อุตสาหกรรม 'หุ่นยนต์' บูมหลังโควิด ชงหนุนเงินเอสเอ็มอีลงทุน
อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ที่เป็น 1 ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มากขึ้นหลังวิกฤติโควิด-19 เพราะอุตสาหกรรมอาหารและอุตสาหกรรมยา จะหันมาใช้หุ่นยนต์มากขึ้น เพื่อยกระดับความปลอดภัยในสายการผลิต
นายกัมปนาท ตันพิทักษ์สิทธิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โรบอท ซิสเต็ม จำกัด เปิดเผยว่า วิกฤติโควิด-19 ส่งผลให้อุตสาหกรรมการติดตั้งหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติได้รับผลกระทบสมควร คาดว่าจะทำให้ยอดขายลดลง 30–40% เนื่องจากโรงงานลดกำลังการผลิต โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ ทำให้ในช่วงนี้ยังไม่จำเป็นต้องลงทุนปรับเปลี่ยนมาใช้หุ่นยนต์
หลังวิกฤติโควิด-19 ผ่านไป ความต้องการใช้หุ่นยนต์ในโรงงานเพิ่มขึ้นมาก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารและยารักษาโรค เพราะเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานมาก ประกอบกับหลังการระบาดของโควิด-19 ทำให้ผู้บริโภคหันมาให้ความสำคัญในเรื่องสุขอนามัยมากขึ้น ทำให้การนำหุ่นยนต์มาใช้ในโรงงานจะปลอดภัยจากการปนเปื้อนไวรัสและเชื้อโรคได้
รวมทั้งหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติก็มีราคาลดลงทุกปี ทำให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีหันมาใช้หุ่นยนต์มากขึ้น โดยเฉพาะการนำมาทดแทนแรงงานในจุดที่เสี่ยงภัย มีความร้อนสูงหรือเสี่ยงต่อการบาดเจ็บ และงานที่เหนื่อยใช้แรงมาก เช่น การยกของหนัก เป็นต้น
“จากปัญหาโควิด-19 ทำให้ผู้ประกอบการหันมาใช้หุ่นยนต์เร็วขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอี ซึ่งหุ่นยนต์รุ่นใหม่ๆที่เข้ามามีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นขณะที่ราคาเท่าเดิม ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ราคาลดลง 50-60% ทำให้เป็นสิ่งจูงใจให้เอสเอ็มอีลงทุนใช้หุ่นยนต์แทนแรงงานคนมากขึ้น”
จากการที่ตลาดหุ่นยนต์ในไทยขยายตัวอย่างรวดเร็ว ประกอบกับเศรษฐกิจในจีนถดถอย ทำให้ผู้ประกอบการจากจีนเข้ามาตั้งบริษัทขายและติดตั้งระบบหุ่นยนต์แข่งกับผู้ประกอบการไทยเป็นจำนวนมาก ซึ่งมีต้นทุนราคาต่ำกว่าผู้ประกอบการไทย เนื่องจากต้นทุนการผลิตในจีนมีราคาถูกละส่งเข้ามาขายในไทยในอัตราภาษีที่ต่ำ ในขณะที่ผู้ประกอบการธุรกิจ System Integrator (SI) ของไทย จะนำชิ้นส่วนเข้ามาประกอบเป็นหุ่นยนต์จะต้องเสียภาษีนำเข้าสูง
นอกจากนี้ แม้ว่ารัฐบาลจะสนับสนุนโดยยกเว้นนำเข้าชิ้นส่วนเพื่อผลิตหุ่นยนต์ แต่ในทางปฏิบัติทำได้ยาก เช่น หากนำเข้ามอเตอร์เพื่อประกอบหุ่นยนต์ ไปสั่งซื้อที่จีนก็ไม่ยอมขายให้ เพราะบริษัทเหล่านี้ได้เข้ามาตั้งตัวแทนขายในไทยหมดแล้ว จึงให้กลับไปซื้อจากบริษัทตัวแทนในไทย
ซึ่งบริษัทที่นำเข้าเหล่านี้สั่งซื้อเข้ามาทีล็อตใหญ่จึงไม่สามารถแยกระบุว่ามีมอเตอร์กี่ตัวที่จะขายให้ผู้ผลิตหุ่นยนต์ในไทย ทำให้ต้องเสียภาษีทั้งหมด ดังนั้นในทางปฏิบัติผู้ประกอบการไทยแทบไม่ได้รับประโยชน์จากนโยบายนี้เลย
สำหรับแนวทางการส่งเสริมให้เกิดอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ที่ผลิตภายในประเทศไทย ควรจะใช้แนวทางของจีน หรือสิงคโปร์ ซึ่งประเทศจีนใช้แนวทางการสร้างความต้องการใช้หุ่นยนต์ภายในประเทศ
