สหรัฐคาดมีวัคซีนต้านโควิด พร้อมทดลองในมนุษย์ปลายปีนี้
นายแพทย์สก็อตต์ ก็อตต์ลิเอ็บ อดีตประธานคณะกรรมการอาหารและยาสหรัฐ (เอฟดีเอ) กล่าวว่า ในช่วงฤดูใบไม้ร่วงนี้ (ก.ย.-ธ.ค.) จะมีวัคซีนต้านเชื้อโควิด-19 จำนวนหลายล้านโดสที่พร้อมสำหรับการทดลองในมนุษย์
นายแพทย์ก็อตต์ลิเอ็บ กล่าวว่า “วัคซีนดังกล่าวจะเพียงพอสำหรับการศึกษาในวงกว้าง หากเกิดการแพร่ระบาดในเมืองของสหรัฐซึ่งทำให้เรามีความจำเป็นที่จะต้องทำการทดสอบด้วยการใช้วัคซีนดังกล่าว โดยหวังว่าจะสามารถสกัดการแพร่ระบาด และพิสูจน์ว่าวัคซีนดังกล่าวมีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพหรือไม่”
นายแพทย์ก็อตต์ลิเอ็บ ย้ำว่า การที่จะนำวัคซีนดังกล่าวมาใช้ จำเป็นที่จะต้องผ่านการทดลองทางคลินิก เพื่อให้มั่นใจว่ามีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ ซึ่งคาดว่า อาจจะต้องรอไปจนถึงปีหน้ากว่าที่จะมีการผลิตวัคซีนในจำนวนที่เพียงพอสำหรับการใช้ทั่วประเทศสหรัฐ หรือทวีปยุโรป หรือในประเทศอื่นๆ
คำกล่าวของนายแพทย์ก็อตต์ลิเอ็บ มีขึ้นหลังจากนายแพทย์แอนโทนี ฟอซี ที่ปรึกษาฝ่ายสาธารณสุขประจำทำเนียบขาว กล่าวว่า ข้อมูลการใช้ยา remdesivir ซึ่งเป็นยาแอนตี้ไวรัสของบริษัท กิเลียด ไซอึนส์ (Gilead Sciences )ในการรักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 ถือเป็นข่าวดี
นายแพทย์ฟอซี กล่าวว่า เขาได้รับแจ้งว่าการทดลองดังกล่าวแสดงผลตอบรับที่เป็นบวกในการลดเวลาการฟื้นตัวของผู้ป่วยโรคโควิด-19
บริษัทกิเลียด ไซอึนส์ แถลงว่า ทางบริษัทได้รับข้อมูลที่น่าพึงพอใจในการใช้ยา remdesivir ในการรักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 ผลการศึกษาการใช้ยา remdesivir ซึ่งทางบริษัทดำเนินการร่วมกับสถาบันภูมิแพ้และโรคติดต่อแห่งชาติ มีผลการรักษาเป็นไปตามเป้าหมายในเบื้องต้น
กิเลียด ยังเปิดเผยว่า ผู้ป่วยโรคโควิด-19 จำนวนอย่างน้อย 50% ที่ได้รับยา remdesivir เป็นเวลา 5 วัน มีอาการดีขึ้น และผู้ป่วยจำนวนมากกว่า 50% ที่ได้รับยา remdesivir สามารถออกจากโรงพยาบาลภายในเวลา 2 สัปดาห์
อย่างไรก็ดี แลนเซ็ต ซึ่งเป็นวารสารทางการแพทย์ รายงานว่า ผลการใช้ยา remdesivir ของบริษัทกิเลียด ไซอึนส์ ในการทดสอบทางคลินิกที่จีน พบว่า ยาดังกล่าวไม่สามารถเร่งอัตราการฟื้นตัวของผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่มีอาการหนัก เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยการให้ยาหลอก (placebo)
ผู้เขียนบทความดังกล่าว ระบุว่า การแปลผลการทดลองดังกล่าวอาจถูกจำกัดจากการที่โครงการทดสอบการใช้ยา remdesivir ในจีนได้ถูกยกเลิกไม่นานหลังมีการเปิดตัว เนื่องจากผู้ป่วยที่เข้าร่วมโครงการดังกล่าวมีจำนวนน้อยเกินไป จากการที่ผู้ป่วยโรคโควิด-19 ในจีนลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ไม่สามารถได้ข้อสรุปทางสถิติอย่างมีนัยสำคัญ