6 ปัจจัยสำคัญ ย้ำ 'อิหร่าน' ไม่พร้อมรบสหรัฐ

6 ปัจจัยสำคัญ ย้ำ 'อิหร่าน' ไม่พร้อมรบสหรัฐ

เปิด 6 ปัจจัยสำคัญที่สะท้อนว่าอิหร่านไม่พร้อมเปิดฉากทำสงครามกับสหรัฐแม้จะตอบโต้ด้วยการยิงขีปนาวุธถล่มฐานทัพสหรัฐและพันธมิตรในแบกแดด

ท่ามกลางกระแสหวาดกลัวของนักลงทุนทั่วโลกว่าสถานการณ์ตึงเครียดในตะวันออกกลางที่มีชนวนเหตุจากการที่สหรัฐสังหารนายพลกาเซ็ม โซไลมานี และกองทัพอิหร่านล้างแค้นด้วยการยิงขีปนาวุธ 16 ลูกถล่มฐานทัพสหรัฐและพันธมิตรในอิรักจะทำให้บานปลายกลายเป็นสงครามโลกครั้งที่ 3

แต่ในมุมมองของนักวิชาการและเจ้าหน้าที่รัฐบาลทั้งในฝั่งสหรัฐและฝั่งอิหร่าน ต่างเห็นว่าโอกาสที่ทั้ง 2 ฝ่ายจะเปิดฉากทำสงครามกันมีน้อยมาก โดยระบุถึงปัจจัย 6 ด้านคือ 1.เศรษฐกิจที่ถดถอยของอิหร่าน 2.รายได้จากการค้าน้ำมันหดหายไปมาก 3.ปริมาณการค้าที่หดตัวลงเพราะมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจของสหรัฐ 4.ต้นทุนการใช้ชีวิตของชาวอิหร่านที่สูงขึ้น 5.อัตราว่างงานในประเทศที่พุ่งไม่หยุด และ 6.ปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดที่รัฐบาลเตหะรานยังแก้ไม่ตก

157861626768

1.เศรษฐกิจถดถอย

ผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิศาสตร์การเมืองหลายคนมีความเห็นตรงกันว่า อิหร่านไม่อยู่ในฐานะที่จะทำสงครามได้ในขณะนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนแอของประเทศซึ่งเป็นผลพวงจากมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจที่สหรัฐและประเทศตะวันตกที่เป็นพันธมิตรกับสหรัฐประกาศใช้กับอิหร่าน

นอกจากนี้ กิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศที่ลดลงและกฏระเบียบที่เข้มงวดมากขึ้นในการขายน้ำมันในตลาดโลก เป็นสาเหตุสำคัญทำให้รัฐบาลเตหะรานขาดแคลนรายได้ที่เคยทำได้เป็นกอบเป็นกำมาตั้งแต่ปี 2555 แม้อิหร่านจะได้รับการผ่อนคลายมาตรการคว่ำบาตรบางด้านหลังเห็นพ้องกับ 6 ประเทศมหาอำนาจเมื่อปี 2558 ที่จะระงับโครงการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ แต่ในสมัยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กลับนำมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจมาใช้กับอิหร่านในปี 2561 ส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศนี้เข้าสู่ภาวะถดถอย

2.รายได้จากน้ำมันหดหาย

ธนาคารโลก คาดการณ์ว่าอิหร่าน เป็นแหล่งน้ำมันดิบใหญ่สุดอันดับ4ของโลก รายได้หลักของรัฐบาลและฟันเฟืองที่ช่วยให้เศรษฐกิจอิหร่านเติบโตได้ดีคือการขายน้ำมันดิบแต่กฏระเบียบที่เข้มงวดมากขึ้นในการขายน้ำมันของอิหร่านจากมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐ ทำให้รายได้ในส่วนนี้ลดลงอย่างฮวบฮาบ และนี่คือเหตุผลที่บรรดาหน่วยงานระดับโลก รวมทั้ง กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) คาดการณ์ว่า การผลิตและการส่งออกน้ำมันดิบของอิหร่านจะลดลง

157861628226

3.ปริมาณการค้ากับทั่วโลกวูบ

กฏระเบียบที่เข้มงวดขึ้นไม่ได้มีแค่อุตสาหกรรมน้ำมันเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมถึงอุตสาหกรรมธนาคาร เหมืองแร่ และอุตสาหกรรมเดินเรือ ซึ่งล้วนทำให้ปริมาณการค้าโดยรวมของประเทศที่มีกับประเทศต่างๆทั่วโลกปรับตัวลดลง โดยไอเอ็มเอฟ คาดการณ์ว่าการส่งออกของอิหร่านอาจจะร่วงลงและอยู่ต่ำกว่าการยอดเข้าของอิหร่านในปี 2562 และ2563

ในรายงานประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจที่เผยแพร่ปลายปีที่แล้ว ตัวเลขประมาณการณ์ของไอเอ็มเอฟไม่ต่างจากที่เวิลด์แบงค์คาดการณ์คือมองว่าเศรษฐกิจของอิหร่านในช่วงสิ้นปีงบประมาณ 2562/2563 จะหดตัวเหลือระดับราวๆ 90%ของขนาดเศรษกิจเมื่อช่วง 2 ปีก่อนหน้านี้

อิหร่าน ผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ ได้มีโอกาสเห็นรายได้จากน้ำมันเพิ่มขึ้น หลังบรรลุข้อตกลงนิวเคลียร์ปี 2558 กับ 6 ชาติมหาอำนาจโลก ด้วยการยอมระงับโครงการนิวเคลียร์แลกกับการยุติมาตรการคว่ำบาตรที่กำหนดเล่นงานเตหะราน 3 ปีก่อนหน้านั้น แต่หลังจากประธานาธิบดีทรัมป์ ถอนอเมริกาออกจากข้อตกลงดังกล่าวในปี 2561 สหรัฐก็กลับมาคว่ำบาตรอิหร่านรอบใหม่และถือเป็นครั้งหนักหน่วงที่สุดเท่าที่เคยมีมา โดยเล็งเป้าหมายเล่นงานเกือบทุกภาคส่วนของเศรษฐกิจอิหร่าน

