สำรวจโลกวัน ‘Earthday’ เมื่อคุณภาพอากาศดีขึ้นในยุค ‘โควิด-19’
เนื่องในวัน "Earth Day" 22 เมษายน ชวนคนรักธรรมชาติมาดูอีกแง่มุมของวิกฤติ "โควิด-19" ที่มีความสัมพันธ์กับระดับ "คุณภาพอากาศ" นักสิ่งแวดล้อมต่างประเทศหลายคนพูดไปในทิศทางเดียวกันว่าโรคระบาดครั้งนี้มีผลทำให้อากาศสะอาดขึ้น
ไม่น่าเชื่อว่าวิกฤติ “Covid-19” ที่สร้างผลกระทบมากมายให้มวลมนุษยชาติทั้งในด้านสุขภาพ วิถีชีวิต สังคม และเศรษฐกิจ ดูเหมือนว่าทุกอย่างทุกหยุดชะงักไปในทันใด แต่การที่มนุษย์หยุดกิจกรรมทุกอย่างนี่แหละ ทำให้ "คุณภาพอากาศ" ของหลายประเทศดีขึ้นมาอย่างเห็นได้ชัดและวัดค่าได้จริง ว่าแต่.. ปัจจัยอะไรบ้างที่ส่งผลให้มลพิษทางอากาศลดลง และทำไมถึงเป็นอย่างนั้น?
เรื่องมันเริ่มมาจากในช่วงที่สถานการณ์ “โควิด-19” ส่อเค้าบานปลาย เกิดการระบาดใหญ่ในวงกว้าง (Pandemic) ไปในหลายประเทศทั่วโลก รัฐบาลเกือบทุกประเทศเร่งออกมาตรการควบคุมและป้องกันการระบาดเพื่อไม่ให้ลุกลามไปกว่านี้ ไม่ว่าจะเป็นการสั่งล็อคดาวน์ประเทศ, ล็อคดาวน์เมืองศูนย์กลางการระบาด, การประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน, การประกาศเคอร์ฟิว ฯลฯ มีเป้าหมายหลักคือทำให้ประชาชนอยู่นิ่งกับที่ให้ได้มากที่สุด
ส่งผลให้ผู้คนต้องงดเดินทางสาธารณะ, งดกิจกรรมทางสังคมต่างๆ ทั้งคอนเสิร์ต อีเวนท์ งานแสดงสินค้า, ปิดโรงงานอุตสาหกรรม, ปิดสถานบันเทิง, หยุดการก่อสร้างขนาดใหญ่, ปิดร้านอาหาร, ปิดตลาดนัด, ปิดสวนสาธารณะ ฯลฯ ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้เองที่เป็นต้นทางของการก่อมลพิษในอากาศ เมื่อเราหยุดก่อมลพิษ สภาพอากาศและสิ่งแวดล้อมก็สะอาดขึ้นมากกว่าในช่วงที่ไม่มี "โควิด-19" ระบาดซะอีก
เนื่องในวันคุ้มครองโลกหรือ "Earth Day" 22 เมษายน จะชวนมาดูสิว่ามีประเทศไหนบ้างที่มีคุณภาพอากาศที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในช่วงการระบาดของโควิด-19 “กรุงเทพธุรกิจออนไลน์” รวบรวมมาให้ได้รู้กันดังนี้
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:
'วันคุ้มครองโลก' 22 เมษายน วันที่เราได้ส่งเสียงเพื่อ 'ธรรมชาติ'
รู้จัก ‘เกย์ลอร์ด เนลสัน’ ผู้จุดประเด็น ‘วันคุ้มครองโลก’ 22 เมษายน
1. ศรีลังกา : คุณภาพอากาศดีขึ้นหลังประกาศเคอร์ฟิว
มีรายงานข่าวจากเว็บไซต์ News1st ระบุว่า ระดับคุณภาพอากาศและน้ำของเมืองโคลอมโบ ประเทศศรีลังกาดีขึ้น จากเดิมที่ศรีลังกาตรวจพบฝุ่นพิษ PM2.5 สูงมากติดอันดับ Top5 ของโลก แต่ต่อมากลับพบว่าค่าฝุ่นพิษ PM2.5 ลดลงเรื่อยๆ ซึ่งเป็นผลมาจากการประกาศเคอร์ฟิวของรัฐบาลเพื่อควบคุมการระบาดของ COVID-19
โดยแหล่งข่าวที่ชื่อว่า HDS Premasiri นักวิทยาศาสตร์อาวุโสจากองค์การวิจัยอาคารแห่งชาติ บอกว่า คุณภาพอากาศของโคลอมโบดีขึ้นกว่าเดิม เนื่องจากการยานพาหนะบนท้องถนนลดน้อยลงเนื่องจากเคอร์ฟิว เขาจำได้ว่าระดับมลพิษทางอากาศสูงขึ้นมากก่อนที่จะประกาศเคอร์ฟิว โดยในเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้วพบว่าคุณภาพอากาศของโคลอมโบแย่ลงมากจนอยู่ในระดับเสี่ยงต่อกลุ่มเด็ก ผู้สูงอายุ และผู้ป่วย โดยฝุ่นพิษ PM2.5 ส่วนใหญ่มากจากท้องถนนและปัญหาหมอกควันจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างอินเดีย
แต่พอหลังจากเกิดวิกฤติ COVID-19 และมีการประกาศเคอร์ฟิว ระงับการเดินทางข้ามเขตทั้งหมด ตรงนี้เองที่ส่วงผลให้สภาพอากาศดีขึ้น โดยหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมกลางของศรีลังกา (CEA) ระบุว่า แม่น้ำ Kelani ที่ยาวถึง 145 กิโลเมตร และเป็นแม่น้ำสายหลักที่ตัดข้าม 5 เขตเมืองในศรีลังกา พบว่ามีคุณภาพดีขึ้น (จากเดิมที่ขุ่นและปนเปื้อนแต่หลังเคอร์ฟิวพบว่าแม่น้ำใสสะอาดขึ้น) เนื่องจากโรงงานอุตสาหกรรมถูกสั่งปิด จึงทำให้โรงงานหยุดปล่อยน้ำทิ้งทางอุตสาหกรรมลงสู่แม่น้ำ
