ยอดขายที่ดินนิคมอุตสาหกรรม 9 เดือน ลดลง 3.86%
การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ยอมรับยอดขาย/เช่าพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม 8 เดือนแรกปี 2563 ลดลง 3.86% เป็นผลจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้นักลงทุนชะลอเข้ามาทำสัญญาลงทุนในนิคมอุตสาหกรรม
นางสาวสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า ในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2563 (ต.ค.62 - มิ.ย.63) กนอ.มียอดขาย/เช่าพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม จำนวน 1,696.92 ไร่ ลดลงเล็กน้อยจากช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ร้อยละ 3.86 โดยคาดว่าเป็นผลจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้นักลงทุนไม่สามารถเดินทางมาเยี่ยมชมสถานที่และติดต่อธุรกิจเพื่อประกอบการตัดสินใจจอง/ชื้อ/เช่าที่ดินในนิคมอุตสาหกรรม ทั้งในนิคมอุตสาหกรรมร่วมดำเนินงานและนิคมอุตสาหกรรมที่ กนอ. ดำเนินการเองได้ โดยในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) มียอดการขาย/เช่าจำนวน 1,598.95 ไร่ และนอกพื้นที่อีอีซี จำนวน 97.97 ไร่ มีการแจ้งเริ่มกิจการใหม่ 114 โรงงาน เกิดการจ้างงานเพิ่ม 12,019 คน
ขณะเดียวกันประเทศไทยยังได้รับอานิสงส์จากสงครามการค้า (trade war) ระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน ทำให้นักลงทุนบางส่วนจากจีนและไต้หวันย้ายฐานการผลิตมายังประเทศไทย โดยส่วนใหญ่จะทำสัญญาจองเช่าไว้ก่อนหน้านั้นแล้ว นอกจากนี้ ผลจากการจัดอันดับของ U.S. News & World Report ที่ระบุว่า ประเทศไทย ติดอันดับ 1 ของโลกประเทศที่ดีที่สุดในการเริ่มต้นธุรกิจจากทั้งหมด 73 ประเทศทั่วโลก แสดงให้เห็นว่านิคมอุตสาหกรรมในประเทศไทยเป็นฐานการผลิตที่สำคัญ ซึ่งจากการตรวจสอบใบอนุญาตใช้ที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมแล้วพบว่าช่วงต้นปี 2563 นักลงทุนทยอยมายื่นขออนุญาตการใช้ที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมเป็นผลให้มีการจ้างงานในนิคมอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น
“แม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จะกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย ซึ่งการจัดตั้งนิคมฯอาจได้รับผลกระทบบ้าง แต่กระบวนการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมก็มิได้หยุดนิ่ง โดยช่วงต้นปี 2563 มีการลงนามในสัญญาร่วมดำเนินงานแล้วจำนวน 4 แห่ง และประกาศเป็นเขตอุตสาหกรรมในราชกิจจานุเบกษาแล้ว จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ 1. นิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง โครงการ 6 อำเภอปลวกแดง อำเภอบ้านค่าย และอำเภอนิคมพัฒนา จังหวัดระยอง พื้นที่ประมาณ 1,322.40 ไร่ มูลค่าการลงทุนโครงการ ประมาณ 2,625.78 ล้านบาท และ 2. นิคมอุตสาหกรรมเวิลด์ ฟู๊ด วัลเลย์ ไทยแลนด์ อำเภอไชโย จังหวัดอ่างทอง พื้นที่ประมาณ 1,398.04 ไร่ มูลค่าการลงทุน ประมาณ 4,237.17 ล้านบาท
นอกจากนี้ มีนิคมอุตสาหกรรมที่อยู่ระหว่างการประกาศเป็นเขตอุตสาหกรรม อีก จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมโรจนะชลบุรี 2 (เขาคันทรง) พื้นที่ประมาณ 902.59 ไร่ มูลค่าการลงทุนประมาณ 2,100 ล้านบาท และนิคมอุตสาหกรรมเอเชีย คลีน อินดัสเตรียล ปาร์ค พื้นที่ ประมาณ 1,319.89 ไร่ มูลค่าการลงทุน ประมาณ 2,447.75 ล้านบาท เป็นผลให้มีพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมสะสม ประมาณ 177,261 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ที่นิคมอุตสาหกรรมดำเนินการเอง ประมาณ 39,332 ไร่ และเป็นนิคมอุตสาหกรรมร่วมดำเนินงาน ประมาณ 137,929 ไร่ เป็นพื้นที่ขายและให้เช่า ประมาณ 114,852 ไร่ /เป็นพื้นที่ขาย/ให้เช่าแล้ว ประมาณ 92,019 ไร่ จึงยังคงมีพื้นที่คงเหลือสำหรับขาย/ให้เช่าอีกประมาณ 22,833 ไร่ มีมูลค่าการลงทุนสะสม ประมาณ 4.02 ล้านล้านบาท มีโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมประมาณ 6,112 โรง และมีการจ้างงานรวมทั้งสิ้นประมาณ 515,962 คน
โดยกลุ่มอุตสาหกรรม 5 อันดับแรก ได้แก่ 1) อุตสาหกรรมยานยนต์และการขนส่ง ร้อยละ 16.84 2) อุตสาหกรรมเหล็กและผลิตภัณฑ์โลหะ ร้อยละ 11.37 3) อุตสาหกรรมเครื่องยนต์ เครื่องจักรและอะไหล่ ร้อยละ 9.79 4) อุตสาหกรรมยาง พลาสติก และหนังเทียม ร้อยละ 8.32 และ5) อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องมือวิทยาศาสตร์ ร้อยละ 7.89 โดยนักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่นยังคงครองแชมป์ให้ความสนใจมาลงทุนมากเป็นอันดับหนึ่งถึง ร้อยละ 28 รองลงมา คือ นักลงทุนจากประเทศจีน ร้อยละ 17 ไต้หวัน ร้อยละ 9 ออสเตรเลีย ร้อยละ 6 และฮ่องกง ร้อยละ 6”นางสาวสมจิณณ์ พิลึก กล่าว
สำหรับภาพรวมการลงทุนในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมภายใต้การกำกับดูแลของ กนอ.ทั้งนิคมอุตสาหกรรมที่ กนอ.ดำเนินการเอง และนิคมอุตสาหกรรมร่วมดำเนินงาน ปัจจุบันมีจำนวนทั้งสิ้น 61 แห่ง และท่าเรืออุตสาหกรรม 1 แห่งใน 17 จังหวัด เป็นนิคมอุตสาหกรรมที่ กนอ.ดำเนินการเอง 14 แห่ง และนิคมอุตสาหกรรมร่วมดำเนินงาน 47 แห่ง
“จากการที่รัฐบาลเริ่มผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์นับเป็นการส่งสัญญานที่ดีที่จะทำให้เกิดการลงทุนใหม่ๆ หลังจากที่นักลงทุนชะลอการตัดสินใจมาระยะหนึ่ง ซึ่งกนอ.เล็งเห็นถึงโอกาสนี้เพื่อพลิกฟื้นวิกฤตต่างๆ ด้วยการจัดโปรโมชั่นส่งเสริมการขาย/เช่าที่ดินในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมของ กนอ. เพื่อจูงใจนักลงทุนให้หันมาลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น โดยแต่ละโปรโมชั่นขึ้นอยู่กับพื้นที่ของนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งนอกจากจะสามารถจูงใจให้เกิดการลงทุนเพิ่มขึ้นแล้ว ยังเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนให้กับผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมเดิมซึ่งถือเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้มีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น”ผู้ว่าการ กนอ. กล่าวปิดท้าย