'BOI' ห่วงขาดแรงงาน อุตฯ ดิจิทัล-อิเล็กทรอนิกส์
บีโอไอห่วงอุตฯดิจิทัลขาดแคลนแรงงาน สวนทางคำขอลงทุนโตก้าวกระโดด รับผลนิว นอร์มอล-เวิร์คฟอร์มโฮม ขณะส.อ.ท.วอนกระทรวงการอุดมศึกษาทำหลักสูตรพัฒนา
นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ทำให้ปัจจุบันมีนักลงทุนแสดงความสนใจเข้ามาลงทุนไทยเพื่อผลิตผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ และอุตสาหกรรมดิจิทัล จำนวนมาก
คาดว่ามาจากสาเหตุมาตรการทำงานจากที่บ้าน (เวิร์ค ฟอร์ม โฮม) โดยคำขอส่งเสริมการลงทุนช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-มี.ค.) พบว่า อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ มาแรงเป็นอันดับหนึ่ง มูลค่า 10,620 ล้านบาท ต่อเนื่องถึงเดือนเม.ย.-พ.ค.ก็ยังขยายตัว มูลค่าคำขอเพิ่มอีก 17,000 ล้านบาท รวม 5 เดือน(ม.ค.-พ.ค.) มูลค่าคำขอรวมประมาณ 27,000 ล้านบาท
"คาดว่ากระแสลงทุนในอุตสาหกรรมดิจิทัล อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ จะเป็นอุตสาหกรรมที่มาแรงตลอดปีนี้ แต่อีกมุมหนึ่งก็ต้องเตรียมความพร้อมเรื่องแรงงานในประเทศไทยให้มีความพร้อม"
ปัจจุบัน อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ฯยังขาดแคลนอย่างมาก ซึ่งปัญหาขาดแคลนแรงงานอุตสาหกรรมดิจิทัลนี้บีโอไอได้ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เตรียมตัวเพื่อแก้ปัญหาเรื่องนี้แล้ว เพราะบีโอไอไม่มีอำนาจในการจัดการด้านแรงงาน
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า แรงงานในอุตสาหกรรมดิจิทัลต้องใช้ทักษะความสามารถ ขณะที่อุตสาหกรรมอาจสับเปลี่ยนการทำงานแทนกันได้ ดังนั้นขณะนี้จึงอยู่ระหว่างทำงานร่วมกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) เพื่อทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยในจัดทำหลักสูตรเพื่อผลิตบุคลากรในอุตสาหกรรม ซึ่งนอกจากนี้หลักสูตรที่มีประสิทธิภาพ การจูงใจให้นักศึกษาเข้าเรียนสาขาวิชาชีพนี้ก็เป็นเรื่องที่อว.ต้องประสานกับหน่วยงานด้านการศึกษาอื่นที่เกี่ยวข้อง
รายงานข่าวแจ้งว่าความต้องการแรงงานอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ในช่วง 5 ปี (2562-66) จะอยู่ที่ 46,500 – 49,500 คน