2. ประเทศจีน : มลพิษทางอากาศลดลงอย่างมาก
ในช่วงที่มีการระบาดรุนแรงของโควิด-19 ของประเทศจีน (เดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา) รัฐบาลจีนได้ประกาศคำสั่งให้ปิดโรงงานหลายแห่ง ส่งผลต่อการหยุดปล่อยมลพิษสู่สิ่งแวดล้อมตามไปด้วย
มีรายงานจาก Earthobservatory.nasa.gov ระบุว่า ดาวเทียมตรวจสอบมลภาวะขององค์การนาซ่าและองค์การอวกาศยุโรป (ESA) ได้ตรวจพบการลดลงของไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) ทั่วประเทศจีน มีหลักฐานว่าการเปลี่ยนแปลงอย่างน้อยส่วนหนึ่งมีความเกี่ยวข้องกับการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ หลังจากการระบาดของ COVID-19
แผนที่ดาวเทียมดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความเข้มข้นของไนโตรเจนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นก๊าซพิษที่ปล่อยออกมาจากโรงงานยานยนต์ไฟฟ้าและโรงงานอุตสาหกรรม มีระดับลดลง โดยแผนที่นี้แสดงค่า NO2 ทั่วประเทศจีนตั้งแต่วันที่ 1-20 มกราคม 2020 (ก่อนการกักกัน) และ 10-25 กุมภาพันธ์ (ระหว่างการกักกัน) ข้อมูลถูกรวบรวมโดยเครื่องมือตรวจสอบ Tropospheric (TROPOMI) บนดาวเทียม Sentinel-5 ของ ESA
“นี่เป็นครั้งแรกที่ฉันได้เห็นเหตุการณ์การลดลงของไนโตรเจนไดออกไซด์เกิดขึ้นในพื้นที่กว้างเช่นนี้” ดร.เฟยหลิว นักวิจัยด้านคุณภาพอากาศจากศูนย์การบินอวกาศก็อดดาร์ดของนาซ่ากล่าว
3. อ่าวซานฟรานซิสโก สหรัฐฯ : ระดับมลพิษในอากาศลดลง
มีรายงานข่าวจากเว็บไซต์ Greenbiz.com ระบุว่า การระบาดใหญ่ของ COVID-19 ทำให้เกิดการหยุดชะงักของกิจกรรมทางอุตสาหกรรมและกิจกรรมเชิงพาณิชย์ทั่วโลก (ปิดโรงงาน) ทำให้การปลดปล่อยมลพิษสู่อากาศและสิ่งแวดล้อมลดลงอย่างมาก
อีกหนึ่งเมืองใหญ่ที่เห็นได้ชัดในกรณีนี้คือ อ่าวซานฟรานซิสโก ประเทศสหรัฐอเมริกา (San Francisco Bay Area) เมื่อตรวจสอบจากดาวเทียมพบว่า ในช่วงโควิด-19 ระบาดนั้น อ่าวซานฟรานซิสโก มีคุณภาพอากาศที่ดีขึ้น โดยจะเห็นว่ามลพิษต่างๆ ในอากาศลดลงอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งส่วนใหญ่มลพิษเหล่านั้นมาจากโรงงานอุตสาหกรรมและจากรถยนต์ ได้แก่
- โอโซน (O3) เพิ่มขึ้น 11%
- ไนโตรเจนไดนอกไซด์ (NO2) ลดลง 16%
- ฝุ่นละเอียด PM2.5 ลดลง 16%
- คาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) ลดลง 20%
- คาร์บอนดำ ลดลง 29%
อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อมหลายคนก็บอกว่าปรากฏการณ์นี้อาจเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นชั่วคราวเท่านั้น ยังไม่สามารถทำให้คุณภาพอากาศดีขึ้นได้ในระยะยาว เพราะหลังจากโรคระบาดสงบลง แน่นอนว่าภาคอุตสาหกรรมการผลิตต่างๆ การคมนาคมขนส่งก็จะต้องเร่งดำเนินการเพื่อกู้เศรษฐกิจให้กลับมาดีขึ้น หลังจากหยุดชะงักไปนาน และตอนนั้นเองที่คุณภาพอากาศอาจตกลับมาแย่ลงอีกครั้ง
แต่อย่างน้อยๆ จากสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ในครั้งนี้ น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีให้หลายๆ ประเทศได้หันมาให้ความสำคัญกับการดูแลคุณภาพอากาศให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น การใช้พลังงานสะอาดในโรงงาน, การ work From Home เพื่อลดการใช้เชื้อเพลิงในพาหนะเดินทาง, การสนับสนุนกิจกรรม Low Carbon ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ยังคงต้องทำต่อไป ไม่ใช่หยุดไว้แค่ช่วงเกิดโรคระบาดเท่านั้น
------------------------
อ้างอิง: