รู้จัก ‘พลาสมา’ ความหวังสู้โควิด-19 หลังสหรัฐไฟเขียวรักษาผู้ป่วย
ทำความรู้จัก “พลาสมา” ความหวังใหม่ในการต่อสู้กับโรคโควิด-19 นอกเหนือจากวัคซีน หลังล่าสุด อย.สหรัฐอนุมัติใช้รักษาผู้ป่วยในประเทศแล้ว
เมื่อวันอาทิตย์ (23 ส.ค.) ที่ผ่านมา องค์การอาหารและยาสหรัฐ หรือ เอฟดีเอ (FDA) มีคำสั่งอนุมัติฉุกเฉินให้นำ “พลาสมา” ของผู้ป่วยที่หายแล้วมาทำการรักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในสหรัฐได้
ดร. ปีเตอร์ มาร์กส ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและประเมินทางชีวภาพของ FDA ชี้แจงว่า การอนุมัติอย่างเป็นทางการมีขึ้นหลังพบหลักฐานเบื้องต้นที่บ่งชี้ว่า พลาสมาที่มีโปรตีนภูมิคุ้มกันสามารถช่วยลดอัตราการเสียชีวิตและฟื้นฟูสภาพร่างกายของคนไข้ หากนำมาใช้ภายใน 3 วันแรกที่ผู้ป่วยเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล
นอกจากนี้ จากการวิเคราะห์ผลการรักษาในผู้ป่วย 200,000 คน FDA พบว่า เป็นแนวทางการรักษาที่ปลอดภัย ซึ่งจนถึงตอนนี้มีผู้ป่วยในสหรัฐที่ได้รับการรักษาด้วยพลาสมาแล้วประมาณ 70,000 คน แต่เป็นการรักษาภายใต้เงื่อนไขที่เฉพาะเจาะจง เช่น เพื่อการทดลองทางคลินิก หรือในผู้ป่วยที่อาการหนัก
ข้อมูลของเว็บไซต์ Worldometers ระบุว่า ณ วันที่ 23 ส.ค. สหรัฐมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 สะสมอยู่ที่กว่า 5.8 ล้านคน และมีชาวอเมริกันที่เสียชีวิตจากโรคนี้แล้วอย่างน้อย 180,000 คน
- “พลาสมา” ดีอย่างไร
พลาสมาหรือน้ำเลือดทำหน้าที่ในการลำเลียงน้ำ, เอนไซม์ และเซลล์เม็ดเลือดแดงไปทั่วร่างกาย และยังนำแอนติบอดีที่ร่างกายสร้างขึ้นไปต่อสู้กับเชื้อโรคเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันด้วย
ผู้ป่วยโควิด-19 ได้รับการรักษาด้วยพลาสมาที่มีโปรตีนภูมิคุ้มกันมาเป็นเวลาหลายเดือน โดยอยู่ในรูปของการทดลองทางคลินิกในสถานพยาบาลต่าง ๆ เช่น โรงพยาบาลเมานท์ซีนายที่นครนิวยอร์ก และโรงพยาบาลจอห์นส ฮอปกินส์ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม พลาสมาที่มีอยู่นั้นยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ เนื่องจากต้องให้ผู้ป่วยที่หายจากโรคโควิด-19 เดินทางมาบริจาค และยังต้องมีการเปรียบเทียบกับกรุ๊ปเลือดของผู้รับด้วยว่าตรงกันหรือไม่
- “พลาสมา” มาจากไหน
น้ำเลือด (plasma) เป็นส่วนที่เป็นของเหลวของเลือดทั้งหมด มี สีเหลืองอ่อน ค่อนข้างใส มีปริมาณ 55% ของปริมาตรเลือด ทั้งหมด (ส่วนประกอบหลัก ๆ ของเลือดคือ 1.พลาสมา 2.เกล็ดเลือด) โดยภายในพลาสมานี้มีส่วนประกอบแยกย่อยลงไปอีก ได้แก่
- น้ำ เป็นส่วนประกอบหลักที่มีอยู่มากถึง 90%
- โปรตีน ที่ช่วยควบคุมความดันและความสมดุล ได้แก่ albumin globulin และ fibrinogen
