‘โคเคน’ มีประโยชน์ทางการแพทย์จริงหรือ? เมื่อมีคนบอกใช้ ‘โคเคนรักษาฟัน’ !?
เมื่อใดก็ตามที่มีการพูดถึง “โคเคน” ในสังคม หรืออ้างว่า ใช้ “โคเคนรักษาฟัน” ฟังแล้วหลายคนอาจรู้สึกขัดแย้งในใจ แล้วในความเป็นจริง โคเคนมีประโยชน์ทางการแพทย์จริงหรือไม่
ทีมข่าวกรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ได้ค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับประโยชน์ทางการแพทย์ของโคเคน พบว่า แม้ส่วนใหญ่แล้ว โคเคนมักถูกใช้เป็นสารเสพติดให้โทษและผิดกฎหมาย แต่สารสกัดจากโคเคนกลับมีคุณประโยชน์ในทางการแพทย์และถูกใช้ในการระงับความเจ็บปวดหรือเป็นยาชา
โคเคนเป็นสารธรรมชาติที่สกัดได้จากใบของต้นโคคาซึ่งเป็นพืชที่ส่วนใหญ่พบในทวีปอเมริกาใต้ สารนี้มีฤทธิ์กระตุ้นประสาทอย่างแรงและมีคุณสมบัติเป็น “ยาชาเฉพาะที่” จัดอยู่ในกลุ่มยาเสพติดให้โทษในประเภท 2 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522
อ่านข่าวเพิ่มเติม: ทำความรู้จัก 'โคเคน' ยาเสพติดประเภท 2 ที่เคยถูกใช้ทางการแพทย์
ย้อนไปเมื่อปี ค.ศ. 1859 อัลเบิร์ต นีแมน (Albert Nieman) นักเคมีชาวเยอรมัน ได้นำโคเคนมาสกัดเป็นโคเคนบริสุทธิ์ และนำมาใช้กันอย่างแพร่หลาย ทั้งใช้สูบ ผสมในเครื่องดื่ม และใช้ในทางการแพทย์ เช่น ยาชาเฉพาะที่, รักษาโรคหอบหืด, ลดอาการซึมเศร้า เป็นต้น
จากนั้นในปี ค.ศ. 1914 โคเคนถูกนำมาใช้เฉพาะในทางการแพทย์เท่านั้น เนื่องจากมีกฎหมายห้ามจำหน่าย
ปัจจุบัน บุคลากรทางการแพทย์ในหลายประเทศยังใช้สารสกัดจากโคเคนที่เรียกว่า สารโคเคนไฮโดรคลอไรด์ (cocaine hydrochloride) ระหว่างการวินิจฉัยหรือในการรักษาโรคบางประเภท แต่ในการแพทย์บางแขนง เช่น ทันตกรรม เลิกใช้โคเคนไปกว่า 100 ปีแล้ว
- ยาชาชั้นเลิศ
สารโคเคนถือเป็นยาชาเฉพาะที่ชั้นเลิศ ในงานวิจัยที่ตีพิมพ์เมื่อปี 2556 สมาคมแพทย์ด้านโสตศอนาสิกวิทยาแห่งสหรัฐ กำหนดให้โคเคนเป็นสารระงับความรู้สึกและตีบหลอดเลือดที่ดีเยี่ยม เมื่อใช้เป็นส่วนหนึ่งในการรักษาผู้ป่วยสำหรับอายุรแพทย์
ข้อเท็จจริงที่ว่า โคเคนมีสรรพคุณระงับความรู้สึกนั้นไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจในวงการการแพทย์ เพราะนอกจากโคเคนแล้ว ยังมี ลิโดเคน (Lidocaine) ซึ่งมีความคล้ายคลึงทางเคมีกับโคเคน และเป็นสารระงับความเจ็บปวดเช่นกัน
สำหรับในแวดวงทันตกรรมหรือการทำฟัน ลิโดเคนยังคงถูกใช้เป็นยาชาจนถึงปัจจุบัน ส่วนโคเคนถูกใช้เป็นยาชาในการทำฟันครั้งแรกเมื่อเกือบ 140 ปีแล้ว แต่เลิกใช้ในเวลาต่อมา เพราะขนาดที่ใช้ในการรักษาใกล้เคียงกับขนาดที่เป็นพิษและมีฤทธิ์เสพติด จึงเสื่อมความนิยมลงและนำไปสู่การพัฒนายาชากลุ่มใหม่ขึ้นมาแทน รวมถึงลิโดเคน
