ต่างชาติจ่อคิวเข้ารักษาโรคในไทยเกือบ 1 พันราย อาหรับ-อาเซียน-จีน
สธ.เผยต่างชาติจ่อคิวเข้ารักษาโรคในไทยเกือบ 1 พันราย ส่วนใหญ่ชาวอาหรับ-อาเซียน -จีน ย้ำระบบเฝ้าระวังติดตามเข้มแข็ง เล็งทบทวนประเทศต้นทาง-ตรวจสอบแล็ป หลังพบชาวกาตาร์ผลต้นทาง 72 ชั่วโมงไม่พบโควิด-19 เข้าไทยตรวจครั้งแรกเจอเชี้อ
ที่ กระทรวงสาธารณสุข ในการแถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา หรือ โควิด-19 นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.)กล่าวว่า จากการที่ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19(ศบค.)มีการผ่อนปรนให้คนไข้ต่างชาติเข้ามารับบริการการตรวจรักษาตามนัดในประเทศไทยได้ ขณะนี้มีผู้ป่วยเดินทางเข้ามารักษาและอยู่ในสถานพยาบาลทางเลือก( Alternative Hospital Quarantine: AHQ )แล้วจำนวน 169ราย เป็นผู้ป่วย 93 ราย ผู้ติดตาม 76 ราย และในวันที่ 25 ส.ค.2563จะผู้ป่วยและผู้ติดตามเข้ามาอีก 4 ราย รวมถึง มีการยืนยันผู้ป่วยที่จะเข้ามาอีก 423 ราย ผู้ติดตาม 250 ราย รวม 673 ราย ซึ่งจะทยอยเข้ามามา
ดังนั้น จำนวนผู้ป่วยและผู้ติดตามที่มีการเข้ามาและทราบล่วงหน้าว่าจะเข้ามา 846 ราย ส่วนใหญ่เดินทางมาจากกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง อาเซียน และจีน โดยมีสถานพยาบาลที่ผ่านการประเมินเป็นสถานพยาบาลที่รองรับผู้ป่วยกลุ่มนี้ได้ 98 แห่ง และคลินิก 26 แห่ง เข้ามารักษาโรคเรื้อรัง มะเร็ง กล้ามเนื้อและข้อต่างๆ เป็นต้น
นพ.ธเรศ กล่าวว่า กรมร่วมกับสมาคมโรงพยาบาลเอกชนและคลินิก ดำเนินการออกแนวทางให้ผู้ป่วยเข้ามารักษาในประเทศไทย โดยที่ผู้ป่วยรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเองทั้งหมด โดยข้อปฏิบัติระบบที่ออกแบบไว้ ได้แก่ 1.ก่อนเข้าประเทศต้องมีผลตรวจไม่พบเชื้อโรคโควิด-19ในระยะเวลา 72 ชั่วโมงว่าไม่เป็นโควิด 2. เรื่องการเงินการคลังต้องมีหลักฐานว่ามีความพร้อมจ่ายและมีกรมธรรม์ 3.มีการติดต่อกับสถานทูตไทยเพื่อขออนุญาตเข้าประเทศ 4.เมื่อมาถึงไทยต้องมีรถของโรงพยาบาล รับ-ส่งและมีตึกหรืออาคารเฉพาะ
5.มีการตรวจแล็ป 3 ครั้ง ครั้งที่ 1 ตั้งแต่วันที่เดินทางมาถึง ครั้งที่ 2 วันที่ 5-7 และครั้งที่ 3 วันที่ 14 หากพบผลติดเชื้อจะต้องเข้ารักษาร่วมกับการสอบสวนโรคเพื่อให้เกิดความมั่นใจ และ6.หากโรคที่เข้ามารักษาหายก่อน 14 วัน ก็จะต้องกักกันตัวจนครบ 14 วันถึงจะออกจากโรงพยาบาลได้ ซึ่งค่าใช้จ่ายทั้งหมดผู้ป่วยต้องออกค่ารักษาเอง หากใครไม่ปฏิบัติตามจะโดนโทษตามกฎหมายทั้งโทษตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ,พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 และในกรณีโรงพยาบาลที่ไม่ปฏิบัติตามก็จะมีโทษษตามพ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ. 2541ด้วย
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีชายชาวกาตาร์เข้ามารับการรักษาในประเทศไทยแล้วตรวจพบติดโควิด-19 นพ.ธเรศ กล่าวว่า ตามระบบจะต้องยืนยันผลตรวจโควิด-19 เป็นลบภายใน 72 ชั่วโมงก่อนเดินทางมายังประเทศไทย แต่มาถึงประเทศไทยเมื่อตรวจครั้งแรกตามมาตรฐานการเฝ้าระวังของประเทศไทยก็พบว่าติดโควิด-19 ซึ่งถือเป็นรายที่ 2 ก่อนหน้านั้นเจอ 1 รายเป็นชาวบังคลาเทศ อย่างไรก็ตาม จากการตรวจหาเชื้อในผู้ติดตามชาวกาตาร์ที่เป็นคนในครอบครัวที่ต้องอยู่ในสถานพยาบาลเฝ้าระวังไม่พบเชื้อ แต่ตามข้อกำหนดต้องอยู่เฝ้าระวังจนครบ 14 วัน ทั้งนี้ ในอนาคตหากพบลักษณะเช่นนี้มากขึ้น อาจจะมีการทบทวนประเทศที่เคยรายงานว่าไม่พบโรคโควิด-19 รวมถึง การตรวจแล็ปหาเชื้อของประเทศต้นทางนั้นๆด้วยว่ามาตรฐานแล็ปยอมรับได้หรือไม่
ด้าน นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์โรคโควิด-19 ในประเทศกาตาร์ มีผู้ป่วยสะสม 117,000ราย เป็นรายใหม่วันละประมาณ 200 ราย แต่เป็นอัตราที่ค่อนข้างคงที่ถือว่าเลยจุดพีคของการระบาดแล้ว อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวเห็นว่ากาเฝ้าระวังโรคในสถานพยาบาลทางเลือกนั้นไม่ค่อยกังวลหากสถานพยาบาลดำเนินการได้ตามแนวทางที่กำหนดก็จะถือว่ามาความเสี่ยงต่ำ เพราะมีการจัดการระบบโดยบุคลการทางการแพทย์
รวมถึง การให้บุคลากรของโรงพยายบาลที่ดูแลผู้ป่วยต่างชาติแม้ไม่ได้ติดโควิด-19 ก็ต้องมีอุปกรณ์ป้องกันตัวเหมือนกับการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 เพราะหากมีคนติดเชื้อ 1 คน บุคลากรของรพ.นั้นจะกลายเป็นผู้สัมผัสต้องเข้ารับการกักตัวเป็นเวลา 14 วัน ไม่สามารถทำงานได้ เพราะฉะนั้น สถานพยาบาลมีเดิมพันที่สูง ก็จะมีการเฝ้าระวัง ควบคุมโดยมีระบบที่เข้มข้นอยู่แล้ว มิเช่นนั้น จากที่ต้องการรายได้หรือกำไรจะกลายเป็นขาดทุน