5 ข้อควรรู้ ก่อนเข้า www.gsb.or.th เพื่อขอ 'สินเชื่อ' ธนาคาร 'ออมสิน' รอบ 2
เปิดข้อควรรู้ สำหรับผู้ที่ต้องการขอ "สินเชื่อ" ธนาคาร "ออมสิน" สำหรับผู้มีรายได้ประจำ รอบที่ 2 ผ่านเว็บไซต์ธนาคารออมสิน www.gsb.or.th
"ธนาคารออมสิน" กลับมาเปิดให้ประชาชนทั่วไปขอ "สินเชื่อฉุกเฉิน" ในโครงการ "สินเชื่อสำหรับผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 สำหรับผู้มีรายได้ประจำ รอบ 2" วงเงิน 50,000 บาทอีกครั้ง ผ่านเว็บไซต์ของธนาคารออมสิน หรือ www.gsb.or.th เมื่อวันที่ 4 ส.ค. 63 ที่ผ่านมา โดยมีผู้ที่สนใจทยอยของสินเชื่อในโครงการดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง
สำหรับคนที่อยากจะลงทะเบียนขอสินเชื่อดังกล่าวเพื่อนำมาเพื่อเพิ่มสภาพคล่องบ้าง "กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" จะพาไปทำความรู้จักกับ "สินเชื่อสำหรับผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 สำหรับผู้มีรายได้ประจำ รอบ 2" ให้มากขึ้น ผ่าน 5 เรื่องที่ต้องรู้และปฏิบัติตามก่อนขอสินเชื่อ ดังนี้
อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง:
- เปิดขั้นตอน 'ออมสิน' ปล่อย 'สินเชื่อ' 50,000 บาท รอบ 2 สำหรับผู้มีรายได้ประจำ
- อัพเดทล่าสุด 'ธนาคารออมสิน' ปล่อย 'สินเชื่อฉุกเฉิน' ใครสามารถกู้ได้บ้าง?
- 'เราไม่ทิ้งกัน' เช็คข่าวปลอม 'เงินเยียวยา' โลกออนไลน์ ข่าวไหนจริง ข่าวไหนมั่ว!
1. ไม่ใช่ทุกคนที่กู้ได้!
แม้โครงการสินเชื่อฉุกเฉินในครั้งนี้จะเป็นหนึ่งในนโยบายการช่วยเหลือประชาชนจของภาครัฐ แต่มีข้อกำหนดเกี่ยวกับคุณสมบัติที่ชัดเจน ซึ่งผู้ขอสินเชื่อจะต้องมีคุณสมบัติตามที่ธนาคารกำหนด ดังต่อไปนี้
- เป็นบุคคลสัญชาติไทย มีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป และเมื่อรวมอายุผู้กู้กับระยะเวลาที่ชำระเงินกู้ต้องไม่เกิน 65 ปี
- ผู้มีรายได้ประจำ แต่มีรายได้ลดลงหรือขาดรายได้เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ไวรัสโคโรนา (COVID-19) เช่น พนักงานบริษัทในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวหรือธุรกิจบริการ และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง เป็นต้น
- เป็นผู้ที่มีถิ่นที่อยู่แน่นอน มีสถานที่ประกอบอาชีพสามารถติดต่อได้
- เป็นผู้ฝากเงินประเภทเผื่อเรียกของธนาคารออมสิน
- มีการตรวจสอบรายได้จากกรมสรรพากร (ถ้ามี)
2. วงเงิน 50,000 บาท ไม่ได้ทุกคน
หนึ่งในเงื่อนไขในการอนุมัติสินเชื่อ สำหรับผู้มีรายได้ประจำ รอบที่ 2 คือ "ให้กู้ตามความจำเป็น และความสามารถในการชำระคืน ไม่เกินรายละ 50,000 บาท"
นั่นหมายความว่า ผู้กู้แต่ละรายมีสิทธิ์ได้เงินสูงสุด 50,000 บาท หรือต่ำว่านั้น ขึ้นความจำเป็นซึ่งเป็นอยู่ในดุลยพินิจของธนาคาร และขึ้นอยู่กับความสามารถในการชำระคืน ซึ่งจะสะท้อนออกมาจากจำนวนรายได้ และภาระหนี้สินเดิมที่มี อย่างไรก็ตาม จำนวนเงินที่อนุมัติ เป็นไปตามเงื่อนไขที่ธนาคารกำหนด
