‘สรรพากร’หมุนภาษี2.8แสนล้าน เพิ่มสภาพคล่อง'ประคอง'เศรษฐกิจ
หนึ่งในมาตรการทางการคลังที่เข้าไปช่วยดูแลผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่(โควิด-19) คือ มาตรการทางด้านภาษี
วัตถุประสงค์หลัก เพื่อให้ประชาชนและผู้ประกอบการ “เหลือเงินในกระเป๋า” ไว้จับจ่ายใช้สอย และช่วยหมุนเวียนเศรษฐกิจได้อีกทางหนึ่ง
อธิบดีกรมสรรพากร เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ระบุว่า มาตรการกรมสรรพากรชุดที่ 1 และ ชุดที่2 ในการดูแลผู้ที่ถูกกระทบจากโควิด-19 เพื่อช่วยลดภาระให้กลุ่มคนดังกล่าวมีสภาพคล่องมากขึ้น ประเมินคร่าวๆ ทั้งสองชุดที่ออกไป จะช่วยให้ประชาชนและผู้ประกอบการมีสภาพคล่องในกระเป๋าไม่ต่ำกว่า 2.87 แสนล้านบาท เม็ดเงินนี้ จะเข้าไปหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ทั้งนี้ มาตรการที่ช่วยให้มีเงินเหลือในกระเป๋าผู้ประกอบการมากที่สุด คือ มาตรการยืดระยะเวลาการยื่นแบบชำระภาษีเงินได้นิติบุคคล2 รอบ คือ รอบรายได้ปีที่แล้วให้ยืดไปสิ้นเดือนส.ค. และรอบรายได้ครึ่งปีนี้ยืดไปถึงสิ้นเดือนก.ย.นี้ จะช่วยให้ผู้ประกอบการนิติบุคคลมีสภาพคล่องถึง 1.5 แสนล้านบาท
อีกมาตรการที่จะช่วยผู้ประกอบการและประชาชนทั่วไปได้เป็นอย่างมาก คือ มาตรการลดวงเงินหักภาษี ณ ที่จ่ายจาก 3% เหลือ 1.5% จากเม.ย.-ก.ย.นี้ และ จากก.ย.- ธ.ค.หักในอัตรา 2% จะช่วยให้มีสภาพคล่องราว 8.6 หมื่นล้านบาท โดยเริ่มต้นในวันที่ 1 เม.ย.นี้
สำหรับผู้ประกอบการที่ใช้ซอฟท์โลนจากสถาบันการเงิน สามารถนำดอกเบี้ยจ่ายมาหักลดหย่อนภาษีได้สูงถึง 1.5 เท่า ส่วนรายที่ไม่เลิกจ้างแรงงาน สามารถนำรายจ่ายมาหักลดหย่อนได้ถึง 3 เท่า กรณีนี้ยังไม่สามารถประเมินตัวเลขได้ เพราะยังไม่รู้ว่าจะมีผู้ประกอบการรายใดคงสภาพการจ้างงานบ้าง แต่เท่าที่ประเมินขณะนี้หลายธุรกิจเริ่มปิดตัวลง เช่น ธุรกิจโรงแรม เป็นต้น
สำหรับผู้มีเงินได้บุคคลธรรมดานั้น จะได้รับการยืดระยะเวลาการชำระภาษีเงินได้ ซึ่งมาตรการชุดที่ 1 ได้ยืดจากสิ้นมี.ค.นี้ เป็นสิ้นมิ.ย.นี้ ส่วนมาตรการชุดที่ 2 ได้ยืดออกไปเพราะสถานการณ์โควิด-19ยืดเยื่อ โดยจะยืดไปถึงสิ้นส.ค.นี้ มาตรการนี้ จะช่วยให้ผู้มีรายได้บุคคลธรรมดามีเงินเหลือในกระเป๋าช่วงเวลาดังกล่าวราว 2.1 หมื่นล้านบาท
ขณะเดียวกัน สำหรับบุคคลธรรมดาในรายที่คาดจะได้รับคืนภาษี ทางกรมฯมีนโยบายให้มีการเร่งคืนภาษีให้เร็วขึ้น หรือ ภายใน 3 วันเมื่อหลักฐานครบ ทั้งนี้ ที่ผ่านมา กรมฯได้คืนภาษีไปแล้วกว่า 2.5 หมื่นล้านบาท หรือ 87% ของยอดที่ขอคืนภาษีกว่า 3 หมื่นล้านบาท
อีกมาตรการที่ช่วยลูกหนี้และเจ้าหนี้ในการปรับโครงสร้างหนี้ โดยในส่วนลูกหนี้นั้น ภาระหนี้ที่ได้รับการลดหนี้ จะไม่ถูกนำมาคำนวณเป็นรายได้เพื่อเสียภาษี ส่วนเจ้าหนี้นั้น หนี้สูญที่ปรับให้แก่ลูกหนี้สามารถนำมาเป็นรายจ่ายภาษีได้ทันที ขณะเดียวกัน การตีราคาทรัพย์เพื่อจำหน่ายเราจะยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีธุรกิจเฉพาะให้ ทุกแนวทางดังกล่าวกรมฯจะสูญเสียรายได้หรือทำให้ประชาชนและผู้ประกอบมีเงินเหลือในกระเป๋าราว 2.4 พันล้านบาท
“มาตรการนี้ จะช่วยทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้เลย กรณีลูกหนี้นั้น เมื่อได้รับลดหนี้แล้ว ตามปกติหนี้ที่ได้ลดมา เราจะให้เขานำมาคำนวณเป็นรายได้เพื่อเสียภาษี แต่เราจะยกเว้นให้เลย กรณีเจ้าหนี้นั้น เราจะช่วยเรื่องรายจ่ายให้ โดยกรณีตัดหนี้สูญให้ลูกหนี้ เขาจะต้องรอคำสั่งศาลตัดสินก่อนที่จะนำรายจ่ายดังกล่าวไปเป็นรายจ่ายภาษีได้ กรณีนี้ เราให้นำมาเป็นรายจ่ายได้โดยไม่ต้องรอคำสั่งศาล ทั้งนี้ จะช่วยกระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ได้เร็วขึ้น”
นอกจากนี้ ยังมีมาตรการเพิ่มวงเงินลดหย่อนภาษีสำหรับการทำเบี้ยประกันภัยสุขภาพจาก 1.5 หมื่นบาท เป็น 2.5 หมื่นบาทมาตรการนี้เราจะให้ตลอดไปเลย ไม่ใช่เฉพาะปีนี้ คาดสูญเสียรายได้ 2.5 พันล้านบาท สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ที่ได้รับค่าเสี่ยงภัยจะได้รับยกเว้นภาษีด้วย