ซึ่งนัดล่าสุดจะต้องรายงานต่อศาลอีกครั้งในวันที่ 2 ม.ค.ปีหน้า