3. ต้องมีหลักประกัน
เงื่อนไขสำคัญที่ทำให้หลายคนพลาดหวังจากการขอสินเชื่อโครงการสินเชื่อสำหรับผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 สำหรับผู้มีรายได้ประจำ รอบ 2 คือ "ต้องมีหลักประกัน บุคคลค้ำประกัน 1-2 คน หรือหลักประกันประเภทอื่นที่ธนาคารกำหนด" ซึ่งแตกต่างจาก สินเชื่อสำหรับผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 สำหรับผู้มีอาชีพอิสระ 10,000 บาท ที่ไม่จำเป็นต้องมีหลักประกัน
ดังนั้น สำหรับผู้ที่ต้องการขอสินเชื่อโครงการนี้ จะต้องหาบุคคลค้ำประกัน หรือศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับหลักประกันประเภทอื่นๆ ที่ธนาคารต้องการ เพื่อสำรวจว่าสิ่งที่เรามีอยู่นั้นตรงตามที่ธนาคารกำหนดหรือไม่ ซึ่งจะช่วยให้กระบวนการขอสินเชื่อทำได้รวดเร็วขึ้น และมีโอกาสได้รับอนุมัติสินเชื่อมากขึ้น
4. ต้องชำระเงินคืนตามที่ธนาคารกำหนด
หลายคนเข้าใจผิดว่า การลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการจากออมสิน มีลักษณะคล้ายกับเงินเยียวยา หรือเป็นเงินให้เปล่า แต่ในความจริงแล้วนี่คือ "สินเชื่อ" ที่ต้องมีการผ่อนชำระคืนตามที่ธนาคารกำหนด
โดยเงื่อนไขของการผ่อนชำระคืน คือกำหนดให้ระยะเวลาชำระคืนเงินกู้และดอกเบี้ย ไม่เกิน 3 ปี หรือผ่อนชำระคืน 36 งวด ชำระเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นรายเดือน โดยหักเงินชำระจากบัญชีเงินฝากของผู้กู้ โดยคิดดอกเบี้ยเป็นอัตราดอกที่ (Flat Rate) 0.35% ต่อเดือน
5. ลงทะเบียนขอสินเชื่อผ่าน www.gsb.or.th เท่านั้น
ขั้นตอนในการลงทะเบียนขอ "สินเชื่อสำหรับผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 สำหรับผู้มีรายได้ประจำ รอบ 2" จะต้องทำตามขั้นตอน ดังต่อไปนี้
- ลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ธนาคารออมสิน "www.gsb.or.th"
- เลือก "ลงทะเบียนสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่าย วงเงิน 50,000 บาท" หรือคลิกที่ลิงก์ https://ln15.gsb.or.th/WEB-LN15/
- อ่าน "ข้อความตกลงยินยอม" อย่างละเอียด ก่อนคลิก "ลงทะเบียน" เพื่อนเข้าสู่ขั้นตอนต่อไป
- กรอกข้อมูลส่วนตัวที่ธนาคารกำหนด ให้ครบถ้วน ตามความเป็นจริง
- ธนาคารจะแจ้งให้มาติดต่อที่สาขา
- ยื่นเอกสารการขอกู้ที่สาขา
- ธนาคารพิจาณาเอกสารประมาณ 4-15 วันทำการ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับหลักประกันและเอกสารคำขอกู้ครบถ้วน
ทั้งนี้ ระยะเวลาอนุมัติเงินกู้และจัดทำสัญญา สิ้นสุดวันที่ 30 ธันวาคม 2563 หรือจนกว่าจะครบวงเงินโครงการ โดยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์บริการข้อมูลข่าวสารของธนาคารออมสินหมายเลข 1115