โดยการเข้าไปสนับสนุนด้านการเงินกับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีโดยตรง เพื่อให้มีเงินไปซื้อหุ่นยนต์ ซึ่งเมื่อมีความต้องการใช้หุ่นยนต์เพิ่มขึ้น ตลาดก็มีขนาดใหญ่ขึ้น ราคาก็ลดลง และผู้ผลิตหุ่นยนต์ก็ขายได้มากขึ้น และรัฐบาลจีนไม่ต้องเอาเงินไปอุดหนุนโรงงานผลิตหุ่นยนต์เลย
ดังนั้นรัฐบาลควรจะเข้ามาอุดหนุนโดยการนำเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ และผ่อนได้ระยะยาวมาให้กับเอสเอ็มอีโดยตรง เพื่อนำเงินไปซื้อหุ่นยนต์โดยตรงจะได้ประโยชน์สูงสุด ทำให้ตลาดหุ่นยนต์ในไทยเติบโต และผู้ผลิตสามารถอยู่รอดได้ตามกลไกตลาด
“ที่ผ่านมารัฐบาลให้เอสเอ็มอีนำค่าใช้จ่ายซื้อหุ่นยนต์ไปหักลดหย่อนภาษีได้ 100% แต่ในขณะนี้เอสเอ็มอีจำนวนมากแทบจะไม่มีกำไรอยู่แล้วจึงไม่มีภาษีให้หัก ทำให้ไม่สนใจลงทุนใช้หุ่นยนต์มากเท่าที่ควร แต่หากรัฐบาลให้เป็นตัวเงินอุดหนุนเพื่อซื้อหุ่นยนต์กับเอสเอ็มอีเลยจะเห็นผลมากกว่า ซึ่งมาตรการหักลดหย่อนภาษีนี้จะได้ประโยชน์กับผู้ประกอบการายใหญ่มากกว่า เพราะมีความแข็งแรงจ่ายภาษีทุกปีจึงได้ประโยชน์จากการหักภาษี”
นายชิต เหล่าวัฒนา ที่ปรึกษาเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) กล่าวว่า หลังโควิด-19 แนวโน้มการผลิตของไทยจะไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 เร็วขึ้น จากเดิมที่คาดว่าในอีก 4-5 ปี อุตสาหกรรม 4.0 จึงจะเข้ามาเต็มที่ แต่จากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ตั้งปรับตัวตั้งแต่ขณะนี้ โดยอัตราการเติบโตของการใช้หุ่นยนต์ของประเทศที่พัฒนาแล้วจะเติบโตประมาณ 30% แต่ไทยอยู่ในช่วงเริ่มต้นดังนั้นตลาดยังเปิดกว้างอีกมาก จึงคาดว่าหลังโควิด-19 ตลาดหุ่นยนต์ในไทยน่าจะเติบโตไม่ต่ำกว่า 30%
นอกจากนี้ ในช่วงโควิด-19 โรงงานมีคำสั่งซื้อลดลงมาก แต่ความต้องการของตลาดไม่ได้หายไป แต่จะกลับมาเพิ่มขึ้นหลังช่วงโควิด-19 เหมือนในช่วงน้ำท่วมใหญ่กระทบอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ไทยอย่างรุนแรง โดยเฉพาะโรงงานผลิตฮาร์ดดิสก์ของไทยที่มีรายใหญ่ของโลกหลายรายเข้ามาลงทุน ทำให้ยอดขายลดลงกว่า 60% ทำให้ยอดการผลิตคอมพิวเตอร์ทั่วโลกลดลง แต่ภายหลังน้ำลดโรงงานกลับมาผลิตตามปกติและมีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากเดิมกว่า 2 เท่าตัว
ดังนั้นมองว่าอุตสาหกรรมไทยจะเป็นลักษณะเดียวกันหลังโควิด-19 คำสั่งซื้อจะกลับมามาก ดังนั้นจะนำหุ่นยนต์มาใช้ในการผลิตเพิ่มขึ้น เพื่อผลิตให้ทันความต้องการ รวมทั้งช่วงโควิด-19 มีแรงงานต่างด้าวและคนไทยจำนวนหนึ่งกลับภูมิลำเนาไปเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดการขาดแคลนแรงงาน จึงเป็นแรงกระตุ้นให้ลงทุนใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติเพิ่มขึ้น
“ปัจจุบันราคาหุ่นยนต์ลดลงมากจากอดีตราคาตัวละ 2-3 ล้านบาท ในปัจจุบันลดเหลือ 4-5 แสนบาท ใช้เวลา 6-8 เดือนก็คืนทุน"
ดังนั้นปัญหาของผู้ประกอบการจึงไม่ใช้เงินทุน แต่เป็นแรงกดดันจากการขาดแคลนแรงงาน และต้นทุนค่าแรงที่เพิ่มขึ้นจึงทำให้ผู้ประกอบการไทยใช้ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์เพิ่มขึ้น โดยรัฐบาลต้องประชาสัมพันธ์ให้เอสเอ็มอีรับรู้มาตรการช่วยเหลือในการปรับเปลี่ยนมาสู่อุตสาหกรรม 4.0 การปรับเปลี่ยนมาใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ซึ่งมีทั้งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ และการลดหย่อนภาษี หากเอสเอ็มอีได้รับข้อมูลชัดเจนจะปรับตัวมาด้านนี้เพิ่มขึ้น