นอกจากนี้ บุคลากรทางการแพทย์ใช้ยาน้ำใสที่มีส่วนผสมโคเคนเพื่อระงับความเจ็บปวดภายใน เช่น ปาก จมูก และลำคอ (เยื่อบุเมือก) เป็นการชั่วคราว ก่อนกระบวนการทางการแพทย์บางอย่าง เช่น การตัดชิ้นเนื้อ การเย็บ และการทำความสะอาดแผล
ยาที่มีส่วนผสมโคเคนสามารถออกฤทธิ์ระงับความรู้สึกได้เร็วภายในเวลาเพียง 1-2 นาทีหลังใช้ โดยสามารถใช้ได้ทั้งวิธีราด พ่น หรือชุบไม้พันสำลีทาในจุดนั้น ๆ โดยตรง
ขณะเดียวกัน สรรพคุณตีบหลอดเลือดของโคเคนยังส่งผลให้เลือดไหลช้าลงและลดอาการบวมจากการรักษาได้
- คุณประโยชน์อื่น ๆ
นอกจากใช้ภายในปาก จมูก และลำคอแล้ว โคเคนยังถูกใช้ระหว่างกระบวนการรักษาเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ และช่วยให้เยื่อบุเมือกหดตัวด้วย
สำหรับอัตราส่วนที่เหมาะสมของสารโคเคนไฮโดรคลอไรด์ที่ใช้ในทางการแพทย์ แบ่งเป็น 3 ระดับ ได้แก่ 1%, 4% และ 10% แต่ส่วนใหญ่มักใช้กันเพียง 1% หรือ 4% เท่านั้น เพื่อเลี่ยงความเป็นพิษต่อร่างกาย
และที่สำคัญ ในทางการแพทย์ยังห้ามฉีดหรือใช้ยาที่มีสารโคเคนกับดวงตา
- ผลข้างเคียง
ตัวยาชนิดนี้อาจมีผลข้างเคียงสำหรับคนไข้ เช่น กลืนอาหารได้ยาก และเพิ่มความเสี่ยงในการชัก หรืออาหารติดคอ
หลังใช้ยาที่มีส่วนผสมโคเคน 1 ชั่วโมง ผู้ป่วยจะต้องงดรับประทานหรือเคี้ยวอาหารจนกว่าปากหรือลำคอจะหายชา โดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยเด็กที่ผู้ปกครองต้องสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด
นอกจากนี้ หากมีอาการข้างเคียงอื่น ๆ เช่น เป็นไข้ อารมณ์แปรปรวน รู้สึกชาเฉพาะที่นานหลายชั่วโมง สูญเสียประสาทรับกลิ่นหรือรสชาติ และมีปัญหาเรื่องการมองเห็น ควรรีบแจ้งแพทย์ที่ดูแลโดยทันที
-----------------------------------
อ้างอิง:
-
Position Statement: Medical Use of Cocaine. American Academy of Otolaryngology Head and Neck Surgery. Revised 5/6/2013
-
Oka S, Shimamoto C, Kyoda N, Misaki T. Comparison of lidocaine with and without bupivacaine for local dental anesthesia. Anesth Prog. 1997;44(3):83-6.
-
Middleton RM, Kirkpatrick MB. Clinical use of cocaine. A review of the risks and benefits. Drug Saf. 1993;9(3):212-7. doi:10.2165/00002018-199309030-00006
-
Richards JR, Laurin EG. Cocaine. Treasure Island, FL: StatPearls Publishing. Updated June 8, 2019.
- Cocaine HCL Solution, Non-. Web MD.
- Naveed Saleh, MD, MS. Does Cocaine Have Any Medical Uses?