- โปรตีน ที่ช่วยควบคุมและป้องกันสิ่งแปลกปลอม ได้แก่ แอนติบอดี (antibody), ฮอร์โมน และเอนไซม์
- สารอินทรีย์ สารอนินทรีย์ และก๊าซต่าง ๆ เช่น NaCl, Ca, K, Bicabonate, ยูเรีย, กรดยูริก, แอมโมเนีย, กรดอะมิโน กลูโคส, ไขมัน, ออกซิเจน, คาร์บอนไดออกไซด์
- ความคืบหน้าในจีน-ไทย
การนำพลาสมามาผลิตเป็น “ยารักษาโควิด” นั้น พบว่ามีการเริ่มนำมาใช้รักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 แล้ว ทั้งในประเทศจีน และประเทศไทย
สำหรับในจีนนั้น เมื่อเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา คณะแพทย์จีนสามารถรักษาผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า สายพันธุ์ใหม่ ต้นตอโรคโควิด-19 ที่มีอาการระดับวิกฤติจำนวน 5 คน ให้หายออกจากโรงพยาบาลได้ โดยใช้ “พลาสมา” ของคนที่เคยติดเชื้อโควิด-19 เนื่องจากในน้ำเลือดดังกล่าวมีโปรตีนภูมิคุ้มกัน
เมื่อนำพลาสมาที่มีภูมิคุ้มกันแล้วมาใช้การรักษาผู้ป่วยขั้นวิกฤติทั้ง 5 คน ที่โรงพยาบาลในเมืองเสิ่นเจิ้น พบว่า อาการดีขึ้นเรื่อย ๆ จนหายดีในที่สุด ซึ่งหลังจากได้รับการรักษาด้วยพลาสมาของอดีตคนไข้โรคเดียวกันจนหายดีแล้ว ผู้ป่วยขั้นวิกฤติทั้ง 5 คนได้บริจาคพลาสมาให้แก่โรงพยาบาลด้วยความสมัครใจเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยรายอื่นๆ ต่อไปด้วย
ส่วนในไทยนั้น พบว่ามีการศึกษาและทดลองใช้ “พลาสมา” มาใช้รักษาโควิด-19 เช่นกัน โดยนายแพทย์ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความอธิบายถึงพลาสมาเมื่อเดือน เม.ย. ว่า การใช้พลาสมาหรือน้ำเหลืองของผู้ที่หายจากโรคมาใช้รักษาผู้ป่วยที่มีอาการมากจากการติดเชื้อเดียวกัน ได้มีการทำกันมานานแล้วในการระบาดของโรคเกิดใหม่ เช่น SARS, MERS, Ebola
ก่อนหน้านี้ นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์เปิดเผยว่า กรมฯได้ประสานความร่วมมือกับโรงเรียนแพทย์เพื่อตั้งทีมวิจัยการสกัด “พลาสมา” จากเลือดผู้ป่วยที่หายแล้ว เพื่อนำมาวิจัยเพื่อหาวิธีการรักษาผู้ป่วยรายอื่น เนื่องจากตามหลักการของโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสอื่นผู้ป่วยที่หายดีแล้วจะมีภูมิคุ้มกันในร่างกาย เมื่อนำมาสกัดพลาสมาจะใช้รักษาโรคได้ และอยากขอบริจาคเลือดจากผู้ป่วยที่หายแล้วในช่วงเวลา 15-30 วันเพื่อนำมาศึกษาวิจัยเพิ่มเติมต่อไป
สำหรับผู้ป่วยโควิด-19 ที่หายดีแล้ว สามารถร่วมบริจาคพลาสมาได้ที่ ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย โทร. 0 2263 9600-99 หรือลงทะบียนออนไลน์บริจาคพลาสมา ได้ที่ https://bit.ly/2K6cIL6 สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร. 0 2256 4300