ก่อนหน้านี้ ไอเอ็มเอฟคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจของอิหร่านจะหดตัวประมาณ 6% ซึ่งอิหร่าน ก็มีชะตากรรมเช่นเดียวกับเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่อื่นๆ ที่ยังคงประสบความทุกข์ยากทางเศรษฐกิจมหภาครุนแรงมาก ขณะที่การอ่อนค่าของสกุลเงินริอัลอิหร่านหลังถูกสหรัฐรื้อฟื้นมาตรการคว่ำบาตร จนทำให้เกิดความปั่นป่วนแก่การค้าระหว่างประเทศของอิหร่านและกระตุ้นเงินเฟ้อรายปีให้สูงขึ้น ซึ่งไอเอ็มเอฟคาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อของอิหร่านน่าจะเพิ่มขึ้นแตะระดับ 35.7%

4.ต้นทุนการใช้ชีวิตสูงขึ้น

นอกจากนี้ การคว่ำบาตรของสหรัฐ ยังทำให้อิหร่านขาดแคลนหมึก และราคากระดาษที่นำเข้ามาเพิ่มขึ้น 3 เท่า นับตั้งแต่สหรัฐถอนตัวจากข้อตกลงนิวเคลียร์ ส่งผลกระทบต่อหนังสือพิมพ์และสำนักพิมพ์ต่าง ๆ หนังสือพิมพ์ที่อยู่มานานมี

จำนวนหน้าลดลงมาก ด้วยการควบคุมที่เข้มข้นด้านเสรีภาพสื่อในอิหร่าน ผู้สื่อข่าวและเจ้าของสำนักพิมพ์หลายคนบอกว่าสถานการณ์เช่นนี้ทำให้เป็นเรื่องยากยิ่งขึ้นที่จะตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล

157861629490

ส่วนราคาเนื้อสัตว์ โดยเฉพาะเนื้อแดง 1 กิโลกรัม กลายเป็นสินค้าหรูหราเกินเอื้อมในอิหร่าน ก่อนการคว่ำบาตรรอบใหม่ ราคาเนื้อแดงอยู่ที่ 10 ดอลลาร์ต่อกิโลกรัมแต่ปัจจุบันราคาพุ่งไปกว่า 2 เท่าตัว นอกจากนี้ การคว่ำบาตรยังทำให้อิหร่านนำเข้าอาหารได้ลำบากขึ้น ประชาชนจำนวนมากจำต้องลดการบริโภคเนื้อสัตว์ลง ร้านอาหารเกือบ 1 ใน 4 ในกรุงเตหะราน ต้องปิดตัวลง ต้องนำระบบจัดสรรปันส่วนกลับมาใช้อีกครั้ง นับตั้งแต่สงครามอิหร่าน-อิรัก ในช่วงทศวรรษ 1980

ขณะที่ชาวอิหร่านที่ใช้สมาร์ทโฟนในการจองแท็กซี่และบริการส่งอาหาร แต่มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจของสหรัฐและชาติตะวันตกบางประเทศทำให้บริษัทเทคโนโลยีต่างชาติหลายราย เช่น อูเบอร์ ไม่ดำเนินธุรกิจในอิหร่าน ผู้พัฒนาแอพพลิเคชันในอิหร่าน จึงต้องสร้างแอพฯ ของตัวเองขึ้นมา อย่างกรณี สแนป แต่คนใช้ไอโฟนก็ไม่สามารถดาวน์โหลดได้จากแอพสโตร์ เนื่องจากไม่รองรับแอพฯ ที่สร้างขึ้นในประเทศที่ถูกห้ามทำการค้าขาย

5.อัตราว่างงานพุ่ง

การขาดโอกาสด้านการจ้างงานอาจจะทำให้ปัญหาความยากจนในอิหร่านเลวร้ายลงมากกว่านี้ ล่าสุด ธนาคารโลก ระบุว่า คนยากจนในอิหร่านที่วัดจากกำลังซื้อของประชากรซึ่งมีรายได้ต่ำมากวันละ 5.50 ดอลลาร์ มีจำนวนเพิ่มขึ้นจาก 8.1% ในปี 2556 เป็น 11.6% ในปี 2559

6.ขาดดุลงบประมาณเรื้อรัง

รัฐบาลอิหร่านมีข้อจำกัดทางการเงินจึงไม่สามารถออกมาตรการใดๆเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศพลอยลดลงอย่างมากไปด้วย บวกกับมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจที่ทำให้รายได้จากการขายน้ำมันหดหาย ยิ่งเป็นการซ้ำเติมประเทศนี้มากขึ้น

ข้อจำกัดทางการเงินดังที่กล่าวมาประกอบกับเศรษฐกิจในประเทศอยู่ในภาวะถดถอยจึงทำให้อิหร่านไม่มีเงินทุนมากพอที่จะทำสงครามกับสหรัฐ แม้บรรดาผู้เชี่ยวชาญบางคนจะมีความเห็นว่า รัฐบาลเตหะรานอาจจะใช้กองกำลังทหารตัวแทนที่กระจายอยู่ทั่วภูมิภาคตะวันออกกลางต่อกรกับสหรัฐ เพราะกองกำลังทหารตัวแทนเหล่านี้กระจายตามจุดต่างๆไล่ตั้งแต่ซีเรีย เยเมนและอัฟกานิสถาน